
17 ปี ‘แคนาดา’ เสรีสายเขียว พบประชากร 1 ใน 4 ใช้กัญชา รัฐแบกรับค่า ‘บำบัด-รักษา’ กก.แพทยสภาค้าน ‘สันทนาการ’14 มีนาคม 2565
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ปี 2564 พบว่า วัยรุ่นไทย ใช้กัญชามากถึง 1.89 ล้านคน มากไปกว่านั้นยังพบอีกว่าไทยค้ากัญชาปี 2564 เพิ่มสูงถึง 450% และจับกุม ได้กว่า 40,000 กก. ขณะที่ปี 2563 อยู่ที่ 9,200 กก.
ประเทศไทย แม้จะใช้กรอบแนวคิดสาธารณสุขคุมเป็นหลัก แต่กลับพบว่ามีการใช้กัญชาเพิ่มขึ้นถึง 25% ฟากแพทย์-นักวิชาการไทยกังวลหนัก เหตุเพราะร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ฉบับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำประชาพิจารณ์หละหลวมละเลยหลายจุด เอื้อกัญชาเสรี-ใช้นันทนาการ และประชาชนทราบรายละเอียดน้อย
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ร่วมกับ ศูนย์การติดยาเสพติดและ สุขภาพจิต ประเทศแคนาดา (Center for Addiction and Mental Health : CAMH) จัดงานเสวนาโต๊ะกลม "ร่วมมองบทเรียนจากแคนาดา สู่กลไกและมาตรการที่ต้องมีในร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง" เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2565
สำหรับการจัดเสวนาในครั้งนี้ เพื่อสร้างความตระหนัก และเรียกร้องให้สังคมสนใจข้อกำหนด ตัวบทกฎหมาย ในร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ... อย. กำลังทำประชาพิจารณ์ว่าเหมาะสมกับสังคมไทย ประโยชน์ตกกับทุกฝ่าย รวมไปถึงมาตรการป้องกันติดตามการใช้ พ.ร.บ.เข้มงวดพอหรือไม่ ก่อนที่จะผลักดันเป็น กฎหมายและประกาศใช้
นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธาน มสช. กล่าวถึงเหตุผลที่จัดงานเสวนาฯ ในครั้งนี้ว่า นโยบายเกี่ยวกับกัญชา มสช.เห็นว่าเป็นเรื่องไม่ง่าย มีความซับซ้อนในหลายแง่มุม จึงควรศึกษาให้ถ่องแท้ โดยเฉพาะในประเด็นที่ไม่พึงประสงค์ ผลกระทบทางลบ มาตรการมาควบคุมดูแล
“การแลกเปลี่ยน ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบทเรียนจากแคนาดากรณีนโยบายกัญชาทางการแพทย์และกัญชาเพื่อความบันเทิง จะเป็น ประโยชน์ต่อการเรียนรู้ และนำไปสู่กลไกและมาตรการที่ต้องมีในร่างกฎหมายดังกล่าว” นพ.สมศักดิ์ ระบุ
บทเรียนจากแคนาดา รัฐต้องจริงจังกับการใช้กัญชาผิด กม.
