ธรรมนูญคนเมืองกรุง มุ่งสู่มหานครสุขภาวะ

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

(เรื่องเล่าจากพื้นที่) ... ทีม สนพ. กทม.

 

จากความร่วมไม้ร่วมมือระหว่าง กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และองค์กรภาคีเครือข่าย ที่ได้ร่วมกันระดมสมอง ออกแบบนโยบาย แผนงาน วางจังหวะก้าวร่วมกัน ภายใต้กระบวนการขับเคลื่อนนโยบายแบบมีส่วนร่วม

ผ่านทั้งเครื่องมือสมัชชาสุขภาพ และผ่านกลไกที่สร้างสุขภาวะแบบมีส่วนร่วม ที่เรียกว่า เขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต ๑๓ ซึ่งมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน ด้วยตนเองนั้น เกิดเป็นความสำเร็จขึ้นมากมาย

ความสำเร็จของความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ที่ช่วยกันขับเคลื่อนงานสร้างสุขภาวะคน กทม. เริ่มเห็นผลตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ ที่ภาคีเครือข่ายต่างได้ค้นหาและพัฒนาประเด็นร่วมของแต่ละเขต

กระทั่งตกผลึกเป็นระเบียบวาระในการประชุมสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี ๒๕๖๓ มี ๒ ระเบียบวาระสำคัญ คือ ๑. ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร ๒. การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร


โดยเฉพาะการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร ได้ขับเคลื่อนลงระดับชุมชน ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต (พชข.) ที่ถือเป็นต้นทุนในการพัฒนารูปแบบธรรมนูญของแต่ละชุมชนตามพื้นที่บริบทของแต่ละเขต โดยมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนที่อยู่ร่วมกันในชุมชน

ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ภาคีเครือข่ายในกรุงเทพต่างร่วมมือกันจัดเวที “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19” กระทั่งเกิดเป็นธรรมนูญชุมชน ที่มีมาตรการของชุมชนสู้ภัยโควิดจำนวนมากถึง ๖๐ ชุมชนใน ๑๐ เขต

ประกอบด้วย ๑. เขตลาดพร้าว ๒. เขตธนบุรี ๓. เขตบางคอแหลม ๔. เขตคลองสาน ๕. เขตบึงกุ่ม ๖. เขตสายไหม ๗. เขตดอนเมือง ๘. เขตดินแดง ๙. เขตวังทองหลาง ๑๐. เขตบางบอน

นั่นทำให้กระบวนการนโยบายสาธารณะได้รับการยอมรับจากหน่วยงาน องค์กรต่างๆ และได้ขยายเพิ่มอีก ๓ เขต คือ ๑๑. เขตลาดกระบัง ๑๒. เขตทุ่งครุ ๑๓. เขตทวีวัฒนา โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ๕ แห่ง ได้แก่ ธนบุรี บ้านสมเด็จเจ้าพระยา พระนคร จันทเกษม และสวนสุนันทา สนับสนุนด้านวิชาการ

ในปี ๒๕๖๔ ทั้ง ๑๓ เขต จะใช้ธรรมนูญเป็นกรอบหรือแผนแม่บทในการกำหนดนโยบาย หรือแผนยุทธศาสตร์ด้านสุขภาวะในระดับเขต มีการแปลงไปสู่การปฏิบัติ โดยการเชื่อมโยงการทำงานกับ พชข. และกองทุนหลักประกันสุขภาพเขต

ทั้งนี้ วางงานสำคัญร่วมกันได้แก่ ๑. การพัฒนาศักยภาพกลไกคณะทำงานธรรมนูญสุขภาพ ๒. การลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง สช. พอช. สปสช. สสส. และมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง ๕ แห่ง เพื่อขับเคลื่อนงาน และ ๓. การสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายแต่ละด้านร่วมกัน

การขับเคลื่อนธรรมนูญคนเมืองกรุง เพื่อมุ่งสู่กรุงเทพมหานครแห่งสุขภาวะ จึงสอดคล้องกับคำประกาศในการประชุมสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ที่ว่า “ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร” ถือเป็นเจตจำนง ข้อตกลง และพันธะร่วมกันของทุกภาคส่วนในกรุงเทพมหานคร ทั้งชุมชน ประชาสังคม ภาคเอกชน กรุงเทพมหานคร และหน่วยราชการต่างๆ ที่มุ่งหวังให้เป็นทิศทางหรือแนวปฏิบัติในการนำไปสู่สุขภาวะของชุมชน

สอดคล้องกับวิสัยทัศน์กรุงเทพมหานครก้าวขึ้นสู่การเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” ในปี ๒๕๗๕ ทั้ง ๖ ด้าน คือ มหานครปลอดภัย มหานครสีเขียวสะดวกสบาย มหานครสำหรับทุกคน มหานครกระชับ มหานครประชาธิปไตย และมหานครแห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้

มีแนวคิดสำคัญ คือการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ ความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ การลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี

มุ่งหวังให้เกิดสุขภาพในทุกมิติ ทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม แก่ประชาชนในกรุงเทพมหานครทุกกลุ่มวัย

 3 ธันวาคม 2564