พูดคุยกับ ๓ รองเลขาธิการ คสช. ว่าด้วย ‘ภารกิจ-องค์กร และ ผู้นำ’

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ทีมรองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ในยุคสมัยเลขาธิการ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ จำนวน ๓ คน มีความแตกต่างและองค์ความรู้เฉพาะด้าน เมื่อหลอมรวมเข้ากับภารกิจในฐานะองค์กรสานพลังแล้ว มีความครบเครื่องและสามารถหนุนเสริมการทำงานของภาคีเครือข่ายได้อย่างโดดเด่น


เริ่มตั้งแต่หนึ่งใน ‘ผู้บุกเบิก’ สช. ที่เข้ามาสัมพันธ์กับภารกิจสานพลังและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะมาตั้งแต่ยังไม่มีการสถาปนา สช. และถือเป็นหนึ่งกำลังสำคัญที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังการตรากฎหมาย พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ อย่าง สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้จำกัดความ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ว่า คือ “พ.ร.บ. การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน” ซึ่งเป็นกฎหมายที่เน้นการสานพลังการมีส่วนร่วม ที่ไม่มีการกำหนดบทลงโทษใดๆ  แต่จะไปใช้บทกำหนดโทษจากกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สุทธิพงษ์ ในฐานะรองเลขาธิการที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาระบบและกลไกเครื่องมือ รวมทั้งการบริหารองค์กรไปด้วย ได้อธิบายว่า พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้กำหนดให้มี ‘เครื่องมือ’ สำหรับสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็น ‘หัวใจหลัก’ ในการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ที่จะนำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะดีให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

“นโยบายที่ถูกกำหนดมาจากภาครัฐเป็นสิ่งที่ดี แต่อาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีนโยบายสาธารณะจากภาคสังคมเข้าไปหนุนเสริมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด” สุทธิพงษ์ กล่าว และยกตัวอย่างถึงนโยบายสาธารณะ ประเด็น ‘พหุวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคใต้’ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีหลายมิติซ่อนอยู่ หากใช้นโยบายรัฐอย่างเดียวอาจจะแข็งไปและไม่สอดรับกับบริบทของพื้นที่ จึงต้องผสมผสานนโยบายจากภาคสังคมซ้อนเข้าไปด้วย เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำงานและขับเคลื่อนนโยบาย ทั้งแนวตั้งที่มาจากภาครัฐ และแนวนอนที่มาจากการขับเคลื่อนของภาคประชาชน

“การมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายในทุกขั้นตอนของกระบวนการนโยบายสาธารณะของทุกภาคส่วน จะทำให้การขับเคลื่อนนำไปสู่ ‘ความสำเร็จ’ มากกว่าแค่การ ‘ทำเพื่อเสร็จ’ ไปเท่านั้น” สุทธิพงษ์ ระบุ

มากไปกว่านั้น แน่นอนว่าการมีส่วนร่วมแล้วจบกันไปเลยอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากพลวัตรทางสังคมที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องยกระดับแนวทางการทำนโยบายสาธารณะให้มากกว่าการมีส่วนร่วม คือต้องทำให้ภาคีเครือข่ายเป็น 'หุ้นส่วน' นโยบายและกระบวนการขับเคลื่อน และนำไปสู่การเป็น 'เจ้าของร่วม' ซึ่งจะทำให้นโยบายสาธารณะที่ขับเคลื่อนมีความยั่งยืน