ประเทศแคนาดานับว่าเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศรายได้สูงที่ “ปลดล็อกให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ” แต่หากย้อนกลับไปก่อนการเปลี่ยนผ่านนโยบายดังกล่าวจะพบว่า แคนาดามีประสบการณ์การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์มายาวนานถึง 17 ปี โดยกำหนดใช้กับโรค หรืออาการที่มีหลักฐานเชิงประจักรว่าใช้กัญชาแล้วได้ผล เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กัญชาที่จะทำให้โรค หรืออาการเหล่านั้นแย่ลงไปอีก
ศ.ดร.เจอเกน เรห์ม (Prof.Dr.Jurgen Rehm) จาก CAMH ให้ข้อมูลถึงบทเรียนของประเทศ แคนาดาที่เปลี่ยนผ่านนโยบายกัญชาทางการแพทย์สู่กัญชาเพื่อความบันเทิงว่า การอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการนั้น รัฐบาลใช้กรอบแนวคิดด้านสาธารณสุขมาควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิด มากกว่าที่จะปล่อยให้ใช้กัญชาได้อย่างอิสระเสรี
ถึงแม้ว่าจะมีความเชื่อว่าการปลดให้ใช้กัญชาได้เสรีอย่างถูกกฎหมายจะช่วยให้รัฐสามารถคุมระดับ THC ในผลิตภัณฑ์กัญชาต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยบังคับใช้มาตรการควบคุมอายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถซื้อกัญชาได้อย่างถูกกฎหมายได้ดียิ่งขึ้นก็ตาม แต่ก็ยังมีประชาชนใช้กัญชาทั้งทางการแพทย์และเสพติดอยู่ราว 4 แสนคน จากประชากร 35 ล้านคน โดยเปอร์เซ็นต์ประชาชนที่ใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้นทุกปี ปัจจุบันคิดเป็น 25% ของประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้จะมีผู้ขอเข้ารับการบำบัดปีละ 75,000-100,000 คน กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องสูญเสีย
นอกจากนี้ปัญหาจากกัญชาไม่ใช่แค่ป่วย แต่คือการเสียชีวิตจากมะเร็งปอดซึ่งพบมากในผู้สูงอายุ และอุบัติเหตุ
“รัฐจะต้องกำหนดมาตรการที่สามารถลดความเสี่ยงการใช้กัญชาในทางที่ผิดในกฎหมาย เป็นลาลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน และต้องบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้อย่างจริงจัง ซึ่งอย่างน้อยมาตรการควบคุมควร จะต้องครอบคลุมมาตรการตรวจหาสาร THC ในผลิตภัณฑ์ผสมกัญชาต่าง ๆ และการตรวจบัตรแสดง อายุของผู้ซื้อ” ศ.ดร.เยอร์เกน ระบุ
ขณะที่ ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล เครือข่ายนักวิชาการด้านการเฝ้าระวังด้านนโยบาย มสช. ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อวิเคราะห์สาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับประชาพิจารณ์โดย อย. เปรียบเทียบกับมาตรการในแคนาดาพบว่า มีความหละหลวม-ละเลย หลายจุด เช่น ไม่มีข้อจำกัดในการครอบครอง ขณะที่แคนาดาให้ครอบครองกัญชาแห้งได้ “ไม่เกิน 30 กรัมต่อคน”
สำหรับการปลูกต้นกัญชาไว้ใช้ในครัวเรือนนั้น อนุญาตให้ปลูกได้บ้านละ 4 ต้น และต้องมีระบบติดตามไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในเขตบ้านที่ปลูกกัญชา และต้องปลูกในบริเวณที่ไม่เห็นจากบริเวณพื้นที่สาธารณะ เช่น ถนน หรือสวน สาธารณะ
“แต่ในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ของไทยที่ อย.กำลังทำประชาพิจารณ์ไม่มีระบุไว้ แม้แต่ระดับสาร THC ก็ไม่มีระบุไว้ และอ้างว่าจะไประบุในกฎหมายลูก แต่ที่แคนาดาเรื่องซีเรียสเขาจะระบุในกฎหมายหลักไว้เลย” ดร.นพ.บัณฑิต ระบุ
