กขป.เขต 4 จับมือภาคี 'จ.ลพบุรี' พัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง ขยายพื้นที่ 'ธรรมนูญรับสังคมสูงวัย' ใช้ศักยภาพชุมชนเป็นฐานการดูแล
31 สิงหาคม 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

กขป.เขต 4 จับมือภาคีเครือข่ายใน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี เดินหน้าขับเคลื่อนประเด็น "สังคมสูงวัย-ลดอุบัติเหตุ" ภายใต้กรอบธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 


คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 4 ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ท่าวุ้ง เทศบาลตำบลโพตลาดแก้ว และภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรี เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มเปราะบางในชุมชน พร้อมขยายความร่วมมือและพื้นที่ธรรมนูญรองรับสังคมสูงวัย ใน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี


พร้อมกันนี้ได้มีการประชุมของ กขป.เขต 4 ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งประธานคณะทำงานทั้ง 4 ประเด็น ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มเปราะบาง, อาหารและยาปลอดภัย, อุบัติเหตุทางถนน และ สิ่งแวดล้อม เข้ามาร่วมรายงานผลการดำเนินงาน จากการการคัดเลือก 2 ประเด็นหลัก คือประเด็นผู้สูงอายุและอุบัติเหตุ  ภายใต้กลยุทธ์ Quick win เชื่อมโยงใน 60 อำเภอ ครอบคลุม 8 จังหวัด โดยคณะกรรมการได้ร่วมแลกเปลี่ยน พร้อมตั้งเป้ายกระดับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ให้เชื่อมโยงกองทุนระดับจังหวัด และกำหนดพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่าย




ขณะที่ นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าวุ้ง ได้ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ "การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางอย่างยั่งยืน" ซึ่งได้นำเสนอรูปแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยใช้ศักยภาพชุมชนเป็นฐานการดูแลผู้สูงวัย และนับเป็นโอกาสใหม่ของสังคมไทยที่ทำได้จริง


ด้าน น.ส.สุภาภรณ์ ดำรงพันธ์ และ น.ส.นภาพร แจ่มทับทิม ตัวแทนของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ร่วมนำเสนอมาตรการสำคัญและช่องทางในการขับเคลื่อน ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 โดยที่ประชุม กขป.เขต 4 ได้มีมติเห็นชอบรายงานความก้าวหน้า ที่ได้มีการนำมาตรการสำคัญของธรรมนูญฯ ไปเป็นแนวทางการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญในพื้นที่ ในประเด็นผู้สูงอายุและการแก้ไขอุบัติเหตุทางถนน


ขณะเดียวกัน กขป.เขต 4 ได้วิเคราะห์ความเชื่อมโยงมาตรการที่เกี่ยวข้องของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ มาเป็นกรอบแนวทางในการสร้างกลไกและพื้นที่กลาง ด้วยเครื่องมือสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วน และร่วมกันสร้างความเป็นเจ้าของ จนเกิดผลผลิตที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาสำคัญของพื้นที่