พูดคุยกับ ‘สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล’ ภารกิจสร้างสุขภาวะดี ที่ไม่ใช่แค่ ‘ทำเพื่อเสร็จ’ แต่ต้อง ‘ทำให้สำเร็จ’

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.



สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล เป็นหนึ่งในคณะ ผู้บุกเบิก สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เขาอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการกอปรร่างขึ้นรูป องค์กรสานพลัง และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดัน พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

 

ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปี ที่ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีผลบังคับใช้ สุทธิพงษ์เป็นบุคคลที่อยู่ในทุกจังหวะของการขับเคลื่อน เขาอยู่ในทุกประวัติศาสตร์ของการตรากฎหมายฉบับนี้

 

สุทธิพงษ์จำกัดความว่า พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 คือ พ.ร.บ. การมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน

 

นอกจากเครื่องมือ วิธีการ และเป้าหมายสูงสุดคือการ สร้างสังคมสุขภาวะดี ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยัง ไม่มีบทลงโทษแต่จะไปใช้บทกำหนดโทษจากกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

นี่จึงนับเป็นกฎหมายที่ช่วยหนุนเสริมให้ทั้งรัฐ ประชาชน ชุมชน ฯลฯ ใช้ประโยชน์และสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ถือเป็นจุดแข็งและเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2550 

 

ขณะนั้นมีประชาชนสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ถึง 4.7 ล้านคน สุทธิพงษ์ เล่า แต่ถึงแม้ว่าจะมีคนเห็นด้วยมากขนาดนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่รัฐสภาจะเปิดไฟเขียว

 

เบื้องหลังความสำเร็จ คือการที่ สุทธิพงษ์มีโอกาสได้ ปิดห้องคุย กับ สนช. 3 ท่าน อันประกอบด้วย น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน และนายประพันธ์ คูณมี 

 

"พวกเราผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ มาหลายปี แต่ก็ไปไม่ถึงไหน จนกระทั่งได้เจอกับผู้ใหญ่ทั้ง 3 ท่านนี้ ผมบอกท่านไปว่ากฎหมายฉบับนี้มีประชาชนสนับสนุนมากถึง 4.7 ล้านคน ตลอดจนบอกเล่าที่มาและหลักการสำคัญของกฎหมาย ท่าน สนช. ได้ยินก็ตกใจ แล้วถามว่าทำไมที่ผ่านมาถึงไม่ผ่านการพิจารณา ก่อนจะเห็นพ้องร่วมกันว่าเป็น สิ่งที่ดี และ จำเป็น ต้องสนับสนุน สุทธิพงษ์ เล่า

 

ที่สุดแล้ว พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ก็ถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว 

 

ทว่าในปัจจุบัน สุทธิพงษ์ได้รับความไว้วางใจจาก นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ให้ดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหาร ในฐานะรองเลขาธิการ คสช. 

 

แน่นอนว่าในฐานะ ลูกหม้อ ขององค์กรสานพลังแห่งนี้ เขาได้นำทั้งความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ฝ่ายปฏิบัติ-หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติ มาบริหารองค์กรอย่างมีศาสตร์และศิลป์

 

ในฐานะที่ทำงานกับ สช. มาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มี สช. กระทั่งก่อกำเนิด สช. และผ่านการบริหารมาถึง 3 ยุคสมัยเลขาธิการ

 

สุทธิพงษ์ เล่าว่า จุดแตกต่างของเลขาธิการ คสช. 3 ท่าน เป็นไปตามห้วงเวลา สถานการณ์ และภารกิจในขณะนั้น โดยเริ่มจาก นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ คสช. ท่านแรก ซึ่งมุ่งเน้นการตั้งองค์กรให้เข้มแข็งและเป็นที่รู้จักในสังคม จึงมีการวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพ 

 

ถัดมาเป็นยุคของ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ที่มุ่งเน้นไปยังเรื่องของการสร้างเครือข่ายภาคประชาชน เกิดเครือข่ายที่มีความหลากหลาย เกิดเป็นศูนย์ประสานงานต่างๆ ของสมาชิกสมัชชาสุขภาพในแต่ละพื้นที่ และรัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม โดยมีการจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการมากขึ้น

 

