เรียนรู้เรื่องราว 'ธรรมนูญสุขภาพ' ผ่านบทเรียน 15 ปี พื้นที่ 'ภาคใต้' จาก 'ชะแล้' แห่งแรกของประเทศ สู่กติกากว่า 100 ตำบลในปัจจุบัน
8 กันยายน 2566
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

วงแลกเปลี่ยน "15 ปีธรรมนูญภาคใต้ จากชะแล้แลปัจจุบัน" ถูกจัดขึ้นที่ ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง เมื่อวันที่ 1-2 ก.ย. 2566 โดยมีผู้นำท้องถิ่น ภาคีเครือข่าย และทีมพี่เลี้ยงธรรมนูญ 25 ตำบลในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น "พื้นที่ก่อการครู" ที่มีการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพตำบลในภาคใต้อย่างโดดเด่น มาร่วมกันถอดกระบวนการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ

ทั้งหมดยังได้หารือร่วมกันในการขยายการทำงานประสานความร่วมมือกับภาคีพัฒนาในพื้นที่ พร้อมกับที่ได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนถึงกระบวนการขับเคลื่อนกติกา ข้อตกลง หรือ "ธรรมนูญ" ที่นำไปสู่ความสุขของชุมชน


สำหรับ "ธรรมนูญ" หากเอ่ยชื่อนี้แล้วหลายคนมักมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ไกลตัว เนื่องจากไปติดกับคำว่า "รัฐธรรมนูญ" ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งถือเป็นกติกาใหญ่ในการบริหาร ปกครอง กำหนดกรอบอำนาจหน้าที่และเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุกคน ขณะเดียวกันเนื้อในบางด้านก็ขัดกับข้อเท็จจริงกระทั่งกลายเป็นวิกฤตได้ด้วยเช่นกัน

หากแท้จริงแล้วคำว่า "ธรรมนูญ" นำไปปรับใช้ได้หลายรูปแบบ โดยเฉพาะในภาคใต้ได้นำไปวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่ไว้อย่างหลากหลาย เช่น ธรรมนูญชีวิต ธรรมนูญลุ่มน้ำภูมี ธรรมนูญองค์กร (มัสยิด) ส่วนพื้นที่ที่ดำเนินการก็มีตั้งแต่ ธรรมนูญระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด ส่วนชื่อที่ใช้เรียกขานก็แตกต่าง เช่น ฮูกุมปากัต ชันชี สัญญาใจ สัญญาประชารัฐ ข้อตกลง กติกาทางสังคม บันทึกความร่วมมือ เป็นต้น

ดังนั้นคำว่า "ธรรมนูญสุขภาพ" จึงถือว่าเป็นนวัตกรรมของไทย ในฐานะเครื่องมือปฏิรูประบบสุขภาพ เป็นกรอบ แนวทาง เป็นข้อตกลงร่วมกันของชุมชนที่มีต่อภาพอนาคต กระทั่งเป็นเครื่องมือสนับสนุนในการจัดทำแผนสุขภาพที่มีทิศทางร่วมกัน


ทั้งนี้ นิยามของ "ธรรมนูญสุขภาพ" จะหมายความถึงข้อตกลง ความฝันร่วมกันของคนในชุมชน ที่อยากเห็น อยากเป็น อยากมี เป็นภาพพึงประสงค์ เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีทั้งทางด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านปัญญา และด้านสังคม

ขณะที่คุณค่าของ "ธรรมนูญสุขภาพตำบล" คือเป็นภาพอนาคตที่คนในตำบลร่วมกันคิด กำหนดเป็นการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อมโยงคน หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในหมู่บ้าน เป็นการบ่งบอกว่าคนในตำบลมีความรักและมีความสามัคคีกัน

ส่วนตัวอย่างของ "ธรรมนูญสุขภาพตำบล" ในภาคใต้ เช่น นาทอน เกตรี ปากน้ำ ควนโดน จ.สตูล / กอตอตือร๊ะ หน้าถ้ำ แป้น จ.ปัตตานี / ชะแล้ แค จ.สงขลา / ร่มเมือง นาท่อม เกาะหมาก จ.พัทลุง / ท่าพญา นาตาล่วง จ.ตรัง / เขาพัง พุมเรียง เชี่ยวหลาน จ.สุราษฏร์ธานี / พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช / เกาะกลาง จ.กระบี่ 

