ภาคีร่วมจัด 'สมัชชาพัทลุง' ครั้งที่ 2 สร้างการมีส่วนร่วม-ออกแบบอนาคต ประชาชน 'หิ้วชั้น' นำปิ่นโตร่วมงาน สู่การ 'ชันชี' วางข้อตกลงพัฒนาเมือง
21 สิงหาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ภาคีเครือข่ายร่วมจัดงาน สมัชชาพัทลุงมหานครแห่งความสุข ครั้งที่ 2 "หิ้วชั้นมาชันชี" ประชาชนระดมหลายร้อยปิ่นโตเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพงาน พร้อมวางข้อตกลง-สัญญาใจสู่การพัฒนาเรื่องที่ดีให้กับบ้านเมือง


องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยเครือข่ายสมัชชาสุขภาพพัทลุง และภาคีเครือข่ายรวมกว่า 9 หน่วยงาน ร่วมกันจัดงาน สมัชชาพัทลุงมหานครแห่งความสุข ครั้งที่ 2 "คนเมืองลุงหิ้วชั้นมาชันชี เพื่อกำหนดอนาคตตนเอง" เมื่อวันที่ 15 .. 2566 มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง


ทั้งนี้ กิจกรรมภายในงานได้มีการ "หิ้วชั้น" คือ การนำเอาปิ่นโตที่มีอาหารคาวหวาน ปรุงเอง ทำเองมาจากบ้าน เช่น แกงน้ำเคย แกงเหลือง คั่วกลิ้ง ชิงชัง หัวโมง ลูกเบ้ ลูกเลผัดสะตอ ใบเหลียง ยอดกูดน้ำทิ อโวคาโด ลองกอง เงาะผลงามปลิดจากต้น ฯลฯ ติดมือมาร่วมงานที่จัดขึ้น


ในส่วนของการหิ้วชั้นปีนี้ มีปิ่นโตมากถึง 159 สาย อาหารหลากหลายมากถึง 300-400 เมนู ที่นำมาร่วมและเพียงพอสำหรับผู้เข้าร่วมกว่า 600 คนภายในงาน การหิ้วชั้นจึงเปรียบดังเหมือนว่าทุกคนที่มาร่วมงานต่างมีความเป็นเจ้าของ เจ้าภาพร่วมกัน ไม่ใช่แค่มาแค่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น


ขณะที่ "ชันชี" คือ สัญญาใจ การทำข้อตกลงร่วม การมาร่วมกันคิด อ่าน หาหนทางสร้างเรื่องดีๆ ให้กับบ้านเมือง ชุมชนของตนเอง มีความศักดิ์สิทธิ์กว่ากฏ ระเบียบ ข้อบังคับที่ราชการหน่วยงานพึงมี เพราะมาจากใจไร้ข้อต่อรองบนผลประโยชน์คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง






สำหรับสมัชชาพัทลุงมหานครแห่งความสุข จึงเป็นการร่วมทำบ้านเมือง ชุมชนตนเองในปัจจุบัน วางรากฐานไปสู่การปั้นอนาคตที่เป็นไปซึ่งการมีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ โดยในปีนี้ภาคีเครือข่ายพัทลุงได้มีประเด็นและข้อเสนอเชิงนโยบายที่แหลมคมร่วม อย่างน้อยใน 6 ทิศทางนำไปสู่การมีความสุขร่วมกัน


ข้อเสนอทั้งหมด ได้แก่ 1. ออกแบบการศึกษาเพื่อคนพลเมืองพัทลุงผู้ตื่นรู้ ทั้งหลักสูตรชุมชนท้องถิ่น เช่น กาแฟ ควายน้ำ โนราห์ โลมา คราฟต์ ดนตรี กวี ศิลป์ และลดเรียน เน้นเท่าเทียมในระบบการศึกษา 2. การจัดการทรัพยากรเพื่อสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืน ทั้งเทือกเขา ผืนป่า นาข้าว เลน้อย-เลสาป ด้วยแผนที่ศักยภาพลุ่มน้ำ ขยายโมเดลต้นแบบเชิงนโยบาย


3. ส่งเสริมเศรษฐกิจเกื้อกูล เศรษฐกิจฐานรากยกระดับจาก CBMC สู่ TBMC ท่องเที่ยววิถีชุมชนที่ยั่งยืน ชุมชนสีเขียว พืชร่วมยาง อาหารปลอดภัย 4. ความมั่นคงของชุมชน ว่าด้วยการจัดสวัสดิการสังคม ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน 5. จังหวัดอาหารปลอดภัยและรักษาพันธุ์พืชพื้นบ้าน ดูแลสุขภาพชุมชนด้วยภูมิปัญญา คลังปัญหาตำรับยา Green farm 6. ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เมืองแห่งความรุ่มรวยทางศิลปะ นักคิดนักเขียน กองทุนลานบ้านลานเมือง อัตลักษณ์ตำบล


พร้อมกันนี้ ข้อเสนอในทุกประเด็นได้นำไปร่วมกันหาข้อตกลงที่จะขับเคลื่อน หรือ ชันชี ทั้งร่วมกันถกแถลงแต่งเติมตามกลุ่มประเด็น ก่อนที่จะขมวดเนื้อหาร่วมเป็นปฏิญญาสู่การสร้างภาพอนาคตร่วมกันต่อไป โดยในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มี นายจารึก ไชยรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ เป็นตัวแทนในการกล่าวเจตจำนงค์ร่วมขับเคลื่อนไปสู่เมืองแห่งสุขภาวะ