ตลอดระยะเวลา ๔ ปี ที่ผ่านมา เกิดรูปธรรมในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ จำนวนมาก “รองสุทธิพงษ์” ยกตัวอย่างถึง การพัฒนาระบบและกลไกการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ พ.ศ.๒๕๖๕-๒๕๗๐, การจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ พ.ศ.๒๕๖๔, การจัดทำมาตรฐานการวางแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ.๒๕๖๕ และการขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสาธารณะ ในระดับยุทธศาสตร์และการปฏิบัติการที่พื้นที่  ซึ่งมีตัวอย่างการขับเคลื่อน ‘ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ’ ที่ถือเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญของ สช.กับภาคีเครือข่าย ซึ่งปัจจุบันนี้ได้รับการขยายผลไปสู่การดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ๒.๔ แสนรูปทั่วประเทศ ที่จะได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพผ่านยุทธศาสตร์ ๑ วัด ๑ โรงพยาบาล และเมื่ออาพาธ พระสงฆ์จะไม่ใช่ผู้ป่วยอนาถา แต่จะได้รับการดูแลรักษาอย่างสมศักดิ์ศรี

“จุดเด่นของการทำงานในยุคเลขาธิการ นพ.ประทีป คือ การมุ่งเน้นยกระดับองค์กรให้เป็นหน่วยงานที่มีสมรรถนะสูง มีการนำเทคโนโลยี ระบบข้อมูลดิจิทัลมาใช้ในสำนักงาน การพัฒนาระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ระบบที่ใช้ในการวางแผนการทำงานในองค์กร ตลอดจนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรม ขยายการมีส่วนร่วม ซึ่งสามารถลดการใช้งบประมาณแต่เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้สูงขึ้น” รองเลขาธิการ คสช. อธิบาย

สุทธิพงษ์ อธิบายต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องของการขับเคลื่อนระบบสุขภาพแบบ 'พลวัตร' ที่ครอบคลุมทั้งมิติกาย ใจ ปัญญา และสังคม เพื่อให้นำไปสู่การปฏิรูปด้านสุขภาวะได้เดินหน้าต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็ยังคู่ขนานไปกับการสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนได้เดินหน้าในการดึงเอาภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อปฏิรูประบบสุขภาพ

กระนั้นก็ตาม การเดินหน้าในห้วงเวลาที่ผ่านมา อยู่ท่ามกลางสถานการณ์สุขภาพต่างๆ ที่มีผลกระทบมายังสุขภาวะของผู้คนในทุกมิติ และยังเป็นตัวแปรสำคัญที่เชื่อมมายังการมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะ ‘สุทธิพงษ์’ วิเคราะห์สถานการณ์ออกเป็น ๔ เรื่องสำคัญ

๑. สถานการณ์สังคมสูงวัย ที่ประเทศไทยเดินเข้ามาสู่ขั้นสมบูรณ์แล้ว และกำลังจะไปสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในบางพื้นที่ ๒. สถานการณ์ของเทคโนโลยี และสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นการเร่งให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ๓. สถานการณ์สิ่งแวดล้อม กับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM ๒.๕ ที่เป็นผลกระทบในระยะ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ๔. สถานการณ์ของโรค ที่ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มากขึ้น ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันด้วย

“สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีส่วนเชื่อมมายังการวางแผนกระบวนการมีส่วนร่วมนโยบายสาธารณะทั้งหมด ซึ่งล้วนสัมพันธ์กับแบบแผนการดำรงชีวิตของประชาชน และมีผลกระทบต่อกัน อย่างเช่น สังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ก็ต้องมีนโยบายสวัสดิการที่เน้นหนักและครอบคลุมมากขึ้นด้วย หรือแม้แต่โรค NCDs ที่คุกคามสุขภาพในปัจจุบัน แทนที่โรคติดต่อในอดีต เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย” สุทธิพงษ์ ขยายความ

ในมุมมองของ ‘สุทธิพงษ์’ แล้ว ผู้ที่จะเข้ามาเป็น CEO หรือดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คสช. คนถัดไป จำเป็นต้อง ‘มีวิสัยทัศน์ เป็นนักฝันหรือจินตนาการสู่อนาคต เป็นนักสร้างเครือข่าย และสร้างพลังทีมเครือข่ายเป็น หรือที่มักพูดกันว่า Connection is power ซึ่งเป็นจุดเด่นและจุดแข็งของ สช.

