มติ 'สมัชชาพังงาแห่งความสุข' ภาคีเครือข่ายประกาศเป้าจังหวัด เคลื่อนพังงาสู่ 'เมืองแห่งการเรียนรู้' ชุมชนจัดการตนเองอย่างมีส่วนร่วม
26 สิงหาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ภาคีเครือข่ายร่วมจัด "สมัชชาพังงาแห่งความสุข" ปีที่ 11 พร้อมประกาศมติผลักดันให้จังหวัดพังงากลายเป็น "เมืองแห่งการเรียนรู้ สู่ จังหวัดจัดการตนเอง"


เมื่อวันที่ 24 .. 2566 ภาคีเครือข่ายจังหวัดพังงาหลายหน่วยงาน ร่วมกันจัดโครงการสมัชชาแห่งความสุข "11 ปี สมัชชาพังงาแห่งความสุข" 7 หลักสูตรเรียนรู้ สู่ จังหวัดจัดการตนเอง โดยมี นายเถลิงศักดิ์ นุชประหาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วยตัวแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดพังงา ส่วนราชการ สมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ ผู้แทนภาคเอกชน เจ้าหน้าที่ ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจาก 8 อำเภอ จำนวนกว่า 650 คน เข้าร่วม ห้องประชุมโรงแรมภูงา .เมืองพังงา


ทั้งนี้ ภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันประกาศ "มติสมัชชาพังงาแห่งความสุข ครั้งที่ 11" โดยระบุว่า หมุดหมายต่อไปของเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดพังงา คือการผลักดันให้จังหวัดพังงากลายเป็น "เมืองแห่งการเรียนรู้ สู่ จังหวัดจัดการตนเอง" อันหมายถึงเมืองหรือชุมชนที่มีแผนและนโยบายส่งเสริมและพัฒนามนุษย์อย่างยั่งยืน จากความร่วมมือกันของหลากหลายองค์กรภายใต้มโนทัศน์สำคัญ คือ การทำให้ประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อมุ่งไปสู่การปฏิบัติจริงให้เกิดรูปธรรมในพื้นที่ และยกระดับความเป็นพลเมืองโลกที่ตื่นรู้ ด้วยมติสมัชชาพังงาแห่งความสุข ใน 5 ข้อ 


สำหรับมติฯ จำนวน 5 ข้อ ได้แก่ 1. สร้างกลไกร่วมจากหลายภาคส่วน ในการจัดทำแผนพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ สู่จังหวัดจัดการตนเองอย่างมีส่วนร่วม 2. เสริมศักยภาพและเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ 3. ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ประชาชนได้เข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง 4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ สนับสนุนชุมชนแห่งการเรียนรู้ และจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้แก่ครอบครัวและชุมชน ในการสร้างความสุขที่เป็นรูปธรรมให้เกิดขึ้นในพื้นที่ 5. ยกระดับเป็นนโยบายจังหวัดแห่งการเรียนรู้ โดยการพัฒนากลไก แบ่งปันต้นทุนสนับสนุนการเรียนรู้ที่ยั่งยืนซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด





เนื้อหาตอนหนึ่งในคำประกาศ ระบุว่า ประวัติศาสตร์และพัฒนาการขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดขึ้นในจังหวัดพังงา จะพบว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้เต็มไปด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา ภาษา กลุ่มชาติพันธุ์ และอาชีพ ปฏิบัติการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจึงต้องตั้งอยู่บนฐานของการให้ความเคารพความแตกต่างหลากหลายอย่างยิ่งยวด อย่างไรก็ตาม 'ภัยพิบัติสึนามิ' ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญผลักดันให้เกิดแนวคิดใหม่ สำหรับสร้างการมีส่วนร่วมดูแลถิ่นที่อยู่ของตนเอง