ปัจจุบันเป็นการบริหารในยุคของ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ที่เข้าสู่ตำแหน่งในช่วงที่ประเทศไทยเจอกับสถานการณ์โควิด-19 จึงมีการมุ่งเน้นในด้านการยกระดับองค์กรให้เป็นหน่วยงานสมรรถนะสูง มีการนำเทคโนโลยี ระบบข้อมูลดิจิทัลมาใช้ในสำนักงาน รวมถึงยังมีระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ที่เป็นซอฟต์แวร์และระบบที่ใช้ในการวางแผนการทำงานในองค์กร  

 

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 19 ก.ย. 2566 จะเป็นวันที่คณะผู้บริหาร สช. ที่นำโดย นพ.ประทีปจะหมดวาระลง ซึ่งทีมรองเลขาธิการฯ ก็จะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งลงด้วย

 

บรรทัดจากนี้ จึงเป็นบทสัมภาษณ์ที่จะเปลือยวิธีคิดและวิสัยทัศน์ของ สุทธิพงษ์ในฐานะรองเลขาธิการ คสช. ที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาระบบและกลไกเครื่องมือ รวมทั้งการบริหารองค์กร ที่จะนำไปสู่ ก้าวต่อไปที่ยั่งยืนของ สช.



 

ไม่ใช่แค่ ทำเพื่อเสร็จ แต่ต้อง ทำให้สำเร็จ

 

สุทธิพงษ์ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการรอยยิ้ม ซึ่งเป็นรอยยิ้มเดียวกับที่ภาคีเครือข่าย สช. ทุกภาคส่วน-ทุกระดับ ได้รับมาตลอดระยะเวลา 15 ปี อย่างไม่มีตกหล่น 

 

เขาเล่าว่า หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาได้รับการชักชวนจาก นพ.ประทีป ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ คสช. เป็นเพราะ ความเข้าใจ ในองค์กร สช. ตลอดจนมีความสัมพันธ์อย่างกลมเกลียวกับบุคลากรในองค์กร

 

สุทธิพงษ์ บอกว่า การทำงานในยุคปัจจุบันแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากในอดีต นั่นเพราะสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และไม่มีความแน่นอน แต่ที่สุดแล้ว แม้ว่าทุกอย่างจะมีความคลุมเครือ หรือที่เรียกกันว่า VUCA นั้น ก็จำเป็นต้องมีการวางแผน-พยากรณ์ คาดการณ์ความน่าจะเป็นจากฐานทุนที่มีในปัจจุบัน

 

สุทธิพงษ์ อธิบายว่า สถานการณ์สุขภาพที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไวนั้น มีผลกระทบโดยตรงต่อ สุขภาวะดี ของผู้คนในทุกมิติ ที่สำคัญยังถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญ ที่เชื่อมโยงมาสู่การทำงานและการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมและการสร้างนโยบายสาธารณะฯ ด้วย

 

ในมุมมองของสุทธิพงษ์ แล้ว สถานการณ์สำคัญที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญมีอยู่ด้วยกัน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. สถานการณ์สังคมสูงวัย ที่ประเทศไทยเดินเข้ามาสู่ขั้นสมบูรณ์แล้ว และกำลังจะไปสู่การเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในบางพื้นที่ 2. สถานการณ์ของเทคโนโลยี และสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นการเร่งให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง 3. สถานการณ์สิ่งแวดล้อม กับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เป็นผลกระทบในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา 4. สถานการณ์ของโรค ที่ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มากขึ้น ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน

 

สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีส่วนเชื่อมมายังการวางแผนกระบวนการมีส่วนร่วมนโยบายสาธารณะทั้งหมด ซึ่งล้วนสัมพันธ์กับแบบแผนการดำรงชีวิตของประชาชน และมีผลกระทบต่อกัน อย่างเช่น สังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ก็ต้องมีนโยบายสวัสดิการที่เน้นหนักและครอบคลุมมากขึ้นด้วย หรือแม้แต่โรค NCDs ที่คุกคามสุขภาพในปัจจุบัน แทนที่โรคติดต่อในอดีต เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ก็ต้องถูกนำมาคิดในสมการการทำนโยบายสาธารณะ สุทธิพงษ์ ขยายความ

 