วิสัยทัศน์ ในความหมายที่พูดคือ การเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ต่อเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพแบบมีพลวัตร มีปรับเปลี่ยนตามบริบท ซึ่งจะช่วยให้องค์กรปรับตัวและสามารถรับกับการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ส่วนนักฝันหรือนักจินตนาการ ต้องมีภาพความสำเร็จที่เกิดขึ้นทั้งระหว่างทาง และความสำเร็จปลายทาง และเข้าใจว่าการสร้างฝันให้เป็นจริงได้ ต้องมีเครื่องมือ กระบวนการที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมที่ดี

ส่วนเรื่องของนักสร้างเครือข่าย ก็ต้องเป็นคนที่มีคอนเนกชั่นที่หลากหลายกับกลุ่มภาคีเครือข่ายต่างๆ รวมไปถึงต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีในเครือข่ายด้วย และแน่นอนว่าต้องเป็นเครือข่ายที่หลากหลายระดับเท่าที่จะทำได้และไปถึง สุดท้ายการสร้างพลังทีมเครือข่าย คือสร้างทีมจากภายในองค์กรให้เป็นนักสานพลังที่มีแนวคิดในการออกไปสร้างทีมภายนอกองค์กร หรือสังคม เพื่อให้ทีมข้างนอกสะท้อนเข้ามายังทีมภายในของ สช. จะเป็นการทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน หนุนเสริมกัน

"ซีอีโอคนต่อไปของ สช.  ต้องมีความยืดหยุ่นในการทำงาน มีความเด็ดขาดในการตัดสินใจที่ควบคู่ไปกับการประนีประนอม เพื่อให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่ดี แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ต้องตัดสินใจก็ต้องทำ อีกทั้งยังต้องเลือกทำงานกับภาคีเครือข่ายที่มี ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคสังคม ทั้งแบบเจาะจงและมุ่งเป้าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงไม่ปฏิเสธทุกโอกาสที่มีเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ และมีแนวคิดที่หนุนเสริมภายในองค์กรให้เชื่อมต่อกับการทำงานภายนอก เพราะภูมิทัศน์ทางนโยบายเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ใหม่ๆ และหากทำได้จะพลิกโฉม สช. ให้มีพลังเครือข่ายนโยบายสาธารณะและความทันสมัย เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูงตามไปด้วย" รองเลขาฯ สุทธิพงษ์ ระบุ

ขณะที่ ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการ คสช. ฉายภาพว่า ในภาพกว้างๆ คือทีมบริหารชุดนี้ เปิดกว้างในเรื่องการช่วยกันคิดร่วมกันทำ มีความลงตัว บริหารได้ดีและโดยไม่เคยมีประเด็นความขัดแย้งเกิดขึ้นในทีมบริหารเลย ถึงแม้บางครั้งความคิดเห็นจะไม่ตรงกันก็สามารถพูดคุยกันจนได้ข้อสรุปร่วมกันได้ และเมื่อทีมตัดสินใจจะทำอะไรแล้ว ทุกคนก็จะเข้ามาช่วยกันเพื่อให้บรรลุภารกิจนั้นๆ นี่ถือว่าเป็นจุดแข็ง

อย่างไรก็ดี หากจะวิพากษ์ตัวเอง ผู้คนใน สช. ส่วนใหญ่อาจยังไม่ถ่องแท้ความเข้าใจเรื่อง Policy development แบบครบวงจร ตัวอย่างเช่น การทำความเข้าใจขั้นตอนการบริหารราชการแผ่นดินแบบลึกซึ้ง การพูดคุยกับภาคียุทธศาสตร์ด้านนโยบาย เช่น สภาพัตน์ ต้องทำอย่างไร รวมทั้งขั้นตอนการเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะส่งผลต่อรูปธรรมการขับเคลื่อน

