ทำชุมชนให้ปลอดพาราควอต ด้วย ‘ธรรมนูญชุมชน

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

(เรื่องเล่าจากพื้นที่)... บัณฑิต มั่นคง


หัวใจสำคัญในหมวดที่ ๑๔ ของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ ได้วางเจตนารมณ์ให้ทุกชุมชนท้องถิ่นได้ใช้ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่เป็นเครื่องมือกำหนดทิศทางหรือแนวทางปฏิบัติ อันจะนำไปสู่ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์สามารถแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอย่างเหมาะสมและทันการณ์

เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดลำพูน จึงเห็นความสำคัญของการจัดทำข้อตกลงร่วมหรือกติกาชุมชน ที่เรียกว่า “ธรรมนูญชุมชน” มาใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในประเด็น “ความมั่นคงด้านอาหารในระบบเกษตรอินทรีย์” ที่ถือว่ามีรูปธรรมความสำเร็จมากมาย ทั้งการเปลี่ยนจังหวัดลำพูนเป็นเมืองเกษตรสีเขียว (Green Agricultural City) ตามยุทธศาสตร์จังหวัดและเป็นเมืองเกษตรปลอดภัย (Safe Agricultural City) โดยมีเครือข่ายเกษตรกรรมลำพูน ทำหน้าที่เชื่อมร้อยและมีพื้นที่รูปธรรมในระดับชุมชน อีกไม่ต่ำกว่า ๓๐ แห่ง ที่นำธรรมนูญชุมชนไปเป็นกรอบการทำงานร่วมกัน


ชุมชนห้วยโป่งสามัคคี ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ คือพื้นที่ต้นแบบของจังหวัดลำพูนที่นำเอาธรรมนูญชุมชนไปสร้างกติกาในการแก้ปัญหาเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีและสร้างสุขภาพของทุกคนได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด

เดิมผู้คนในชุมชนนี้ทำการเกษตรแบบเคมีมาโดยตลอด แต่ละครอบครัวใช้เงินถึง ๒๕,๓๐๘ บาทต่อปีเพื่อซื้อสารเคมีทางการเกษตร กระทั่งสภาผู้นำชุมชนร่วมกับ รพ.สต.แม่ตืน ได้ร่วมกันลงตรวจสุขภาพชาวบ้านห้วยโป่งสามัคคี จากการสุ่มตรวจเลือดกลุ่มตัวอย่าง ๑๕๐ คน เป็นนักเรียน ๕๐ คน และชาวบ้าน ๑๐๐ คน


ปรากฏว่าพบสารเคมีตกค้างอยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยถึง ๑๔๖ ราย มีผู้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยเพียง ๔ คนเท่านั้นเอง ทั้งที่กลุ่มนักเรียนไม่ใช่กลุ่มที่ต้องสัมผัสสารเคมีโดยตรง แสดงว่าชาวบ้านได้รับสารเคมีผ่านการบริโภคด้วย


สาเหตุหลักมาจากการใช้พาราควอตในการทำการเกษตร  ถึงแม้พาราควอตจะไม่ทำลายพืชหลักก็จริง แต่ยังมีสารพิษตกค้างอยู่ในพืช ผัก ผลไม้ เมื่อชาวบ้านเก็บเกี่ยวส่วนหนึ่งนำไปขาย อีกส่วนหนึ่งนำมาบริโภคภายในครัวเรือน จึงสะสมอยู่ในร่างกาย ซ้ำร้ายสารเคมีบางส่วนยังซึมลงสู่ดินและไหลลงสู่แม่น้ำ

เหตุนี้จึงทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีอาการเจ็บป่วยจากพิษของพาราควอตที่สะสมอยู่ในร่างกาย เช่น ไม่สบาย หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก คันตามเนื้อตัว นอนไม่หลับ และเป็นมะเร็งจนถึงขันเสียชีวิต ซึ่งพบว่าชาวบ้านที่อายุประมาณ ๔๐๕๐ ปี มักจะเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง

ด้วยผลกระทบนี้ สภาผู้นำชุมชนจึงมีการปรึกษาหารือและพูดคุยกันอย่างจริงจังเพื่อ หามติของคนในชุมชนในการเลิกใช้สารเคมีพาราควอตในการเกษตร ทั้งระดมความคิดเห็น ร่วมกันหาทางออกและสร้างการมีส่วนร่วม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้สารเคมีและการบริโภคที่ไม่เหมาะสมแก่การดำรงชีวิตประจำวัน อาทิมีข้อตกลงร่วมกันดังนี้

. ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตรในเขตชุมชน งดใช้สารเคมีในการทำการเกษตรอย่างเด็ดขาด

. ห้ามติดป้ายโฆษณาสินค้าที่เป็นสารเคมีทางการเกษตรอย่างเด็ดขาด เจอที่ไหนให้ชาวบ้านฉีกทิ้งได้เลย

. ช่วยหาวิธีให้สารธรรมชาติอื่นทดแทน เช่น ถางหญ้าเอง ทำน้ำหมักฆ่าหญ้าเอง ทำปุ๋ยหมักใช้เอง 

. จัดสรรพื้นที่ส่วนรวม ให้ปลูกอยู่ปลูกกิน แบ่งพื้นที่ส่วนกลางในชุมชน ให้มาร่วมปลูกผักปลอดสารพิษใช้กินเอง

หลังจากคนในชุมชนมีข้อตกลงร่วมกันและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และมีการตรวจเลือดซ้ำครั้งที่ ๒ ก็พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ มีผู้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยเพิ่มขึ้นเป็น ๔๐ คน (จากเดิม ๔ คน) ชาวบ้านก็รู้สึกดีและมีกำลังใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้น ทำให้ชุมชนห้วยโป่งสามัคคีได้รับการยกย่องให้เป็นพื้นที่ “ชุมชนธรรมนูญต้นแบบ” ของจังหวัดลำพูนที่โดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง

 3 ธันวาคม 2564