เมื่อถอดความจากผู้นำหลายท่านในที่นี้ พบว่าหัวใจของการทำธรรมนูญสุขภาพ คือ กระบวนการมีส่วนร่วม ความรู้สึกเป็นเจ้าของ นำเอาต้นทุนทางสังคม ภูมิปัญญาที่มี ความฝันในการอยากให้ชุมชนเป็นอยู่ ปัญหาที่อยากแก้ไข มาออกแบบร่วมกันกำหนดเป็นภาพอนาคตของคนในตำบลร่วมกัน โดยหลักการแบบนี้ คือ "การทำนโยบายสาธารณะ" นั่นเอง


หากเปรียบธรรมนูญเป็น "พลุ" ดอกแรกของการจุดประกายให้เกิดการตื่นตัวไปทั่วประเทศอย่างเป็นทางการ ได้เกิดขึ้นที่ "ชะแล้" อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งที่นี่เรียกว่าเป็น "แห่งแรกของประเทศไทย" โดย "ธรรมนูญสุขภาพตำบลชะแล้" ได้ประกาศใช้เมื่อ 3 พ.ค. 2552 โดยใช้รูปแบบและแบ่งหมวดหมู่ตามกรอบใหญ่ๆ จำนวน 10 หมวด 60 ข้อ ขับเคลื่อนโดยแบ่งระบบสุขภาพชุมชนออกเป็น 14 ระบบ

พร้อมกันนั้นยังมีแกนนำแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ หรือเรียกว่ามีพัฒนาการมาหลายยุค ได้แก่ เกิดจากแรงขับในชุมชนที่อยากเห็นคนชะแล้มีความสุข การกำหนดความสุขร่วม การประสานภาคีมาเป็นเพื่อนร่วมเรียนรู้ อยู่บนความคาดหวังจากคำว่าแห่งแรกของประเทศไทย มีกลไกสำนักขับเคลื่อนธรรมนูญ ถอดบทเรียนปรับปรุงพัฒนา มีเพื่อนเกลอมาดูงานนำไปขยายผลไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง

สำหรับ "ชะแล้" ในยามนี้ ผู้ที่นำขับเคลื่อนธรรมนูญ แม้มีหลายท่านที่ไม่ได้เข้าร่วมก่อการตั้งแต่ตอนตั้งต้น แต่กลับพบว่ากติกาที่เขียนไว้ มาตรการที่ระบุ คนในชุมชนยังถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมอยู่เสมอๆ

ปัจจุบันในภาคใต้ มีธรรมนูญที่ประกาศใช้แล้วไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง ต่างมีการขับเคลื่อนธรรมนูญที่โดดเด่นเฉพาะด้านต่างกัน โดยได้ชวนเข้าร่วมเวทีถอดบทเรียนการขับเคลื่อนธรรมนูญ ได้แก่ ชันชีที่นาทอน สตูล, ธรรมนูญลดปัจจัยเสี่ยง (บุหรี่) ตำบลตรังมายอ ปัตตานี, ธรรมนูญรองรับสังคมสูงวัยตำบลท่าพญา ตรัง, ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุ "เขาพัง" สุราษฏร์ธานี, ธรรมนูญการจัดการท่องเที่ยวชุมชนตำบลหน้าถ้ำ และ ธรรมนูญสุขภาพบาโงยซือญาตี ยะลา

พื้นที่ตำบลเหล่านี้ ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนกระบวนการขับเคลื่อน การเชื่อมประสานงานกับหน่วยงาน การประสานแผนยุทธศาสตร์ และการดำเนินการตามมาตรการข้อตกลงที่ร่วมกันกำหนดขึ้นมา รวมถึงได้มาแลกเปลี่ยนถึงกระบวนการสร้างความเป็นเจ้าของธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนและสอดคล้องกับความต้องการร่วมกันของชุมชนอย่างแท้จริง


อีกตัวอย่างที่อยากหยิบยกขึ้นมาให้เห็น คือ "ตำบลเกาะหมาก" อ.ปากพยูน จ.พัทลุง ซึ่งเป็นตำบลเล็กๆ อยู่ห่างไกล คนนอกต้องตั้งใจมาเยือนถึงจะเดินทางมาถึงถิ่น โดยชุมชนที่นี่โดดเด่นในการลุกขึ้นมาทำกติกาชุมชน จัดทำเป็นธรรมนูญชุมชนน่าอยู่ในมิติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเล หรือเรียกได้ว่าเป็นชุมชนที่ "เปลี่ยนจากนักล่า เป็นนักสร้างโมเดล"

