'นพ.ชลน่าน' ชี้แจงนโยบายการตั้ง 'คกก.พัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ' แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง-ไม่ทับ 'คสช.' ย้ำนิยามสุขภาวะต้องมีครบทั้ง 4 มิติ12 กันยายน 2566
"นพ.ชลน่าน" ชี้แจงถึงนโยบายการแต่งตั้ง "คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ" เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แยกออกจาก "คสช." พร้อมย้ำนิยามสุขภาวะต้องครบทั้ง 4 ด้าน
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยในการชี้แจงนโยบายคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 ตอนหนึ่งว่า ได้เตรียมเสนอให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าไม่เป็นเอกภาพ
สำหรับคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะทำหน้าที่พัฒนาขับเคลื่อนระบบสุขภาพ บูรณาการทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน ซึ่งจะแยกจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ดูแลด้านยุทธศาสตร์และนโยบาย
"นิยามของสุขภาพดี คือมีสุขภาวะที่สมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกาย ทั้งทางจิตใจ ทางปัญญา และทางสังคม ต้องครบทั้ง 4 ด้าน ปัญหาที่เราเจอและทำให้คนไทยได้รับผลกระทบมาก คือสุขภาพทางปัญญาไม่ถึงพร้อม โกรธกันก็ด่ากัน แม้ในสภาแห่งนี้ก็เกิด ไม่ชอบใจกันก็ยิงหัวกัน และสภาวะทางสังคมที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพ" นพ.ชลน่าน กล่าวตอนหนึ่งในการชี้แจง
นอกจากนี้ นพ.ชลน่าน ยังได้กล่าวถึงประเด็นที่มีความกังวล เรื่องนโยบายการเป็นศูนย์กลางทางแพทย์ (Medical Hub) หรือ ศูนย์สุขภาพองค์รวม (Wellness Center) ในอาเซียน จะกระทบกับการให้บริการสุขภาพสำหรับประชาชนคนไทยทำให้เกิดการถูกแย่งชิง และดูแลได้ไม่ทั่วถึง โดยขอยืนยันว่าจะมีการให้ความสำคัญกับการเข้าถึงได้อย่างมีคุณภาพ ทั่วถึง เป็นธรรม ใช้บัตรประชาชนรักษาได้ทุกที่ ภายใต้ระบบเทคโนโลยีรองรับที่วางเอาไว้ ซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลกัน ส่งถึงกันตลอด
ขณะเดียวกัน ยังจะมีการให้ความสำคัญกับเรื่องการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ นวมินทราชินี 60 พรรษา (สอน.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภายใต้การกระจายอำนาจที่ตอบรับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในเรื่องบริการปฐมภูมิ โดยยอมรับว่าบางแห่งมีปัญหาจริง แต่บางแห่งก็ทำได้ดี และลดความแออัดโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในส่วนประเด็น 50 เขต 50 โรงพยาบาล ซึ่งมีคนคัดค้านอย่างมากว่าเหตุใดต้องสร้างโรงพยาบาลให้กับคนกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยต้องบอกว่าด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าประชาชนใน กทม. มีการติดเชื้อจนถึงขั้นเสียชีวิตอย่างอนาถาตามท้องถนน ขณะที่จังหวัดอื่นๆ เช่น จ.น่าน ไม่มี หรือ จ.บึงกาฬ ที่มีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรน้อยที่สุดก็พบกับเหตุการณ์ดังกล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ดังนั้นถ้าเจาะในเชิงลึก ระบบการดูแลสุขภาพใน กทม. ในขั้นปฐมภูมิและขั้นทุติยภูมิ มีความขาดแคลนและไม่สอดคล้องอย่างมาก ซึ่งต้องได้รับการแก้ปัญหาตรงนี้ เพื่อให้กลุ่มคนจำนวนไม่น้อยเข้าถึงบริการ ซึ่งแน่นอนว่าใน 50 เขต อาจไม่ใช่ทุกแห่งที่จะต้องสร้างโรงพยาบาลขึ้นมาใหม่ แต่มีการพัฒนาศักยภาพของหน่วยบริการขึ้นมาแทน แต่บางเขตจำเป็นจริงๆ โดยจะเป็นโครงการนำร่องเพื่อเบิกทาง และ Quick win ของ สธ.