10 ตำบลร่วมประกาศเจตนารมณ์ เป็น 'ศูนย์เรียนรู้รองรับสังคมสูงวัย' ตั้งเป้าพัฒนาชุมชนพึ่งพาตนเอง เพิ่มคุณภาพชีวิต-มีหลักประกันรายได้
28 สิงหาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

10 ตำบลจาก 4 ภาค ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ความพร้อมเป็น "ศูนย์เรียนรู้การพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในการเตรียมรองรับสังคมสูงวัย" มุ่งขยายผลกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม สู่รูปธรรมในพื้นที่ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนในชุมชน


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สำนักประสานนโยบายรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.) เปิดเวทีถอดบทเรียนการพัฒนาศูนย์เรียนรู้รองรับสังคมสูงวัย จากพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดพิจิตร กาญจนบุรี อุบลราชธานี และ ตรัง เมื่อช่วงวันที่ 23-25 ส.ค. 2566


ทั้งนี้ ในพื้นที่ 10 ตำบล ซึ่งประกอบด้วย ต.วัดขวาง ต.ลำประดา ต.บ้านนา ใน จ.พิจิตร, ต.ไทรโยค ต.บ่อพลอย ใน จ.กาญจนบุรี, ต.บุ่งหวาย ต.โนนโหนน ต.คูเมือง ใน จ.อุบลราชธานี และ ต.บางด้วน ต.บ่อหิน ใน จ.ตรัง ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ความพร้อมเป็น ศูนย์เรียนรู้การพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในการเตรียมรองรับสังคมสูงวัย


สำหรับการที่ตำบลทั้ง 10 แห่ง ร่วมกันยกระดับเป็น "ศูนย์เรียนรู้รองรับสังคมสูงวัย" จะเป็นการพัฒนาศักยภาพและคุณค่าของชุมชนระดับตำบลในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ให้เป็นพื้นที่ที่เตรียมพร้อมระบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ชุมชนพึ่งตนเองได้นานที่สุด และส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขของประชากรทุกวัย มีหลักประกันรายได้ที่มั่นคงไปจนบั้นปลายชีวิต




ในส่วนของตำบลทั้ง 10 แห่งได้เล็งเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ โดยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอันดับ 3 ของโลก และอันดับ 2 ในระดับอาเซียน ดังนั้นเพื่อรับมือกับสังคมสูงวัย จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะรวมพลังกันเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าวแบบเต็มรูปแบบ และเป็นระบบอย่างทันท่วงที


ดังนั้นทั้ง 10 ตำบลจึงพร้อมทำหน้าที่เป็นศูนย์เรียนรู้ โดยรวบรวมข้อมูล ถ่ายทอดองค์ความรู้ บุคลากร เทคโนโลยี ที่จะนำไปสู่การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้สำหรับตำบลอื่นๆ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน และเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ


นอกจากนี้ ภายในเวทียังได้มีการร่วมหารือถึงในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แนวคิดการทำงานเพื่อลดความเลื่อมล้ำในชุมชน โดย การจัดตั้งกลไกคณะทำงาน การจัดทำข้อมูล การจัดตั้งกองทุน และการจัดทำแผนงาน แนวคิดการเรียนรู้ โดย กระบวนการทำงานแบบเป็นทางการ/ไม่เป็นทางการ การรับฟังความคิดเห็น การจัดเวทีแลกเปลี่ยน ศึกษาดูงาน ร่วมทั้งการสื่อสารทางสังคมในทุกรูปแบบ


รวมไปถึงการพึ่งพาตัวเองในระยะยาว คือ การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องโดยมีการติดตามประเมินผลทุกระยะ และการประสานการทำงาน งบกับแหล่งทุนภายนอก ตลอดจน กลไก/โครงสร้างการขับเคลื่อน คือ การทำงานร่วมของภาคีเครือข่าย 3 ภาคส่วน ทำงานร่วมทั้งแนวดิ่งและแนวราบ




ผศ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า สิ่งที่เห็นได้จากการดำเนินงานของทั้ง 10 ตำบลนี้ มีภูมิปัญญาที่มีคุณค่ามากในการทำงานเรื่องการรองรับสังคมสูงวัย โดยมีจุดแข็งคือการร่วมมือร่วมใจกันของคนในตำบล และเชื่อมโยงการทำงานกับระดับจังหวัด ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภายนอก ทำให้การเคลื่อนเรื่องนี้กระจายตัวมากขึ้น


"ทุกแห่งมีทรัพยากร ต้นทุนที่ดีมาก และอยากเห็นแต่ละตำบลมีการเชื่อมโยงระหว่างกัน ต่อยอดการทำงานด้วยกัน อันจะเป็นพลังในการขยับขับเคลื่อนสังคมสูงวัยในระดับประเทศได้" ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว


ด้าน นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร ผู้จัดการสำนักประสานนโยบายรองรับสังคมสงวัย กล่าวว่า เรื่องสังคมสูงวัยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งทุกพื้นที่ได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าเป็นการทำงานกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่การรองรับสังคมสูงวัยจะดำเนินงานเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตกับคนทุกวัย ในทุกมิติ


"ชื่นชมทั้ง 10 ศูนย์เรียนรู้ ที่ร่วมกันพัฒนามาในช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ได้ประสบการณ์ องค์ความรู้ที่พร้อมจะถ่ายทอดให้กับตำบลอื่นๆ และร่วมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับทุกวัยในตำบล" นางกรรณิการ์ กล่าว