ดร.นพ.บัณฑิต อธิบายต่อไปว่า ในแคนาดาการโฆษณาเกี่ยวกับกัญชาต้องได้รับอนุญาต และห้ามใช้ดารา-การ์ตูน หรืออะไรที่ดึงดูดความสนใจของเด็ก-เยาวชนให้มาทดลอง แต่ของไทยกลับเขียนระบุไว้กว้างๆ ว่าถ้าต้องการโฆษณากัญชาต้องขออนุญาต ยกเว้นการโฆษณาชิ้นส่วนของกัญชาที่ รมต.กระทรวง สาธารณสุข (สธ.) ยกเว้นให้ ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นร่างกฎหมายที่ประหลาด เขียนเอื้อให้กำหนดความเข้มข้นทีหลัง ทั้งที่ควรตั้งค่าความเข้มข้นในระดับมาตรฐานไว้ก่อน
มากไปกว่านั้น แคนาดายังมีการทำแสตมป์เก็บภาษีกัญชาหากปลูกเชิง เศรษฐกิจเพื่อเอารายได้เข้ารัฐ และยังเป็นการควบคุมไม่ให้มีบริโภคกัญชามากเกินไปในอีกทางหนึ่ง เป็นต้น
ทิศทางกัญชาไทยมุ่งประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ไม่ใช่การแพทย์
ดร.นพ.บัณฑิต มองอีกหนึ่งข้อสังเกต ถึงการเปิดเสรีกัญชาของไทยที่ถูกปูมาให้เข้าใจว่าเป็นกัญชาทางการแพทย์มาตลอด แต่วันนี้เริ่มพิสูจน์ให้เห็นชัดว่าทิศทางกัญชาไทยมุ่งเน้นผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ โดยไม่คำนึงถึงโอกาสที่จะมีการใช้กัญชาในเชิงนันทนาการด้วย และการปลดชื่อกัญชา กัญชง ออกจากชื่อยาเสพติด ให้โทษประเภทที่ 5 เหลือเพียงสารสกัดที่ได้จากพืชกัญชา กัญชง ที่มีปริมาณสาร THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก ให้ถือเป็นยาเสพติดให้โทษ ข้อกำหนดตรงนี้ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง และส่งผลให้เกิดการใช้ในทางที่ผิดจำนวนมาก
หากต้องการส่งเสริมการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ควรปลดล็อกแค่สารสกัดที่ได้จากพืชกัญชา กัญชง ที่มีปริมาณสาร THC ต่ำกว่า 0.2% โดยน้ำหนัก ให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย นอกนั้นให้คงไว้ว่าเป็นยาเสพติด
เพราะความจริงแล้วคนที่ติดกัญชานั้นติดสาร THC ที่มีอยู่มากในช่อดอก มาตรการควบคุมไม่ให้ประชาชนและเยาวชนเก็บช่อดอกมาเสพ กรณีปลูกใช้ในครัวเรือน ในทางปฏิบัติจริงก็เป็นไปได้ยาก แม้แต่การตรวจว่ากัญชา ผลิตภัณฑ์จากกัญชา หรือที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม มีค่า THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนักหรือไม่ก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน เพราะต้องส่งแล็บตรวจทั้งหมด
มากไปกว่านั้น การปลด ชื่อกัญชา กัญชง ออกจาก ยส.5 จะส่งผลต่อประกาศของ สธ. เชิงเทคนิคในอนาคต ในกรณีที่อ้างว่า ชื่อยาเสพติดที่ไม่ได้ถูกระบุเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในประมวลกฎหมายยาเสพติดให้โทษ จะสามารถปลดล็อกให้ถูกกฎหมายและผลิตได้ เช่น ยาบ้า ซึ่งก็ไม่ได้ถูกระบุไว้ในประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้โทษ ก็จะมีสถานะถูกกฎหมายได้เช่นเดียวกันกับกัญชา
“ที่เรามานั่งเสวนากันในวันนี้เราไม่ได้มาคัดค้านกัญชาทางการแพทย์ แต่เราไม่เห็นด้วยหากจะมาพูดกันแค่ในด้านประโยชน์กัญชา ทั้งในแง่การรักษาและเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้บอกถึงข้อเสียที่มีให้ประชาชนรับทราบ อย่างตรงไปตรงมา ขณะที่มาตรการควบคุมก็หละหลวม และหากปล่อยตามกระแสจะเกิดความเสียหายในอนาคตมาก” ดร.นพ.บัณฑิต ระบุ
อย่างไรก็ดี ส่วนตัวมองว่าการส่งเสริมกัญชาทางการแพทย์ไม่จำเป็นต้องเปิดเสรีกัญชา อย่าเอาต้นทุนอนาคตของสังคมมาขายเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระยะสั้น ดังนั้น คนกลุ่มใหญ่อย่างพ่อแม่ที่มีลูกเติบโต ในบรรยากาศที่กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดมีสิทธิ์ที่จะปกป้องลูกหลานของตนเอง
