
เตรียมปั้นเครือข่ายคนรุ่นใหม่ สู่ 'อาสาสมัครดิจิทัลประจำหมู่บ้าน' หนุนเป็นกลไกปิดช่องว่างชุมชน สร้างความรู้เท่าทันโลกออนไลน์14 มีนาคม 2565
ดีอีเอส จับมือ พม. ปั้นคนรุ่นใหม่ป้อนเครือข่าย "อาสาสมัครดิจิทัลประจำหมู่บ้าน" หรือ "อสด." หวังสร้างเป็นกลไกพัฒนาระดับพื้นที่ หนุนการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทัน-ปลอดภัย
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงความร่วมมือกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ประจำหมู่บ้าน เพื่อพัฒนากำลังคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ทั่วประเทศเข้ามาช่วยสนับสนุนภารกิจด้านดิจิทัลในระดับหมู่บ้าน สนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะในต่างจังหวัด มีความรู้ในการใช้ประโยชน์เครือข่ายออนไลน์ และไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ดีอีเอสจะพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ที่จะสามารถเป็นผู้เผยแพร่สื่อสร้างสรรค์ด้านดิจิทัลในชุมชน เช่น Youtuber หรือ Net Idol ด้านดิจิทัล เป็นต้น รวมถึงภารกิจอื่นๆ ที่สนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมดิจิทัลในระดับหมู่บ้าน โดยคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย อสด. ร่วมขับเคลื่อนภารกิจยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน ปิดช่องว่างทางด้านดิจิทัล พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
"จากนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่มีความห่วงใยประชาชนเกี่ยวกับปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์ ทั้งจากสถานการณ์ข่าวปลอม การฉ้อโกง หลอกลวง และปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ที่แพร่กระจายในวงกว้างตามพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดีย และอินเทอร์เน็ตของประชาชน ที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านทางออนไลน์มากขึ้น จึงเป็นที่มาของการขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างดีอีเอส กับ พม. ครั้งนี้" นายชัยวุฒิ กล่าว
นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีและสื่อเข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก นับเป็นความท้าทายของความเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัล อีกทั้งเยาวชนต้องมีทักษะ องค์ความรู้ และช่องทางในการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด ดังนั้นการร่วมเข้ารับการอบรมเป็น อสด. จะเป็นการสร้างพลเมืองดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบ และพร้อมจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้สังคมเกิดการใช้ประโยชน์จากดิจิทัล การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทัน และปลอดภัย มีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม
"พม.ให้ความสำคัญกับนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่และเป็นอนาคตของประเทศดังนั้น การสนับสนุนให้เด็ก เยาวชน จากสภาเด็กและเยาวชนในจังหวัดต่างๆ ในเครือข่าย พม. เข้ามารับการอบรมเป็นอาสาสมัครดิจิทัล จะสร้างให้เกิดเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับพื้นที่ โดยมีเป้าหมายการสร้าง อสด. ให้ครบทุกหมู่บ้าน" นายจุติ กล่าว
ด้าน น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดดีอีเอส กล่าวว่า การพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัล เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการปิดช่องว่างทางด้านดิจิทัลให้กับชุมชน ซึ่งความร่วมมือระหว่างดีอีเอส และ พม. ในการขยายเครือข่าย อสด. โดย พม. ได้คัดเลือกเยาวชนที่มีความรู้ ความสามารถ มีจิตอาสา และดีอีเอส คัดเลือกเครือข่าย อสด. เครือข่ายศูนย์ดิจิทัลชุมชน นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ เพื่อมาพัฒนาเติมความรู้ ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่เป็น อสด. ประจำหมู่บ้าน อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายในการปฏิบัติงานร่วมกันในระดับพื้นที่
"เรามีเป้าหมายขยายเครือข่ายความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้มี อสด. ครบทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อเป็นตัวแทนของกระทรวงฯ ในระดับพื้นที่ และเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ ลดความตื่นตระหนกจากข่าวปลอม และลดการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ รวมทั้งเสริมสร้างทักษะความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการใช้ดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ และสามารถต่อยอดการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลให้มีความหลากหลาย ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน สร้างรายได้ให้กับชุมชน" น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าว
อนึ่ง สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 14 พ.ศ.2564 ได้มีฉันทมติในระเบียบวาระ "การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ" โดยขอให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ในการเสริมสร้างให้การสื่อสารในสังคมไทยเป็นไปอย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม พร้อมทั้งสร้างการรู้เท่าทันสื่อ ข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล (MIDL) ให้แก่ประชาชนโดยถ้วนหน้า ผ่านการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึง วิเคราะห์ สร้างสรรค์เนื้อหา นำไปใช้ และตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากสื่อต่างๆ ได้ด้วยตนเอง อันจะลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากการสื่อสารให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อการปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง และปลอดภัย ในวิกฤตสุขภาพ