“ลำดับแรกเลยคือ พวกเราต้องทำความเข้าใจ Policies Development Cycle กล่าวคือไม่ใช่หยุดแค่ทำข้อเสนอเชิงนโยบายแล้วก็จบ ส่วนใครจะเอาไปใช้ก็เอา แบบนี้มันไม่ใช่ เพราะแบบนั้นเราก็จะจบอยู่แค่นี้ เราต้องรู้ทริคด้วย ตามที่อาจารย์ชาญเชาวน์ (ไชยานุกิจ) เคยบอกไว้ว่า เราไม่ค่อยจะเข้าใจระบบและขั้นตอนงานบริหารราชการแผ่นดิน เพราะบางครั้งเราจะมองเป็นตัวแทนส่งข้อเสนอจากภาคประชาชน แต่จริงๆ การทำหน้าที่ให้คำปรึกษานโยบายสาธารณะ คุณต้องรู้ คุณถึงจะเข้าไปเล่นได้ ผมคิดว่าอันนี้คือรูปธรรม” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว

ในฐานะที่รองเลขาธิการ คสช. ท่านนี้ได้รับมอบหมายให้ดูแล ‘งานต่างประเทศ’ เป็นหน้างานเฉพาะ จึงมีความเข้าใจและได้เห็น ‘ภาพสะท้อนกลับ’ มายัง สช. ผ่านมุมมองของนานาชาติ

ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์
เล่าว่า ขณะนี้กระแสเรื่องของกระบวนการการมีส่วนร่วม และ Social Participation เริ่มตีขึ้น และปีหน้าจะมีการนำเอาประเด็นนี้เข้าไปอยู่สมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly: WHA) ซึ่งเราได้พูดคุยไปแล้ว

นอกจากนี้ ในเรื่องของนวัตกรรมทางสังคม หรือ Social Innovation จะเป็นสิ่งที่เราหวังผลมากขึ้น เพราะ Social Innovation คือกระบวนการ (Process) ไม่ใช่ผลลัพธ์ (Outcome) เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องวิ่งหนุนเสริมเขาก็คือ UHC (Universal Health Coverage) ที่เป็นมติระดับองค์การสหประชาชาติ (UN) แล้ว หรือแม้กระทั่งเรื่อง Sustainable Development Goals (SDGs) หรือ Primary Healthcare ก็ได้

“เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียว อย่างเรื่องระบบหลักประกันฯ ก็ไม่ใช่เรื่องของ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) หรือกระทรวงสาธารณสุข เพียงหน่วยเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกๆ คน ที่จะช่วยกันทำให้ระบบสุขภาพดีขึ้น และนี่คือบทบาทที่ท้าทายของเรา” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ ระบุ

ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ บอกอีกว่า สช. ในยุคต่อไปจะขยายงานมากขึ้น คือต้องเชื่อมต่อตั้งแต่ Global ลงมาจนถึง National และ Local ซึ่งจะทิ้งส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ เพราะในบางครั้งอาจต้องใช้กลยุทธ์โลกล้อมประเทศสู่การทำงานระดับพื้นที่  ตัวอย่างเช่นการปรับตัวชี้วัด SDGs ตามพื้นที่ คือเปลี่ยนใหม่เป็น Localize SDGs ที่อยู่ในพื้นที่ ปฏิบัติหรือกินได้

“ถ้าถามว่าอะไรคือความท้าทายของ สช. ที่ตั้งอยู่มาถึง ๑๕ ปี เรามีบุคลากรหลายคนที่อยู่มาตั้งแต่สมัยก่อตั้งองค์กร มีบางส่วนคนที่เข้ามาสมทบระหว่างทาง หรือมีคนที่เข้ามาใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนทุกวันนี้สถานการณ์บริบทสังคมเปลี่ยนไปมาก การทำงานแบบเดิมหรือทำงานแบบที่เข้ามาในปีแรกๆ บางครั้งอาจไม่เวิร์ค สำหรับผู้บริหาร เราต้องหาบุคลากรที่กล้าฝ่าวงล้อมจากสิ่งเดิม ทดลองแนวคิดและของใหม่ให้เจอ โดยทฤษฎีแล้วเอาแค่ ๑๐-๑๕% ของคนในองค์กร ก็เพียงพอต่อการเป็นหัวรถจักร สร้างการเปลี่ยนแปลงได้  พอมีหัวรถจักรสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ขบวนที่เหลือก็ค่อยๆ เคลื่อนตามกันมาเอง” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ ระบุ