ในส่วนของภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดพังงา มีต้นทุนที่สำคัญ 3 ประการสำคัญ คือ 1. ความรักและหวงแหนถิ่นที่อยู่ เป็นสำนึกทางสังคม (social consciousness) ของคนในพื้นที่ นำมาซึ่งการร่วมแรงร่วมใจต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคอย่างไม่ย่อท้อ สำนึกที่ว่านี้มิได้จำกัดแค่ความรักในปิตุภูมิ (Patriotism) หรือดินแดนที่เป็นผู้ให้กำเนิดแต่ครอบคลุมไปถึงการหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ อัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่แสดงให้เห็นว่าชาวพังงามีความแตกต่างจากคนกลุ่มอื่นอย่างไร


2. ความเจ็บปวดร่วม เป็นบทเรียนจากคลื่นยักษ์สึนามิสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวอันเกิดจากความเห็นแก่ตัว ประสบการณ์แสนเลวร้ายที่สัมผัสได้ร่วมกันนำมาซึ่งความเข้าอกเข้าใจและเคารพกันมากขึ้น กลายเป็นเงื่อนไขสร้างความตระหนักถึงผลเสียของการแตกสามัคคีที่ไม่มีใครอยากย้อนกลับไปเป็นดังเดิมอีก


3. สร้างการมีส่วนร่วม คือทางออกที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาชุมชนมาอย่างยาวนาน ทักษะการประนีประนอมอย่างเข้าใจความสัมพันธ์ขององค์ประกอบ 3 ส่วนที่คอยค้ำยันโครงสร้างทางสังคมทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ให้สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้ตามบทบาทที่ควรจะเป็น จึงเป็นเครื่องมืออันล้ำค่าคอยประคับประคองให้พลังประชาชนเข้มแข็งพอที่จะต่อรองกับผู้ครองอำนาจในสังคมทุนนิยมได้




"แนวทางขับเคลื่อนสังคมของเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดพังงา บ่งชี้ชัดเจนว่าสิ่งสำคัญที่สุดของขบวนการขับเคลื่อนทางสังคม มิใช่แค่กลไกการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม งบประมาณดำเนินกิจกรรม หรือกลวิธีออกแบบยุทธศาสตร์พัฒนาเมืองที่มีความทันสมัย หากแต่เป็นเรื่องการ 'บ่มเพาะคน' จากภายในให้มีสำนึกทางสังคม รู้ร้อนรู้หนาวกับความเดือดร้อนของผู้คน เข้าใจการคิดเชิงระบบจนสามารถมองเห็นโลกอย่างเป็นองค์รวม และที่สำคัญคือต้องลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่ภายนอกอย่างเป็นรูปธรรมได้" เนื้อหาตอนหนึ่งในคำประกาศมติฯ ระบุ


ขณะเดียวกัน ภายในงานยังได้มีเวทีเสวนา "7 หลักสูตรการเรียนรู้ สู่ จังหวัดจัดการตนเอง" ซึ่งประกอบด้วย 1. หลักสูตรรวมคน สร้างเมือง ตามแนวคิดพังงาแห่งความสุข 2. หลักสูตรบ้านน้ำเค็ม: วางแผน ป้องกัน แก้ไขภัยพิบัติด้วยชุมชน 3. หลักสูตรเกาะยาวน้อย: สู่ความสุขร่วมของคนในชุมชน 4. หลักสูตรรมณีย์: จัดสรรทรัพย์ แบ่งปันสุข 5. หลักสูตรมอแกลนทับตะวัน: เข้าใจพหุวัฒนธรรม สร้างสรรค์พลเมืองโลก 6. หลักสูตรโคกเจริญ: สุขภาพดี วิถีโคกเจริญ 7. หลักสูตรนาเตย: สร้างกลุ่มอาชีพ ส่งเสริมคุณค่าวิถีชุมชน 


อนึ่ง การจัดงานสมัชชาพังงาแห่งความสุข มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกสมัชชา คณะทำงานพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ให้สามารถบูรณาการกับหน่วยงาน องค์กร ภาคีเครือข่ายต่างๆ ในจังหวัด ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ให้เข้าร่วมในกลไกและกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอย่างต่อเนื่อง และเพื่อสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนจังหวัดพังงา ที่พร้อมจะแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตชุมชนในทุกมิติ ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ รวมพลังทุกภาคีเครือข่ายในจังหวัดพังงา นำไปสู่จังหวัดจัดการตนเอง