ศาลปกครองพิพากษาคดี 'PM2.5' สั่งหน่วยงานรัฐจัดทำบัญชี 'PRTR' รายงานค่าฝุ่นพิษทุกแหล่งกำเนิด เปิดข้อมูลให้ประชาชนรับรู้-เข้าถึงได้
29 สิงหาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ศาลปกครองพิพากษาคดี PM2.5 สั่งกระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำ "PRTR" ทำเนียบข้อมูลการปล่อยมลพิษทุกแหล่งกำเนิด หลังภาคประชาสังคมรวมตัวฟ้องคดีทวงสิทธิอากาศสะอาด


เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2566 ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) หรือ PRTR ภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุด ในคดีที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, กรีนพีซ ประเทศไทย, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, สภาลมหายใจภาคเหนือ, สภาลมหายใจเชียงใหม่ และภาคประชาชน ร่วมกันฟ้องคดีเพื่อเร่งรัดการดำเนินงานแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5


สำหรับคำฟ้องในคดีฝุ่น PM2.5 ดังกล่าว มีสาระสำคัญ 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1. ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แก้ไขประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในบรรยากาศทั่วไป ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล (WHO-IT3) ตามที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว คือ ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) และค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 15 มคก./ลบ.ม.


2. ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อม ให้มีค่าปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดและเทียบเท่ามาตรฐานสากล


3. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อม ให้มีค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดและเทียบเท่ามาตรฐานสากล


4. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) และมีการกำหนดให้ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย




อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองได้พิพากษายกฟ้อง ในประเด็นการออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่ามาตรฐานสารเจือปน ฝุ่น PM2.5 ในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เนื่องจากเป็นอำนาจของฝ่ายปกครองในการพิจารณาที่ศาลไม่อาจก้าวล่วง


ขณะที่ประเด็นการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปให้เป็นไปตามมาตรฐานของ WHO ศาลเห็นว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าจริง แต่เนื่องจากได้มีการประกาศปรับค่ามาตรฐานแล้วในระหว่างการพิจารณาของศาลเมื่อ 8 ก.ค. 2565 หลังจากภาคประชาชนฟ้องเร่งรัดคดีนี้เพียง 3 เดือน ศาลจึงไม่จำเป็นต้องกำหนดคำบังคับในประเด็นนี้


นางเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยว่า กฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือ PRTR คือกฎหมายโดยตรงที่หลายประเทศทั่วโลกใช้แก้ปัญหามลพิษ ซึ่งจะแตกต่างจากกฎหมายสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ที่เป็นกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในภาพรวม แต่กฎหมาย PRTR จะใช้ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ โดยตรง ให้สามารถลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมได้


"หัวใจสำคัญของกฎหมายนี้ที่ปฏิบัติกันทั่วโลกคือ การให้เผยแพร่ข้อมูลปริมาณและชนิดของมลพิษจากทุกแหล่งกำเนิดทางเว็บไซต์ ให้ประชาชนรับรู้และเข้าถึงได้ง่าย ตามหลักสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน กฎหมายนี้จะทำให้เกิดฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่รวมทุกประเภทแหล่งกำเนิดมลพิษ ชนิดและปริมาณของมลพิษไว้ที่เดียวกัน ที่ให้ทุกหน่วยงานและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ประเทศไทยควรต้องมีการใช้กฎหมาย PRTR โดยเร็วเพื่อจะได้แก้ปัญหามลพิษอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นางเพ็ญโฉม ระบุ


นายสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คำตัดสินของศาลปกครองในครั้งนี้ ถือเป็นการวางมาตรฐานคดีด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศที่มีผลกระทบต่อประชาชนคนไทยในวงกว้าง ซึ่งเราจะติดตามตรวจสอบให้รัฐมีมาตรการที่ชัดเจนในการลดฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป และจัดทำ PRTR ให้เป็นไปตามคำพิพากษา


"สำหรับบางประเด็นที่ศาลยกฟ้อง เช่น การกำหนดค่ามาตรฐานจากปลายปล่องโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดฝุ่น PM2.5 จากต้นทาง เรามีสิทธิยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน เพื่อให้ศาลสูงตัดสินให้เป็นบรรทัดฐาน โดยจะทำการปรึกษากับภาคประชาสังคมในการอุทธรณ์ต่อไป" นายสุรชัย กล่าว


ด้าน น.ส.อัลลิยา เหมือนอบ นักรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า แม้ภาคประชาชนจะชนะคดีในครั้งนี้ แต่งานของเรายังไม่เสร็จจนกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะหมดไป โดยหลังจากนี้ภาคประชาสังคมจะยังคงจับตาการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่ ในเรื่องการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่กำลังทำลายคุณภาพชีวิตของประชาชน และเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่มีความจริงจัง และลงมือจัดการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะการปกป้องสุขภาพของประชาชนเป็นวาระเร่งด่วน


น.ส.อัลลิยา กล่าวอีกว่า หลังจากนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมจะจับตาและติดตามงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ตามคำตัดสินของศาลปกครอง ไปพร้อมกับการรวบรวมแรงสนับสนุนจากภาคประชาชน เพื่อผลักดันกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม (PRTR) ผ่านทางเว็บไซต์ thaiprtr.com เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีฐานข้อมูลมลพิษของประเทศไทย และประชาชนทุกคนต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้อย่างแท้จริง