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่นั่นก็ไม่ได้อยู่นอกเหนือศักยภาพของ เครื่องมือ ภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่จะเข้ามามีส่วนในการคลี่คลาย นั่นเพราะ หัวใจ ของกฎหมายฉบับนี้ คือ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ที่จะถูกนำไปใช้ตามบริบทและความต้องการของพื้นที่นั้นๆ

 

สุทธิพงษ์ อธิบายว่า พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้มี เครื่องมือ สำหรับสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็น หัวใจหลัก ในการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ที่จะนำไปสู่การสร้างสังคมสุขภาวะดีให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

 

นโยบายที่ถูกกำหนดมาจากภาครัฐเป็นสิ่งที่ดี แต่อาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีนโยบายสาธารณะจากภาคสังคมเข้าไปหนุนเสริมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด สุทธิพงษ์ ระบุ

 

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ นโยบายสาธารณะในประเด็น พหุวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีหลายมิติซ่อนอยู่ หากใช้นโยบายรัฐอย่างเดียวอาจจะแข็งไปและไม่สอดรับกับบริบทของพื้นที่ จึงต้องผสมผสานนโยบายจากภาคสังคมซ้อนเข้าไปด้วย เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำงานและขับเคลื่อนนโยบาย ทั้งแนวตั้งที่มาจากภาครัฐ และแนวนอนที่มาจากการขับเคลื่อนของภาคประชาชน

 

รองเลขาธิการ คสช. รายนี้ บอกว่า นโยบายสาธารณะ ไม่อาจส่งตรงมาจากรัฐเพียงด้านเดียว หากแต่ภาคประชาชนในฐานะที่ต้องอยู่กับนโยบายเหล่านั้น จำเป็นต้องได้รับโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกๆ ขั้นตอนของการจัดทำนโยบายด้วย

 

การมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายในทุกขั้นตอนของกระบวนการนโยบายสาธารณะของทุกภาคส่วน จะทำให้การขับเคลื่อนนำไปสู่ความสำเร็จมากกว่าแค่การ ทำเพื่อเสร็จไปเท่านั้นสุทธิพงษ์ ระบุ และอธิบายต่อไปว่า กระบวนการมีส่วนร่วมจากกลไกใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ จำเป็นต้องมีการกำหนด กลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน 

 

ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายนั้นๆ ได้รับประโยชน์และเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สุขภาวะดีที่ต้องการร่วมกัน

 

สุทธิพงษ์ ย้ำว่า ทุกวันนี้ การมีส่วนร่วมแล้วจบกันไปเลยอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากพลวัตรทางสังคมที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องยกระดับแนวทางการทำนโยบายสาธารณะให้มากกว่าการมีส่วนร่วม คือต้องทำให้ภาคีเครือข่ายเป็น 'หุ้นส่วน' นโยบายและกระบวนการขับเคลื่อน และนำไปสู่การเป็น 'เจ้าของร่วม' ซึ่งจะทำให้นโยบายสาธารณะที่ขับเคลื่อนมีความยั่งยืน

 

ดอกผลจาก เครื่องมือ-กลไกสานพลัง

 

กว่า 15 ปีที่ สุทธิพงษ์รับผิดชอบงาน ณ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทั่งก้าวขึ้นมาสู่ทีมบริหารในปัจจุบัน เขามีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะฯ จนเกิดเป็น ดอกผล จำนวนมาก

 

ผลพวงจากการผลักดันให้ประเทศไทยมี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 นำไปสู่การมี กลไกสานพลัง และ เครื่องมือ ที่ยังประโยชน์ได้จริง และหากว่ากันเฉพาะระยะเวลา 4 ปี ในยุคสมัยเลขาธิการ นพ.ประทีป พบว่าเกิดรูปธรรมไม่น้อย

 

อาทิ การพัฒนาระบบและกลไกการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565-2570 การจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ พ.ศ. 2564  การจัดทำมาตรฐานการวางแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2565 

 

ตลอดจนการขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสาธารณะในระดับยุทธศาสตร์และการปฏิบัติการที่พื้นที่ ซึ่งมีตัวอย่างการขับเคลื่อน ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2560 การปลุกให้ประชาชนคนไทยมีความเข้าใจในเรื่อง การตายดี และการจัดทำหนังสือแสดงเจตนา (Living will) ซึ่งถือเป็นสิทธิตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550