ทางด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการ คสช. ซึ่งมีประสบการณ์การนำเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ไปใช้ประโยชน์ ตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต ๘ อุดรธานี เล่าว่า ส่วนตัวมีโอกาสได้ร่วมงานกับ สช. ตั้งแต่เป็นผู้อำนวยการ สปสช. เขต ๘ อุดรธานี โดยได้นำกระบวนการสมัชชาสุขภาพของ สช. ไปร่วมกับการรับฟังความคิดเห็นของผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เพื่อจัดกระบวนการต่างๆ ให้เกิดการพูดคุยกับทุกผู้มีส่วนได้มีส่วนเสีย โดยขณะนั้นใช้ชื่อว่า ‘สมัชชาพิจารณ์หลักประกันสุขภาพ’

สำหรับกระบวนการดังกล่าว มีข้อดีคือโดยปกติการรับฟังความเห็นจะรับฟังทางเดียว จัดหมวดหมู่แล้วส่งไปยังส่วนกลาง ส่วนตัวมองว่ากระบวนแบบนี้ไม่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และไม่เกิดการมีส่วนร่วม จึงได้พูดคุยกับภาคีเครือข่ายของ สช. จนต่อมาเกิดเป็นคณะทำงานสมัชชาพิจารณ์หลักประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นการดึงพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการทำหน้าที่เก็บข้อมูล รับฟังความเห็น ทำเอกสารข้อเสนอ นำไปสู่การมาช่วยกันออกความเห็นว่าประเด็นไหนในระดับพื้นที่ หรือระดับเขตสุขภาพที่สามารถแก้ไขเองได้ รวมถึงอะไรที่เกินศักยภาพที่ต้องให้ สปสช. ส่วนกลางเข้ามาสนับสนุน

“กระบวนการดังกล่าวทำให้จากเดิมปัญหาที่ส่งมาทั้งหมด มากกว่าครึ่งไม่ต้องส่งมาที่ สปสช. ส่วนกลาง รวมถึงยังได้เกิดการทำงานร่วมกันในพื้นที่ เกิดการติดตาม อะไรที่แก้ได้ ใครจะช่วยรับทำตรงไหน อันนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นเคสที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการรับฟังความเห็นมากที่สุดใน ๑๓ เขตสุขภาพ” นพ.ปรีดา กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้ใช้เครื่องมือของ สช. ไปหนุนเสริมเรื่องการพัฒนาศักยภาพการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น หรือพื้นที่ (กปท.) โดยผ่านกระบวนการ ‘ธรรมนูญสุขภาพ’ ในระดับเขตสุขภาพ ซึ่งดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล ฯลฯ เข้ามาร่วม โดยมี สปสช. เขต ๘ อุดรธานี ทำหน้าที่เหมือนพี่เลี้ยง รวมถึงช่วยกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนขณะนั้นเกิดธรรมนูญสุขภาพในหลายตำบลกว่า ๑๐๐ แห่ง ซึ่งมีกรรมการ กปท. เป็นคณะทำงานธรรมนูญสุขภาพแต่ละพื้นที่

“ตอนนั้นกติกาชุมชนที่เกิดเป็นมติอะไรขึ้นมา เราก็สนับสนุนให้เกิดการแปลงธรรมนูญสุขภาพไปสู่การปฏิบัติ มีการทำเวิร์กชอปช่วยกันตั้งแต่เริ่มขาขึ้นไปจนถึงขาเคลื่อน เกิดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ทำให้การพิจารณางบประมาณของกองทุนตำบลชัดเจนขึ้น รวดเร็วขึ้น ซึ่งก็มีทั้งที่ทำได้ดีบ้าง ไม่ดีบ้างเป็นธรรมดา ล้มเหลวก็มี สำเร็จก็มี แต่ส่วนใหญ่มันก็กลางๆ ไปทางบวก และในทางโมเมนตั้มก็ทำให้เกิดการพัฒนา” รองเลขาธิการ คสช. อธิบาย

