ภาคี 'นครสวรรค์' ร่วมถอดบทเรียน การสร้าง 'วัฒนธรรมสุจริต' ในตำบล ด้วยกลไก 'ธรรมนูญสุขภาพชุมชน' ปลุกกระแสคนตระหนักปัญหาทุจริต
4 กันยายน 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

สช. พร้อมหน่วยงานภาคี พอช. - ป.ป.ท.เขต 6 ร่วมถอดบทเรียนการสร้าง "วัฒนธรรมสุจริตระดับตำบล" จ.นครสวรรค์ ผ่านกลไกธรรมนูญสุขภาพ


สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกระบวนการถอดบทเรียนโครงการสร้างวัฒนธรรมสุจริตระดับตำบลของจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2566 โดย "ชุมชนวัฒนธรรมสุจริต" เป็นประเด็นที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และสํานักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขตพื้นที่ 6 ได้ร่วมกับ สช. ใช้เครื่องมือธรรมนูญสุขภาพในการสร้างวัฒนธรรมชุมชน ซึ่ง จ.นครสวรรค์ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565-2566

สำหรับการขับเคลื่อนงานดังกล่าว ได้มีการแบ่งบทบาทอย่างชัดเจน โดย สช. จะทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพแกนนำสภาในการทำธรรมนูญ ขณะที่ พอช. จะสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนให้กับสภา และ ป.ป.ท. จะมีหน้าที่สนับสนุนข้อมูลวิชาการด้านการปราบปรามทุจริต ซึ่งเป็นการช่วยกันทำงานแบบหุ้นส่วน พร้อมต่างคนต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยใช้ประเด็นงานนำ และนำเครื่องมือ กลไก ของแต่ละหน่วยงานมาบูรณาการร่วมกัน


ขณะที่กระบวนการในครั้งนี้ ได้มีแกนนำจาก 9 ตำบล เข้าร่วมเวทีถอดบทเรียน ได้แก่ 1. ต.หนองกระเจา อ.ชุมแสง 2. ต.วังบ่อ อ.หนองบัว 3. ต.เขาชนกัน อ.แม่วงก์ 4. ต.ศาลาแดง อ.โกรกพระ 5. ต.หูกวาง อ.บรรพตพิสัย 6. ต.ท่างิ้ว อ.บรรพตพิสัย 7. ต.พนมรอก อ.ท่าตะโก 8. ต.โคกหม้อ อ.ชุมแสง 9. เทศบาลตำบลชุมแสง อ.ชุมแสง

ทั้งนี้ จากการถอดบทเรียนพบว่าแต่ละพื้นที่สามารถขับเคลื่อนงานไปได้ค่อนข้างดี โดยกิจกรรมส่วนใหญ่คือการปลุกกระแสให้ประชาชนตระหนักต่อปัญหาการทุจริตและเข้ามาร่วมกันสร้างวัฒนธรรมสุจริต พร้อมมีการดึงเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมทำกิจกรรม เช่น การเดินรณรงค์ การประกวดเรียงความ วาดภาพ ขณะเดียวกันทุกตำบลได้มีการนำ "ธรรมนูญชุมชน" มาใช้เป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน