สถิติโควิด-19 พุ่งขึ้นทั่วโลก หลังนานาประเทศเริ่มผ่อนคลาย ปลดล็อคมาตรการสู่โรคประจำถิ่น
14 มีนาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

นับเป็นเวลากว่า 2 ปี ที่ทั่วโลกต่างระดมหาวิธีรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งการรักษา การคิดค้นวัคซีนป้องกัน ซึ่งทั้งหมดทำให้สถานการณ์เดินทางมาสู่จุดที่อาจเรียกว่า “ควบคุมได้” ไม่มากก็น้อย

 

จากจุดเริ่มต้นของการควบคุมอย่างหนักเพื่อหยุดการระบาด มาจนถึงระยะของการหาสมดุลเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของผู้คนที่ชะงักงัน กระทั่งปัจจุบันมาตรการต่างๆ ที่เคยเข้มงวดได้ลดระดับลงไปมาก มาถึงจุดของการเตรียมที่จะให้ผู้คนอยู่ร่วมกับโควิด-19 ด้วยการปรับให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น พร้อมยกเลิกมาตรการทั้งหมด ตามเงื่อนไขความพร้อมของแต่ละพื้นที่ เช่นว่าประชากรได้รับวัคซีนเพียงพอแล้วหรือยัง หรือมีทรัพยากรในระบบสาธารณสุขมีพร้อมรับมือได้เพียงใด

 

แต่แน่นอนว่าเมื่อการปรับลดหรือยกเลิกมาตรการเดิมที่เคยมี จะทำให้ผู้คน สังคม และเศรษฐกิจ ค่อยๆ กลับไปสู่วิถีเดิมได้ตามปกติ ทว่าตัวเชื้อไวรัสโควิด-19 เองก็ไม่หยุดนิ่งเช่นเดียวกันกับมนุษย์ และหลายต่อหลายครั้งก็เกิดเป็นการ “กลายพันธุ์” ที่ส่งผลถึงความสามารถของไวรัสให้เล็ดรอดการป้องกันต่างๆ ที่เคยมี และนำไปสู่การระบาดที่รุนแรงกว่าเดิม

 

เมื่อหลายประเทศทั่วโลกได้ทำการยกเลิก หรือปรับลดมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ไปแล้ว จึงเป็นตัวอย่างที่ดีในเชิงสถิติ ที่เราจะได้มองหาสัญญาณเพื่อบ่งบอกได้ว่าโควิด-19 นี้กำลังน่ากลัว “น้อยลง” หรือ “มากขึ้น” กว่าเดิม และการผ่อนคลายทั้งหมดก่อนที่โรคนี้จะถูกควบคุมได้อย่างสมบูรณ์นั้น ความจริงแล้ว “ถูกต้อง” หรือจะเป็นเรื่อง “ผิดพลาด” กันแน่ กับการตัดสินใจให้ผู้คนได้ทดลองใช้ชีวิตกับโควิด-19

 

ในภาพรวมของประเทศส่วนใหญ่ที่รัฐบาลประกาศผ่อนคลาย หรือยกเลิกมาตรการด้านโควิด-19 สิ่งที่ถูกยกเลิกไปพร้อมกันก็คือ “การแจ้งสถิติ” ของยอดผู้ติดเชื้อและสถิติทั่วไป เพราะในแง่หนึ่งก็คือการปรับมุมมองต่อโควิด-19 ให้กลายมาเป็นโรคหรือความเจ็บป่วยธรรมดานั่นเอง

 

อย่างไรก็ดี มีบางประเทศที่ยังคงรายงานและแจ้งสถิติต่างๆ ของโควิด-19 อย่างสม่ำเสมอ หนึ่งในนั้นคือ สหราชอาณาจักร ซึ่งนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 รุนแรงที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่รัฐบาลได้ประกาศแผนอย่างเป็นทางการสำหรับการอยู่ร่วมกับโควิด-19 ออกมา ผ่านเอกสารชื่อ COVID-19 Response: Living with COVID-19 เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2565 โดยที่ได้ทำการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ยกเลิกการจำกัดจำนวนคนต่อสถานที่ ยกเลิกการใส่หน้ากากในที่สาธารณะ และอีกมากมาย

 

เมื่อเรามองถึงสถิตินับจากวันที่ 23 ก.พ. ที่มีการประกาศแผนการอยู่ร่วมกับโควิด-19 ออกมา ในวันดังกล่าวสหราชอาณาจักรมีผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ 39,010 ราย แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ยอดผู้ติดเชื้อต่อวันก็ค่อยๆ พุ่งสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่นในวันที่ 8 มี.ค. จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ขึ้นมาอยู่ที่ 67,644 ราย อันเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงแนวโน้มการติดเชื้อที่มากขึ้น ภายหลังจากผ่อนคลายมาตรการ

 

มากไปกว่านั้นจากจำนวนยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่เคยอยู่ในอัตรา “ต่ำร้อย” มายาวนาน ก็กลับไปเป็นหลักร้อยต่อวันอีกครั้ง โดยในวันที่ 23 ก.พ. มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 85 ราย แต่ในวันที่ 8 มี.ค. ผู้เสียชีวิตก็มาอยู่สูงถึง 212 ราย

 