ด้วยความเข้าใจ สช. ในระดับหนึ่ง เมื่อเข้ามาสู่ตำแหน่งผู้บริหาร สช. ท่านเลขาธิการได้มอบหมายให้กำกับดูแลงานขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องถนัด ก็ช่วยกันกับน้องๆ บุคลากร สช. ขับเคลื่อนงานต่างๆ เช่น ขยายธรรมนูญสุขภาพตำบล สมัชชาสุขภาพวาระต่างๆ คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ฯลฯ แต่พอเจอโควิด-19 ทำให้หลายอย่างหยุดชะงักไปในช่วงแรก ที่ไม่สามารถลงพื้นที่ได้ แต่ก็ถือว่า วิกฤติเป็นโอกาส เมื่อมาตรการภาครัฐที่ลงไปยังชุมชนอาจไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ สช. ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมจึงประสานเพื่อนภาคีมาช่วยกันสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนในการใช้มาตรการชุมชนมาจัดการปัญหาโควิด-19 หนุนเสริมมาตรการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เกิดเป็น ‘แผนพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19’ เกิดความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ จัดวงปรึกษาหารือในท้องถิ่น และเกิดเป็นมาตรการชุมชน กระทั่งปักหลักเป็นธรรมนูญชุมชนสู้ภัยโควิด-19 ในหลายชุมชน ซึ่งต้องขอบคุณกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตลอดจนเทศบาล และ อบต.ต่างๆ ทั่วประเทศ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ บางแห่งก็พัฒนาไปไกลถึงขนาดกลายเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆ เช่น นครปฐมโมเดล คลองเตยโมเดล ฯลฯ

“ตอนนั้นหลายคน ทั้งคนในและคนนอกก็สงสัยว่าใช่ภารกิจของ สช. ไหม เราเลยต้องทำความเข้าใจว่าต้องคิดใหม่ว่า มันมีวิกฤต เราก็แปลงวิกฤตเป็นโอกาส เป็นโอกาสสร้างความเข้มแข็งชุมชน การมีส่วนร่วม และการสร้างกติกาชุมชน ลงพื้นที่ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรต้องใช้ระบบอื่นเข้ามาช่วย เพราะแบบเดิมการสร้างธรรมนูญชุมชน หรือข้อตกลงชุมชนนั้น เป็นเรื่องที่ชาวบ้านไม่ได้ให้ความสำคัญ ไม่มีแรงจูงใจให้พื้นที่มาทำ แต่พอครั้งนี้มีเหตุก็เลยอาจจะตอบโจทย์

“ในช่วงแรกยังไม่ได้ล็อกดาวน์เต็มที่ก็ยังมีเวลาให้พื้นที่ได้ทำ ก็เลยบอกภายใน สช. ว่าให้เสนอพื้นที่ไปเลย จัดวงปรึกษาหารือ มันมีมาตรการตรงนี้ลงไป ตกลงให้ช่วยกันดูแลชุมชน ป้องกันเฝ้าระวัง จะทำยังไงพื้นที่เขาไม่รู้ เพราะมาตรการบอกให้ทำ แต่ไม่ได้มีวิธีการลงมา ซึ่งมาตรการชุมชน กติกาชุมชน นี่ก็คือการสร้างการมีส่วนร่วม และทุกอย่างก็มีความเชื่อมโยงกับธรรมนูญทั้งนั้น” นพ.ปรีดา อธิบายเสริม

รองเลขาธิการ คสช. บอกต่อไปว่า หลังจากสถานการณ์ดังกล่าวก็มีคนรู้จัก สช. มากขึ้น และหน่วยงานต่างๆ ก็คงมองเห็นว่า สช. เป็นตัวกลางที่สามารถเชื่อมประสานหน่วยงานต่างๆ ได้ รวมถึงยอมรับเวลาเชิญไปพูดคุยแลกเปลี่ยน ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมเข้ามาแลกเปลี่ยน และมีความชัดเจนมากขึ้น

