ส้มไทย 100% มีสารพิษตกค้าง กลุ่มเฝ้าระวังชี้ 'ตรวจเจอทุกลูก' ซ้ำครึ่งหนึ่งเจอ 'คลอร์ไพริฟอส' วัตถุอันตรายที่ถูกแบนไปแล้ว
15 มีนาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

เครือข่ายผู้บริโภค-ไทยแพน เปิดข้อมูลการเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างใน "ส้ม" พบตัวอย่างที่ปลูกในประเทศ 100% ตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ซ้ำกว่าครึ่งหนึ่งยังเจอ "คลอร์ไพริฟอส" ที่ยกเลิกการใช้แล้ว


สภาองค์กรของผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) เปิดเผยข้อมูลจากการเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสารเคมีเกษตรตกค้างในส้มและน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท แบ่งเป็นส้มจำนวน 60 ตัวอย่าง และน้ำส้ม 10 ตัวอย่าง โดยพบว่าส้มที่มาจากการปลูกในประเทศไทย จำนวน 41 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน (ปริมาณมากกว่า MRL) ทุกตัวอย่าง หรือคิดเป็น 100%

ขณะที่ส้มที่มาจากการนำเข้า จำนวน 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน (>MRL) 16 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 84.21% โดยมีเพียง 3 ตัวอย่างที่มีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท พบว่า 50% ของกลุ่มตัวอย่างมีการตกค้างของสารพิษ

น.ส.ทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการ มพบ. และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ เปิดเผยว่า ส้มเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภค แต่ส้มก็เป็นผลไม้ที่มีโรคและศัตรูพืชมาก ทำให้การเพาะปลูกต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชมากชนิดตามไปด้วย โดยปัญหาที่ตามมาคือ ทุกครั้งที่มีการสำรวจการตกค้างของสารพิษในส้มในหลายปีที่ผ่านมา จะพบการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด


สำหรับการสุ่มเก็บตัวอย่างส้มครั้งนี้ คณะทำงานได้เลือกช่วงเวลาระหว่างวันที่ 3-10 ม.ค. 2565 จากแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศ โดยครอบคลุมช่องทางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์ เป็นตัวอย่างส้ม 60 ตัวอย่าง และน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง รวมเป็น 70 ตัวอย่าง

ในส่วนของส้ม ได้เน้นเก็บตัวอย่างส้มให้ครอบคลุมสายพันธุ์ส้มที่จำหน่ายในช่วงเวลา ซึ่งจำแนกเป็นสายพันธุ์ทางการค้าได้ทั้งสิ้น 13 สายพันธุ์ และหากจำแนกตามแหล่งผลิตจะเป็นส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง ส้มที่ปลูกในประเทศไทย 41 ตัวอย่าง โดยส้มที่ปลูกในประเทศ มี 11 ตัวอย่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Good Agriculture Practices (GAP) และ 1 ตัวอย่างที่ได้รับ ThaiGAP

น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานไทยแพน กล่าวว่า ชนิดสารพิษตกค้างที่พบจากตัวอย่างส้มทั้งหมดรวม 48 ชนิด แบ่งเป็น สารกำจัดแมลง 31 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 13 ชนิด และสารกำจัดไร 4 ชนิด โดยสารกำจัดแมลงที่พบตกค้างมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ Imidacloprid, Ethion และ Profenofos ขณะที่สารป้องกันและกำจัดโรคพืช 3 อันดับแรกที่พบ คือ Benomyl/Carbendazim, Hexaconazole และ Prochloraz ส่วนสารกำจัดไรที่พบตกค้างมากที่สุด คือ Propargite

อย่างไรก็ตามในจำนวน 50% ของกลุ่มตัวอย่าง ยังพบการตกค้างของ Chlorpyrifos-ethyl ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ได้ยกเลิกการใช้แล้ว โดยพบตกค้างในส้มที่ผลิตในประเทศ 22 ตัวอย่าง และส้มนำเข้า 8 ตัวอย่าง

"กรณีที่พบการตกค้างของสารคลอร์ไพริฟอสที่แบนแล้ว ในตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ อาจเป็นไปได้ที่จะมีสารที่ค้างอยู่เป็นสต็อคของเกษตรกรหลังจากมีการแบนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการ" น.ส.ปรกชล กล่าว

นางสาวทัศนีย์ กล่าวเสริมว่า “หากดูจากรายงานผลการวิเคราะห์ในครั้งนี้ มันยังคงสะท้อนสถานการณ์ปัญหาการตกค้างของสารพิษในส้มว่าไม่ได้ดีขึ้น ส้มเกือบทุกตัวอย่างที่สุ่มมามีการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐาน ดังนั้นคงจะต้องขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้มีส่วนในห่วงโซ่ของการผลิตส้ม ได้โปรดช่วยกันหาทางเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน หรืออาจจะต้องถึงขั้นเปลี่ยนระบบการผลิตครั้งใหญ่หรือไม่”

ด้าน นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การสนับสนุนการทดสอบเรื่องส้มในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคได้มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจบริโภคสินค้าหรือบริการ และหลีกเลี่ยงสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

"กระทรวงสาธารณสุข ควรดำเนินการเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในน้ำส้มและผลิตภัณฑ์น้ำผักผลไม้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะจนมั่นใจว่าไม่มีการตรวจพบสารตกค้าง และประกาศให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลทุกครั้ง อีกทั้งต้องการเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการผลิตพืชอาหารอย่างเข้มงวดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตั้งแต่ต้นทางของการผลิตอาหาร" นายโสภณ กล่าว