“เสียงตรงนี้กำลังมีมากขึ้น เรื่อยๆ และเราไม่ควรเร่งรัดออกกฎหมายกัญชา ควรจะชะลอไปก่อน เพื่อหาทางร่วมที่เป็นทางสายกลาง เพื่อให้สังคมได้ประโยชน์มากที่สุด โดยมีการเตรียมพร้อมทางสังคมและออกแบบวิธีป้องกันโทษภัยให้มากที่สุด” ดร.นพ.บัณฑิต กล่าว
ไม่สนับสนุน “กัญชาเพื่อสันทนาการ”
ศ.นพ.วินัย วนานุกูล กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า ควรมีจุดยืนต่อนโยบายกัญชา และร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ดังนี้ 1.ไม่สนับสนุนการใช้สารกัญชาเพื่อการสันทนาการ (Recreation Purpose) 2.สนับสนุนให้มีการศึกษาประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์ทั้งในแผนไทยและแผนปัจจุบัน แต่ควรเป็นการศึกษาใน รูปแบบที่สังคมโดยทั่วไปและสากลยอมรับ และ 3.บุคคลกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นผลกระทบในทางลบจากกัญชา ควรได้รับการปกป้อง เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยทางด้านจิตเวช
อย่างไรก็ดี ในส่วนของมาตรการบรรเทาผลกระทบควรเน้นไปในประเด็น ดังนี้ 1.ปกป้องประชาชนกลุ่มเสี่ยง 2.ให้การข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนและสังคม 3.การควบคุมโฆษณาเนื้อหาของการประชาสัมพันธ์ 4.เฝ้าระวังติดตามผลกระทบต่างๆ ในรูปแบบต่างๆ โดยใช้สถิติตัวเลขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สธ. คมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ รวมถึงโครงการ วิจัย
ปี 2562 รัฐต้องควัก 300 ล้าน บำบัดผู้เสพกัญชา 1.5 หมื่นคน
ข้อมูลจาก ป.ป.ส. ระบุว่า ในปี 2562 มีผู้เสพกัญชาเพื่อความบันเทิงในประเทศไทยราว 1.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีคนที่ใช้กัญชาอย่างสม่ำเสมอ 1.5 แสนคน และ 10% ของคนที่ใช้สม่ำเสมอ หรือ 1.5 หมื่นคน ต้องเข้ารับการบำบัด
พล.ต.นพ.พิชัย แลงชาญชัย ประธานชมรมจิตเวชศาสตร์การเสพติดแห่งประเทศไทย ระบุว่า
เท่ากับรัฐเสีย ค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขถึง 300 ล้านบาท จึงมีคำถามว่าระบบสาธารณสุขของไทยรองรับได้แค่ไหนถ้าอนาคตปลดล็อกมีการเสพการใช้มากขึ้นตัวเลขก็จะยิ่งมากขึ้น แล้วเราดูแลเขาได้หรือไม่
นอกจากนี้ พล.ต.นพ.พิชัย ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงสถานการณ์การใช้กัญชาในฐานะยาเสพติดในประเทศไทยว่า กัญชาเป็นสารเสพติด พอเสพติดแล้วก็เลิกยาก เวลาเมาสารก็ทำให้เกิดอาการทางจิตได้ มีข้อมูลทางวิชาการชัดเจนว่าสัมพันธ์ กับการเกิดโรคจิต โรคซึมเศร้า และการฆ่าตัวตาย และกัญชายังมีผลต่อการพัฒนาการทางสมองของเด็ก และวัยรุ่น ทำให้สติปัญญา สมาธิ ความจำแย่ลง รวมถึงการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การกระตือรือร้น การคิด ตัดสินใจ การยับยั้งช่างใจ ผลการเรียนก็จะแย่กว่าเด็กที่ไม่สูบ
หากปลดล็อกและอนุญาตให้ใช้กัญชาได้ถูกกฎหมาย ก็จะทำให้การเสพกัญชาเพิ่มมากขึ้น ก็จะมีคนติดมากขึ้น ส่งผลให้คนเป็นโรคจิตโรคซึมเศร้ามากขึ้น ขณะที่ ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาผู้ป่วยจิตเวชจากกัญชาในโรงพยาบาลของรัฐเฉลี่ยอยู่ที่ 20,000 บาทต่อคน ใช้เวลา ประมาณ 1 เดือนในการรักษา แต่ก็มีไม่น้อยที่กลับมารักษาซ้ำ
ข้อมูลจาก รายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2564 มีการจับกุมคดียาเสพติดทั้งหมด 337,186 คดี ผู้ต้องหาทั้งหมด 350,758 คน พบของกลางที่เป็นกัญชา 41,573 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2563 ที่ของกลางกัญชาอยู่ที่ 9,227 กิโลกรัม เท่ากับเพิ่มขึ้น 32,346 กิโลกรัม หรือร้อยละ 450.5%