มากไปกว่านั้น คือการทำให้ สช. มีส่วนในการจัดการความทุกข์ หรือปัญหาของสังคมทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะสถานการณ์ปกติ หรือภาวะวิกฤต ไม่ใช่เพียงการมุ่งแต่เพียงเรื่องสมัชชาสุขภาพอย่างเดียว แต่บทบาทใดที่ สช. ทำได้ ก็จะบริหารจัดการทำให้มันเกิด ซึ่งทุกคนที่ทำก็จะมีโอกาสได้เชื่อมโยงไปสู่สิ่งที่อยากทำ เช่น ภาคเอกชนที่เห็นก็เอาสิ่งของมาสนับสนุนผ่านกลไกความร่วมมือนี้

“จริงๆ คือความร่วมมือแบบนี้ การทำงานกันแบบข้ามภาคส่วนควรจะมีมากขึ้นในสังคมไทย ซึ่งปัจจุบันมันอาจจะมีข้อจำกัดอยู่ เพราะในเมืองไทยเองคนยังไม่ค่อยชิน เพราะทำเองควบคุมเองมันก็ง่าย แต่ทำงานข้ามภาคส่วน การมีส่วนร่วมกับการมีส่วนร่วมแต่ไม่มีเจ้าภาพหลักมันใกล้เคียงกันมาก เนื่องจากทุกคนจะรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นเจ้าภาพ และก็คิดว่าตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบ รองเลขาธิการ สช. กล่าว

นพ.ปรีดา บอกว่า สช. เป็นองค์กรที่ดี และควรจะมีอยู่ในสังคม สช. ต้องทำงานร่วมมือกับ คสช. ให้เกิดศักยภาพสูงที่สุด และต้องขับเคลื่อนประเด็นใหญ่เชิงระบบมากกว่าประเด็นย่อย

“ถึงตอนนี้ สช. เกิดมา ๑๕-๑๖ ปีแล้ว สิ่งที่ควรทำก็คือ ต้องกลับไปทบทวนอุดมการณ์และเจตนารมณ์ ว่า สช. ยังสอดคล้องกับสังคมอยู่ไหม กระบวนการในการหาฉันทมติยังเป็นแบบนี้อยู่รึเปล่า ถ้าคำตอบคือใช่และองค์กรนี้ยังมีคุณค่าต่อสังคม ก็ต้องถามต่อไปว่า เครื่องมือทั้งหลายเท่าทันสถานการณ์หรือไม่ จำเป็นต้องทบทวนหรือไม่”

“ถ้าสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขายังใช่อยู่ เราอาจจะยังใช้สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาต่อไปด้วยรูปแบบวิธีการใหม่ๆ ที่อยู่ในบริบทการมีส่วนร่วม สช. ต้องพลิกแพลงให้มากขึ้น คือถ้ากระบี่อยู่ที่ใจ การรบก็ไร้รูปแบบตายตัว” นพ.ปรีดา ระบุ

สำหรับ นพ.ปรีดา แล้ว สช. ยังต้องเพิ่มเติมเรื่องการคิดนอกกรอบ (Lateral thinking) ควบคู่ไปกับการคิดแบบสร้างสรรค์ (Creative thinking) หากเราอยู่แต่ในกรอบ จะไม่เกิดวิธีการ หรือทางเลือกใหม่ ในขณะที่โลกเปลี่ยนไปเยอะแล้ว

“สช. จะต้องสร้างให้มีความน่าเชื่อถือ มีความชัดเจน มีข้อมูลวิชาการ มีหลัก แล้วก็มีความทันสมัย ไม่เช่นนั้น สช. จะกลายเป็นคนดีที่ถูกลืม” นพ.ปรีดา ทิ้งท้าย

 25 สิงหาคม 2566