ด้าน สเปน เป็นอีกประเทศหนึ่งที่รัฐบาลประกาศยกเลิกมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันโควิด-19 เช่น การยกเลิกสวมใส่หน้ากากในที่สาธารณะ การจำกัดจำนวนผู้คนตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงการเข้า-ออกประเทศที่ไม่จำเป็นต้องกักตัวอีกต่อไป ตลอดจนยกเลิกภาวะฉุกเฉินต่างๆ นับตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.เป็นต้นมา และภายหลังจากนั้นแนวโน้มการติดเชื้อต่อวันก็สูงขึ้นอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับสหราชอาณาจักร

 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. ที่มีการยกเลิกมาตรการ สเปนมียอดผู้ติดเชื้อใหม่ 22,902 ราย แต่เมื่อมาถึงวันที่ 23 ก.พ. ยอดผู้ติดเชื้อก็พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 33,911 ราย แต่ในทางกลับกันตัวเลขช่วงนี้ก็ยังดีกว่าช่วงเดือน ม.ค.ก่อนหน้า ที่สเปนเคยผ่าน จุดสูงสุดของยอดผู้ติดเชื้อที่จำนวน 179,125 ราย เมื่อวันที่ 12 ม.ค.

 

ขณะที่อีกประเทศที่ได้ทำการยกเลิกมาตรการต่างๆ อย่างสมบูรณ์คือ สวิสเซอร์แลนด์ ก็ได้เผชิญกับการพุ่งสูงขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกัน โดยในช่วงวันที่ 16 ก.พ. ที่ประกาศยกเลิกมาตรการอย่างเป็นทางการ ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันจากเดิมที่ 20,031 ราย ก็ได้พุ่งสูงขึ้นมาอยู่ที่ 34,877 รายต่อวัน ในวันที่ 8 มี.ค.

 

ด้าน เยอรมนี ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในสหภาพยุโรป รัฐบาลกลางได้ประกาศถึงแผนการ 3 ขั้น เพื่อไปสู่การยกเลิกมาตรการควบคุมอย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 16 ก.พ. โดยขั้นแรกจะเริ่มให้ประชาชนที่ได้รับวัคซีนตามกำหนดครบถ้วนแล้วสามารถรวมตัวกันได้อย่างอิสระ และยกเลิกการให้แสดงหลักฐานเกี่ยวกับวัคซีนในการเข้าไปสถานที่ต่างๆ ซึ่งขั้นแรกนี้ก็ได้ประกาศใช้ไปแล้ว

 

ส่วนขั้นที่สองซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. ได้ยกเลิกคำสั่งห้ามผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือผู้ไม่มีภูมิจากการติดเชื้อเข้าร้านค้าต่างๆ รวมถึงโรงแรม พร้อมทั้งการอนุญาตให้กิจกรรมกลางแจ้งที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมเกิน 25,000 คน สามารถจัดได้อีกครั้ง

 

ส่วนขั้นที่สามซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย รัฐบาลเยอรมนีตั้งเป้าที่จะเริ่มในช่วงต้นของฤดูใบไม้ผลิ หรือราวเดือน เม.ย. – พ.ค. โดยมีเกณฑ์สำคัญคือ หากยอดผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้นต่ำลงจนน่าพอใจ ก็จะทำการยกเลิกมาตรการทั้งหมดโดยสมบูรณ์ และอาจจะยกเว้นเพียงการบังคับใส่หน้ากากเหลือในบางพื้นที่เท่านั้น

 

หากมามองที่สถิติการติดเชื้อรายวันของเยอรมนี ก็ต้องยอมรับว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมากต่อวัน โดยนับตั้งแต่เดือน ก.พ.เป็นต้นมา ที่ยอดผู้ติดเชื้อยังอยู่ในหลัก 1 แสนรายต่อวัน มาในวันที่ 10 มี.ค. จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันได้สูงถึง 3 แสนราย

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจก็คือแม้เยอรมนีจะมีผู้ติดเชื้ออยู่ระหว่าง 1–3 แสนรายต่อวัน พร้อมกับมีผู้ติดเชื้อในระบบรวมทั้งสิ้น 3,357,637 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 11 มี.ค. 2565) แต่สัดส่วนผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อยกับอาการหนักนั้นถือว่าต่างกันค่อนข้างมาก โดยที่ผู้ป่วยอาการเล็กน้อย (Mild Condition) อยู่ในสัดส่วนถึง 99.9% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด หรือ 3,355,143 รายนั่นเอง ในทางกลับกันผู้ป่วยที่มีอาการหนักและอันตราย (Serious or Critical) มีเพียงแค่ 0.1% หรือ 2,494 รายเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบางอยู่แล้ว

 

จากสัดส่วนข้างต้น ก็อาจอนุมานได้ว่าเป็นผลลัพธ์มาจากนโยบายด้านวัคซีนที่เข้มงวดของรัฐบาลเยอรมนี ที่พยายามผลักดันให้ประชาชนทำการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด จึงส่งผลให้ผู้ได้รับเชื้อเกิดอาการเจ็บป่วยเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น

 

ภาพรวมทั้งหมดนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่ได้ทำการผ่อนคลาย หรือยกเลิกมาตรการเกี่ยวกับโควิด-19 ที่แสดงให้เราเห็นว่าแนวโน้มการพุ่งทะยานของยอดผู้ติดเชื้อ ยังคงเป็นที่น่ากังวลไม่น้อย