รวมถึงการมีส่วนให้มีการจัดทำ หลักเกณฑ์วิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA ที่เป็นเครื่องมือแสวงหา ทางเลือก-ทางออกของปัญหาในเชิงนโยบาย และช่วยสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนากับสิทธิชุมชน หรือล่าสุดคือ การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพโรงเรียน ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วประเทศ 

 

อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่า เราต้องชักชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ ตัวอย่างหนึ่งคือการผลักดันธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ซึ่งนับเป็นผลงานชิ้นเอกของ สช. ที่มีผลต่อสุขภาวะดีของพระสงฆ์ทั่วประเทศ เราต้องเปิดพื้นที่กลางให้พระสงฆ์เข้ามาร่วมเป็นภาคีเครือข่ายด้วยในทุกขั้นตอนของกระบวนการ พร้อมกับมุ่งเป้าหมายไปสู่การให้พระสงฆ์เป็นผู้นำสุขภาพในพื้นที่ สามารถดูแลพระสงฆ์ที่อาพาธกันเองได้ รวมไปถึงดูแลสุขภาวะชุมชน ขณะเดียวกันชุมชนก็จะดูแลวัดและพระสงฆ์อย่างถูกต้องร่วมกัน  

 

ผลสำเร็จจากการผลักดันจนได้เป็นธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ซึ่งเป็นนโยบายสาธารณะที่ทำให้มีกลไก และเครื่องมือที่ใช้ทำงานและขับเคลื่อนได้จริง รูปธรรมก็คือพระสงฆ์ทั้ง 2.4 แสนรูปทั่วประเทศ จะต้องได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพผ่านยุทธศาสตร์ 1 วัด 1 โรงพยาบาล ที่พระสงฆ์จะต้องได้รับการตรวจสุขภาพในเขตพื้นที่รับผิดชอบทุกรูป หรือเมื่ออาพาธและเป็นผู้ป่วย พระสงฆ์จะไม่ใช่ผู้ป่วยอนาถา แต่จะได้รับการดูแลรักษาอย่างสมศักดิ์ศรีซึ่งเป็นสิทธิตามปกติของคนไทยทุกคน"  

 

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ การจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งการสั่งการจากส่วนกลางอาจไม่เพียงพอ แต่เราต้องชักชวนคนในพื้นที่ ทั้งคนที่ได้รับผลกระทบและคนที่ทำให้เกิดฝุ่นพิษเข้ามาร่วมกันแก้ไข หลักการควรต้องเริ่มจากจุดนี้ นั่นคือให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง และร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เห็นตรงกัน หรือทำเป็นประเด็นที่จะยกระดับสุขภาวะในพื้นที่ได้ ส่วนวิธีการขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและบริบทขณะนั้น ต้องยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม" สุทธิพงษ์ ฉายภาพ

 

มากไปกว่ากระบวนการ คือการสร้าง คน ซึ่งทุนมนุษย์ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ สุทธิพงษ์ บอกว่า ประเทศไทยยังมีความต้องการ นักสานพลัง และเป็นภารกิจของ สช. ในการผลิตคนเหล่านั้นออกมา

 

องค์ความรู้ของ นักสานพลัง อยู่ในตัวของบุคคล ฉะนั้นลึกลงไปกว่าการสร้างคนก็คือการ รักษาคน หรือเรียกได้ว่า ผสมผสานภาคีเครือข่ายเอาไว้ให้ได้ โดยมีจุดเน้นคือต้องมีความหลากหลายและกลมกลืน 

 

กล่าวคือ การทำงานในอดีตมีบทเรียนว่า ในบางเรื่องที่เคยขับเคลื่อนไปแล้วนั้น แม้จะเป็นประเด็นเดิมหรือปัญหาเดียวกัน แต่เพียงแค่แตกต่างกันที่บริบทของพื้นที่ ก็ไม่สามารถนำรูปแบบเดิมมาใช้ได้ ฉะนั้นองค์ความรู้ที่หลากหลายและเปิดกว้างของนักสานพลังจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก จากนั้นก็เป็นเรื่องของการ ประยุกต์ หรือ ปรับแนวทาง การทำงานให้เหมาะสม

 