คำว่า "ช่องฟืนโมเดล" ถูกยกขึ้นมานำเสนอเป็นรูปธรรมร่วมในการจัดงาน "คนเมืองลุงหิ้วชั้นมาชันชี เพื่อกำหนดอนาคตตนเอง" ว่าเป็นพื้นที่เคลื่อนประเด็นความมั่นคงด้านอาหาร ทั้งมิติ โซนเขา โซนนา และโซนเล โดยชุมชนที่นี่ได้ลุกขึ้นมาจัดการตนเองด้านทรัพยากรชายฝั่งทะเล (เลหน้าบ้าน) ซึ่งเป็นปัจจัยที่กำหนดสุขภาพของคนช่องฟืน ที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ รายได้ และโรคภัยไข้เจ็บ จากวิกฤตที่เกิดในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการจับปลาที่ไม่มีข้อห้าม ต่างคนต่างจับ ทำให้ความสมบูรณ์ทางทะเลวิกฤตหนัก

"สุภาภรณ์ พรรณราย" หรือ "พี่แดง" แกนนำหลักในการทำกติกาบ้านช่องฟืน เล่าว่า ก่อนหน้านี้ทะเลบริเวณชุมชนช่องฟืน เปรียบเป็นทะเลร้างไร้มูลค่า ผู้คนอพยพออกไปทำมาหากินนอกถิ่นฐาน กระทั่งมีกลุ่มประมงพื้นบ้าน ได้มานั่งคุยกัน และเห็นว่าต้องร่วมกันฟื้นทะเลหน้าบ้านเราให้สมบูรณ์ จึงได้เริ่มทำกติกา ข้อตกลงง่ายๆ กระทั่งกลายมาเป็น "ธรรมนูญคนช่องฟืน" ที่มี 4 หมวด 22 ข้อ โดยประกาศเป็นกติกาในวันที่ 1 มี.ค. 2561

"จากวันนั้นถึงวันนี้ ความสมบูรณ์ทั้งทางทะเล คุณภาพชีวิต สุขภาพและรอยยิ้ม รวมถึงมิติการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง สัมผัสได้ทันทีที่มาเยือนยังช่องฟืน" พี่แดง บอกเล่า


สำหรับกระบวนการในครั้งนี้ บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้นำทีมเข้าไปหนุนเสริมกระบวนการกัน 2 คน หรือเรียกว่า "ไปน้อยแต่ได้มาก" โดยยังเป็นองค์กรที่เติมในหลักคิด และร่วมกันวางแนวทางการพัฒนานโยบายสาธารณะในประเด็นความมั่นคงด้านอาหาร โดยผ่านกลไกสมัชชาสุขภาพจังหวัดพัทลุง สภาพัฒนาเมืองลุง ร่วมกันขยายพื้นที่ทำกติกาชุมชน ธรรมนูญสุขภาพชุมชน ในพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลา และทะเลน้อย เพื่อเป็นตัวบ่งชี้ถึงการเคลื่อนเชิงนโยบายระดับจังหวัด ไปอีกอย่างน้อย 30 ชุมชนรอบทะเลสาบแห่งนี้

สุดท้ายแล้ว "ธรรมนูญสุขภาพ" จึงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แต่เกิดขึ้นแล้วเป็นที่ยอมรับ สามารถนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกันได้หรือไม่ นับเป็นโจทย์ท้าทายยิ่ง ซึ่งหากหลายพื้นที่เร่งรีบดำเนินการ จัดกระบวนการแบบรวบรัดให้แล้วเสร็จ กลับไปใช้วิธีการทำงานในรูปแบบเดิมที่เคยทำโดยปราศจากการมีส่วนร่วม หรือเขียนกันเองในหมู่ผู้นำไม่กี่คนแล้วนำมาประกาศใช้ พลังการมีส่วนร่วมย่อมไม่เกิด และทำให้ธรรมนูญสุขภาพมีค่าไม่ต่างจากกระดาษเปื้อนหมึก เช่นนี้แล้วหาใช่เป้าหมายของการดำเนินการไม่…