ขณะที่ช่องทางการค้าขายยาเสพติดในปี 2564 นอกจากการค้ายาเสพติดแบบทั่วไปแล้ว ยังพบว่ามี การใช้ช่องทางออนไลน์ทั้ง Line Twitter Facebook Instagram ฯลฯ โดยเฉพาะช่องทาง Twitter ได้รับความ นิยมสุงสุด ควบคู่กับการส่งยาเสพติดทางพัสดุไปรษณีย์ในการกระจายยาเสพติดไปสู่กลุ่มผู้เสพมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชนที่ซื้อขายยาเสพติดเกือบทุกชนิดอย่างแพร่หลาย มีการแจ้งราคาขายชัดเจน มีช่องทางการส่งให้เลือกหลากหลาย เช่น นัดรับส่งผ่านไปรษณีย์ทั้งของรัฐและเอกชน ยิ่งปัจจุบันธุรกิจ โลจิสติกส์ในประเทศไทยขยายตัวมากขึ้น ทำให้การขนส่งสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ปี 2564 วัยรุ่นไทย ใช้กัญชาที่ไม่ใช่การแพทย์ 1.89 ล้านคน
รศ.พญ.รัชมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด (ศศก.) ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในเรื่องของกัญชาทางศูนย์ฯ มีตัวเลขปี 2564 พบคนไทยอายุ 18-25 ปี มีการใช้กัญชาที่ไม่ใช่ทางการแพทย์ประมาณ 1.89 ล้านคน หรือคิดเป็น 4.3% ถือว่าสูงมาก เพราะถ้าเป็นเมื่อ 2 ปีก่อนตัวเลขยังไม่สูงขนาดนี้ และหากเทียบกับปี 2563 ก็พบว่าเพิ่มขึ้นมาถึง 2 เท่า ส่วนนี้เข้าใจได้ว่าเพราะปีที่ผ่านมามีการเปิดให้ใช้บางส่วนของกัญชา ทำให้ประชาชนเห็นว่าการที่ร้านค้าขายกัญชาเป็นเรื่องปกติ
ขณะที่ตัวผลิตภัณฑ์น่ารัก-น่าใช้ดูไม่มีอันตราย จากเดิมภาพลักษณ์กัญชาคือเป็นบ้อง และเมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ก็มีบางส่วนที่ค่า THC เกิดมาตรฐานที่ สธ.กำหนดไว้เพื่อความปลอดภัย ซึ่งเมื่อเจอแล้วก็ไม่รู้เลยว่าจะต้องแจ้งใคร ที่ไหนอย่างไร
“จึงอยากให้สังคมและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเริ่มหันมาตระหนัก ที่สำคัญชุมชนควรเข้ามาช่วยดูแล เพราะร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เขียนอนุญาตให้มีเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม จะกลายเป็นการเอื้อให้เกิดการผูกขาดอะไรก็ได้ และสุดท้ายอาจกลายเป็นเอกชนรายใหญ่ที่เข้ามาฮุบวิสาหกิจชุมชน” รศ.พญ.รัชมน ระบุ
สิ่งสำคัญคือกลยุทธ์ให้เกิดการปฏิบัติจริง เมื่อกฎหมายเอาไม่อยู่
ผศ.ดร.อุษณีย์ พึ่งปาน นักวิจัยอาวุโส จากศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์ สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวทิ้งท้ายในงานเสวนาว่า หลังจากมีนโยบายเดินหน้าเรื่องกัญชา และมีการ ปลดล็อกกัญชาจากบัญชียาเสพติด พบว่าปัจจุบันคนมีการใช้กัญชาหลงไปในทางอื่นๆ อย่างแพร่หลาย บางคนเอากัญชามากินแทนผักกับลาบ และเข้าใจไปว่ากัญชาคือยารักษาสารพัดโรค ขณะที่งานวิจัยของ ทางศูนย์ฯ ที่เก็บตัวอย่างทั้งน้ำและอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาเมื่อ ธ.ค. 2564 และ ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา พบว่ามีค่า THC เกิน 0.2% ถึง 20% โดยผู้ประกอบการไม่ได้ตั้งใจจะใส่เกิน แต่กระบวนการผสมนั้น ไม่ได้มาตรฐาน หลายผลิตภัณฑ์เป็นของโอท็อปผลิตในชุมชน
“ดังนั้นการคุมโดยการเขียนกฎหมายมันจะไม่เกิดผลอะไรขึ้น เรียกได้ว่าคุมไม่อยู่ แต่เราจะมีกลยุทธ์อย่างไรให้เกิดการปฏิบัติได้จริง ต่างหากที่สำคัญ” ผศ.ดร.อุษณีย์ ระบุ
อนึ่ง ที่ประชุมเสวนาโต๊ะกลมจะนำข้อสรุปที่ได้ในครั้งนี้ จัดทำเป็นข้อเสนอและเสนอ ไปสู่คณะรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ของ สธ.อย่างเป็นทางการต่อไป