WHO เปิดตัวแหล่งข้อมูลใหม่ รวบรวมด้าน 'สุขภาพในเขตเมือง' หวังเป็นฐานทรัพยากรการทำงาน ให้ผู้เกี่ยวข้องใช้วางทิศทางพัฒนา
10 มีนาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ปัจจุบันประชากรโลกมากกว่า 55% อาศัยใช้ชีวิตอยู่ใน "เขตเมือง" ซึ่งคาดว่าภายในปี 2593 สัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 68% และด้วยแนวโน้มของสถานการณ์นี้ จึงมีความจำเป็นยิ่งขึ้นในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพในระดับเมือง

ด้วยเหตุนี้เอง ล่าสุดทางองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้มีการเปิดตัวพื้นที่จัดเก็บข้อมูลใหม่ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในเขตเมือง เพื่อช่วยให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล รวมถึงทรัพยากรต่างๆ ที่ WHO สร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมการดำเนินการด้านสุขภาพในระดับท้องถิ่น

สำหรับพื้นที่เก็บข้อมูลนี้ เป็นความมุ่งมั่นของ WHO ที่จะส่งเสริมสุขภาพในเขตเมืองทั่วโลก ด้วยการสนับสนุนทรัพยากร ทั้งในเชิงของข้อมูล รายงาน แนวทาง (Guidelines) รวมทั้งเครื่องมือประเมินผลกระทบต่อสุขภาพต่างๆ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในเขตเมือง

ขณะที่ฐานเก็บข้อมูลนี้จะเป็นแหล่งทรัพยากรที่อัปเดทตลอดเวลา โดยเปิดให้มีการดัดแปลงและแก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งมีการเพิ่มข้อมูลใหม่อยู่เป็นประจำ เพื่อให้ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การวางผังเมือง การเคหะ ปัญหาสิ่งแวดล้อม การขนส่งและการสัญจร โภชนาการ การออกกำลังกาย โควิด-19 และอื่นๆ อีกมากมาย

ทั้งนี้ ผู้ใช้งานจะสามารถใช้การค้นหาข้อมูลได้ผ่านระบบเสิร์ชเอ็นจิ้น เพื่อเข้าถึงเอกสารของ WHO ที่มีอยู่ตามหมวดหมู่หัวข้อด้านสุขภาพนั้นๆ ตามประเภทของข้อมูล แหล่งภูมิศาสตร์ หรือตามปีที่มีการเผยแพร่ข้อมูล

ในส่วนของข้อมูลที่มีการเก็บไว้เหล่านี้ บางส่วนจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพในเขตเมือง เช่น เครื่องมือการวางผังเมืองในท้องถิ่น ขณะที่ข้อมูลบางส่วนอาจเกี่ยวข้องกับประเด็นที่กว้างกว่า แต่ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในเมือง เช่น แนวทางเกี่ยวกับภัยคุกคามต่อสุขภาพ อาทิ มลพิษทางอากาศ การบาดเจ็บจากการจราจรบนท้องถนน หรือความรุนแรงในเด็ก ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องให้การรับรองในระดับชาติและดำเนินการในระดับท้องถิ่น

ขณะที่ความคาดหวังต่อการใช้ฐานข้อมูลนี้ WHO มองว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย ผู้ปฏิบัติงาน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ท้องถิ่น ตัวแทนภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกประเทศ จะสามารถใช้ที่เก็บข้อมูลนี้เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การพัฒนาสุขภาพในเขตเมืองให้ดีขึ้น

อนึ่ง ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปใช้งานได้ที่ https://urbanhealth-repository.who.int/home