เหมือนกับเครื่องปั่นน้ำผลไม้ ที่ไม่ว่าจะใส่ผลอะไรเข้าไปก็ปั่นออกมาได้หมด ไม่ว่าจะเป็นน้ำส้ม น้ำมะนาว น้ำมะพร้าว กระบวนการมีส่วนร่วมก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการปรับใช้ ผสมผสานวัตถุดิบที่มีอยู่ ซึ่งก็คือภาคีเครือข่ายที่เข้ามาร่วม ที่มีการปรับใช้-ผสมผสานเข้ามาให้เป็นเนื้อเดียวกัน และเกิดเป็นกระบวนการ แนวทางใหม่ขึ้นมาที่เหมาะสมกับพื้นที่ เวลา และวัตถุประสงค์ใหม่ที่ต้องการขับเคลื่อน" สุทธิพงษ์ เทียบเคียงให้จับต้องได้

 

หนึ่งในผู้บุกเบิก สช. รายนี้ ยอมรับว่า รู้สึกภูมิใจกับการทำงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการทำให้คนเล็กคนน้อยในชุมชนมีโอกาสส่งเสียงความต้องการ และมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะ ที่ได้สนับสนุนให้มีพื้นที่ได้ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ที่ตรงกับความต้องการ 

 

นั่นทำให้เห็นภาพว่า สช. คือคนที่เข้าไปช่วยสานพลังของภาคีเครือข่าย และเป็นตัวเชื่อมกระบวนการต่างๆ ของภาคส่วนในสังคมให้เป็นเนื้อเดียวกัน 

 

Connection is power คุณสมบัติ CEO คนถัดไป



 

ในมุมมองของ สุทธิพงษ์ แล้ว ผู้ที่จะเข้ามาเป็น CEO หรือดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คสช. คนถัดไป จำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ เป็นนักฝันหรือจินตนาการสู่อนาคต เป็นนักสร้างเครือข่าย และสร้างพลังทีมเครือข่ายเป็น หรือที่มักพูดกันว่า Connection is power ซึ่งเป็นจุดเด่นและจุดแข็งของ สช.

 

วิสัยทัศน์ ในความหมายที่พูดคือ การเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ต่อเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพแบบมีพลวัตร มีปรับเปลี่ยนตามบริบท ซึ่งจะช่วยให้องค์กรปรับตัวและสามารถรับกับการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ส่วนนักฝันหรือนักจินตนาการ ต้องมีภาพความสำเร็จที่เกิดขึ้นทั้งระหว่างทาง และความสำเร็จปลายทาง และเข้าใจว่าการสร้างฝันให้เป็นจริงได้ ต้องมีเครื่องมือ กระบวนการที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมที่ดี

 

ส่วนเรื่องของนักสร้างเครือข่าย ก็ต้องเป็นคนที่มีคอนเนกชั่นที่หลากหลายกับกลุ่มภาคีเครือข่ายต่างๆ รวมไปถึงต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีในเครือข่ายด้วย และแน่นอนว่าต้องเป็นเครือข่ายที่หลากหลายระดับเท่าที่จะทำได้และไปถึง สุดท้ายการสร้างพลังทีมเครือข่าย คือสร้างทีมจากภายในองค์กรให้เป็นนักสานพลังที่มีแนวคิดในการออกไปสร้างทีมภายนอกองค์กร หรือสังคม เพื่อให้ทีมข้างนอกสะท้อนเข้ามายังทีมภายในของ สช. จะเป็นการทำงานเป็นเนื้อเดียวกัน หนุนเสริมกัน

 

"ซีอีโอคนต่อไปของ สช.  ต้องมีความยืดหยุ่นในการทำงาน มีความเด็ดขาดในการตัดสินใจที่ควบคู่ไปกับการประนีประนอม เพื่อให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่ดี แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ต้องตัดสินใจก็ต้องทำ อีกทั้งยังต้องเลือกทำงานกับภาคีเครือข่ายที่มี ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคสังคม ทั้งแบบเจาะจงและมุ่งเป้าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงไม่ปฏิเสธทุกโอกาสที่มีเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ และมีแนวคิดที่หนุนเสริมภายในองค์กรให้เชื่อมต่อกับการทำงานภายนอก เพราะภูมิทัศน์ทางนโยบายเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ใหม่ๆ และหากทำได้จะพลิกโฉม สช. ให้มีพลังเครือข่ายนโยบายสาธารณะและความทันสมัย เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูงตามไปด้วย" รองเลขาฯ สุทธิพงษ์ ระบุ

 30 สิงหาคม 2566