อุดช่องว่างแรงงานนอกระบบ กทม. สช.-IHPP ร่วมสานพลังวางข้อเสนอ ดูแลสุขภาพ 'ผู้ให้บริการสาธารณะ' มุ่งคุ้มครองสวัสดิภาพการทำงาน
9 สิงหาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

สช.-IHPP ร่วมจัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงนโยบาย "สุขภาวะของแรงงานนอกระบบ" กลุ่มผู้ให้บริการสาธารณะใน กทม. มุ่งสู่ข้อเสนอคุ้มครองสวัสดิภาพการทำงาน


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สถานการณ์ ช่องว่างความรู้ และประเด็นเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะของแรงงานนอกระบบ กรณีผู้ให้บริการสาธารณะในกรุงเทพมหานคร (กทม.) อาทิ คนขับรถแท็กซี่ คนขับรถสามล้อ คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง แรงงานแพลตฟอร์ม เมื่อวันที่ 8 .. 2566


สำหรับการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนสถานการณ์และประเด็นเชิงนโยบาย เพื่อพัฒนาเป็นรายงานสถานการณ์ สร้างระบบข้อมูลด้านประชากรกลุ่มเฉพาะใน กทม. และพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน ที่เข้ามาร่วมแบ่งปันและวางแผนอนาคตร่วมกัน


ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สช. ได้ร่วมกันให้ข้อมูลถึงเรื่องสถานการณ์แรงงานนอกระบบในไทยและ กทม. รวมทั้งเรื่องของมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร และความเชื่อมโยงกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ตลอดจนตัวชี้วัดด้านความเป็นธรรมด้านสุขภาพเขตเมือง ตามแนวทาง Urban HEART



พร้อมกันนี้ ในเวทียังได้มีการนำเสนอผลการศึกษาวิจัยโดยนักวิชาการจาก สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย และ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในเรื่องของชีวิต สุขภาพ สภาพการทำงาน หลักประกันทางสังคมและสุขภาพ การเข้าถึงระบบสุขภาพ ตลอดจนปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพของแรงงานกลุ่มดังกล่าว


ทั้งนี้ ในเวทีประชุมได้ร่วมกันให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน, สำนักอนามัย กทม. และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มาร่วมรับทราบและอภิปรายในประเด็นนโยบายและบทบาทที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานของตน ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมสะท้อนปัญหาอุปสรรค/ช่องว่าง/ผลกระทบ แลกเปลี่ยนซักถาม และให้ข้อเสนอในเรื่องทิศทาง การกำหนดประเด็น และการพัฒนาความร่วมมือในภาคส่วนต่างๆ


อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมยังร่วมกันมีข้อสรุปถึงประเด็นที่พบว่าเป็นข้อจำกัด และควรพัฒนาให้เกิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย อาทิ กฎหมายที่เอื้อให้เกิดระบบการเฝ้าระวัง การเข้าถึงการบริการสุขภาพเพื่อคัดกรอง รักษา และรับบริการอื่นๆ, ชุดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม, กองทุนเงินทดแทนและการคุ้มครองเยียวยาแรงงานกลุ่มนี้ โดยเฉพาะกรณีประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต, มาตรการ/แนวทางในเรื่องการจ้างงานของกลุ่มนายจ้างและแรงงานกลุ่มนี้


ขณะเดียวกัน ในส่วนของ สช. จะร่วมกับ IHPP เพื่อพัฒนาจัดทำเป็นรายงานสถานการณ์ และแนวทางการติดตามสถานการณ์เรื่องระบบสุขภาพแรงงานนอกระบบกลุ่มนี้โดยการพัฒนาตัวชี้วัดที่เหมาะสม รวมถึงจะนำเรื่องดังกล่าวไปรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งต่อไป