เตรียมความพร้อมก่อน 'ภัยแล้ง'
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนในพื้นที่เสี่ยงหรืออาจได้รับผลกระทบภาวะภัยแล้ง สำรองน้ำอุปโภคและบริโภคให้เพียงพอ พร้อมย้ำก่อนนำมาดื่ม ต้องผ่านการต้มหรือกรอง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคทางเดินอาหารและน้ำ
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ.2565 ซึ่งตอนกลางวันจะมีอากาศร้อน อุณหภูมิมากกว่า 35 องศาเซลเซียส อาจก่อให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งในบางพื้นที่ของประเทศไทย
ทั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค แหล่งน้ำที่มีสำรอง ไม่สะอาดมีการปนเปื้อนเชื้อโรคและสิ่งสกปรก เพิ่มโอกาสเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ รวมทั้งส่งผลต่อภาวะขาดน้ำในประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
สำหรับข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพตนเอง ประกอบด้วย
1. ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำการป้องกันตนเองจากภัยแล้งจากหน่วยงานภาครัฐอย่างเคร่งครัด
2. เฝ้าระวังสุขภาพกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้องรัง
3. กินอาหารปรุงสุกใหม่อยู่เสมอ และนำน้ำมาต้มหรือกรอง ก่อนนำมาดื่ม
4. ตรวจตราแหล่งสำรองน้ำของครัวเรือน ชุมชน และเตรียมกักเก็บน้ำสะอาด โดยทำความสะอาดที่พักน้ำก่อนสำรองน้ำ หากมีเครื่องกรองน้ำ ให้ตรวจตราตัวกรองให้มีประสิทธิภาพ หากพบการอุดตัน สกปรก ให้ถอดเปลี่ยน หรือนำออกมาทำความสะอาดทันที
5. วางแผนการใช้น้ำอย่างประหยัด ไม่เปิดน้ำทิ้ง ให้ใช้น้ำจากฝักบัวเพื่อชำระร่างกายแทนการตักน้ำอาบ จะประหยัดน้ำมากกว่า และนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น น้ำอาบ น้ำซักผ้า น้ำล้างผักผลไม้ หรือน้ำล้างจาน มาใช้รดน้ำต้นไม้
6. งดการจุดไฟ เผาหญ้า หรือสูบบุหรี่ ในพื้นที่ที่มีเศษวัสดุ เชื้อเพลิง หญ้าแห้ง ฟืนไม้ บริเวณรอบที่อยู่อาศัยเพื่อป้องกันการเกิดไฟไหม้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต และทรัพย์สินตามมาได้