ทำงานสุขภาพ ‘เชื่อมโยง-เชื่อมโลก’ ผ่านมุมมอง ‘ผศ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี’ กับบทบาท สช. บนเส้นทางนานาชาติ

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.



ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี คือ 1 ใน 3 รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำหน้าที่บริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ท่านเป็นบุคคลที่เครือข่ายสุขภาพนานาชาติคุ้นหน้าคร่าตาเป็นอย่างดี จากบทบาทนำในเวทีระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นเวทีสูงสุดของการกำหนดนโยบายสุขภาพระดับนานาชาติอย่าง สมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly: WHA) ไปจนถึงเวทีแลกเปลี่ยนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ 

 

จากบทบาทนักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัย และประสบการณ์จากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) มาจนถึงภารกิจที่ได้รับความความไว้วางใจจาก นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. ให้ดูแลงานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติ ที่เชื่อมโยงไปถึงความร่วมมือระหว่างประเทศ ของ สช

 

ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ คือบุคคลหนึ่งที่สามารถฉายภาพใหญ่ของความเชื่อมโยงจากไทยไปโลก และเชื่อมโลกเข้ามายังไทย ตลอดจนการลงลึกถึงระดับท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี รองเลขาฯ ท่านนี้จะช่วยสะท้อนให้เราได้เห็นภาพของระบบสุขภาพที่ไกลไปกว่าแค่เพียงร่างกายของเรา และใหญ่มากกว่าประเทศ

 

บรรทัดถัดจากนี้ คือบทสัมภาษณ์ของผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ในฐานะรองเลขาธิการ คสช. ที่จะขมวดแนวคิดการทำงาน รวมถึงทิศทางการขับเคลื่อนงานในอนาคตที่จะสอดผสานไปกับภาพใหญ่ในระดับสากล

 

มุมมอง สช. ยุคถัดไป ใช้โลกล้อมสู่ระดับชาติ-พื้นที่

 

ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ เริ่มต้นฉายภาพกว้างถึงการทำงานของทีมบริหาร สช. ชุดปัจจุบัน ซึ่งเปิดกว้างในเรื่องการช่วยกันคิด-ร่วมกันทำอย่างมีความลงตัว ทำให้บริหารได้ดีโดยที่ไม่เคยมีประเด็นความขัดแย้งเกิดขึ้นในทีม เพราะแม้ว่าบางครั้งความคิดเห็นจะไม่ตรงกัน แต่ก็สามารถพูดคุยกันจนหาข้อสรุปร่วมกันได้ และเมื่อทีมตัดสินใจจะทำอะไรแล้ว ทุกคนก็จะเข้ามาช่วยกันเพื่อให้บรรลุภารกิจนั้นๆ ประเด็นเหล่านี้ถือว่าเป็นจุดแข็ง

 

อย่างไรก็ดี หากจะวิพากษ์ตัวเอง เขามองว่าผู้คนในองค์กรต้องมีความถ่องแท้ความเข้าใจเรื่อง “Policy Development” แบบครบวงจรเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การทำความเข้าใจขั้นตอนการบริหารราชการแผ่นดินแบบลึกซึ้ง การพูดคุยกับภาคียุทธศาสตร์ด้านนโยบาย เช่น สำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัตน์) ต้องทำอย่างไร รวมทั้งขั้นตอนการเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะส่งผลต่อรูปธรรมการขับเคลื่อน



 

ลำดับแรกเลยคือ พวกเราต้องทำความเข้าใจ Policies Development Cycle กล่าวคือภารกิจเราไม่ใช่หยุดแค่จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายแล้วก็จบ ส่วนนโยบายนั้นใครจะเอาไปใช้ก็แล้วแต่ แบบนี้มันไม่ใช่หละ ซึ่งเราต้องเราต้องรู้กลยุทธ์ด้วย  เข้าใจระบบและขั้นตอนงานบริหารราชการแผ่นดินด้วย เพราะบางครั้งเราจะมองแค่ตัวเองเป็นตัวแทนส่งข้อเสนอจากภาคประชาชน แต่จริงๆ การทำหน้าที่ให้คำปรึกษานโยบายสาธารณะ คุณต้องรู้ คุณถึงจะเข้าไปเล่นได้ ผมคิดว่าอันนี้คือรูปธรรมผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว

 

ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ ยังให้ทรรศนะถึง สช. ในยุคต่อไป ที่จะขยายงานมากขึ้นโดยเชื่อมร้อยตั้งแต่ระดับโลก (Global) ลงมาจนถึงระดับชาติ (National) และระดับท้องถิ่น (Local) ซึ่งจะทิ้งส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ เพราะในบางโอกาสต้องใช้กลยุทธ์โลกล้อมประเทศ สู่การทำงานระดับพื้นที่ ตัวอย่างเช่น การปรับตัวชี้วัดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ตามพื้นที่ คือเปลี่ยนใหม่เป็น Localize SDGs ที่อยู่ในพื้นที่ ปฏิบัติหรือกินได้จริง

 

ถ้าถามว่าอะไรคือความท้าทายของ สช. ที่ตั้งอยู่มาถึง 15 ปี เรามีบุคลากรหลายคนที่อยู่มาตั้งแต่สมัยก่อตั้งองค์กร มีบางส่วนที่เข้ามาสมทบระหว่างทาง หรือมีคนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนทุกวันนี้สถานการณ์บริบทสังคมเปลี่ยนไปมาก การทำงานแบบเดิมหรือทำงานแบบที่เข้ามาในปีแรกๆ บางครั้งอาจไม่เวิร์ค

 

สำหรับผู้บริหาร เราต้องหาบุคลากรที่กล้าฝ่าวงล้อมจากสิ่งเดิม ทดลองแนวคิดและของใหม่ให้เจอ โดยทฤษฎีแล้วหากเราสามารถสร้างคนในองค์กรสัก 10-15%  ก็เพียงพอต่อการเป็นหัวรถจักร สร้างการเปลี่ยนแปลงได้  พอมีหัวรถจักรสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ขบวนที่เหลือก็ค่อยๆ เคลื่อนตามกันมาเองผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ มองทิศทาง

 

การมีส่วนร่วมทางสังคมไทยโดดเด่นในเวทีโลก

 

ในฐานะที่รองเลขาธิการ คสช. ท่านนี้ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานต่างประเทศเป็นหน้างานเฉพาะ จึงยังมีความเข้าใจและได้เห็นภาพสะท้อนกลับผ่านมุมมองของนานาชาติ

 

ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ เล่าว่า ขณะนี้กระแสเรื่องของกระบวนการการมีส่วนร่วมทางสังคม หรือ Social Participation เริ่มขึ้นหม้อ และปีหน้าจะมีการนำเอาประเด็นนี้เข้าไปเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญในมติต่าง ของสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly: WHA) ซึ่งแน่นอนว่า สช. คือหน่วยงานผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับบทบาทนี้ ที่ดำเนินงานบนเครื่องมือและกระบวนการมีส่วนร่วมอันหลากหลาย ภายใต้ ...สุขภาพแห่งชาติ .. 2550 ทำให้ สช. ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย จะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพด้วยภูมิปัญญาที่เราสั่งสมมาผลักดันเรื่องนี้ในมติสมัชชาอนามัยโลกในปีหน้า



 

เขาอธิบายว่า การขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมทางสังคมมีความตั้งใจที่จะจัดทำให้เป็นไกด์ไลน์ เพื่อให้ประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ทั้ง 194 ประเทศ นำไปประยุกต์สู่การปฏิบัติ โดยมีมิติที่คิดถึงการมีส่วนร่วมของสังคมมากขึ้น โดยประเทศไทยคือหนึ่งในตัวอย่างที่จะถูกบรรจุอยู่ในเอกสารทางวิชาการ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นคู่มือของกระบวนการมีส่วนร่วมทางสังคม เพื่อเป็นแนวทางให้แต่ละประเทศนำเอาไปใช้ในการสร้างเสริมระบบสุขภาพ


ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ อธิบายถึงสิ่งที่ประเทศไทยได้หยิบยกขึ้นมานำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่สร้างการมีส่วนร่วมในระบบสุขภาพจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะเพียงคนในแวดวงสาธารณสุขเท่านั้น หรือการใช้สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาเป็นหลักการขับเคลื่อนนโยบายด้วยพลังจาก 3 ภาคส่วน คือภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม

 

นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้นำเสนอคำว่าธรรมนูญสุขภาพซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีทั้งในระดับชาติ ระดับพื้นที่ และแบบเฉพาะประเด็น อันเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมสร้างกติกาเพื่อสุขภาวะที่ดี โดยนอกจากเครื่องมือของ สช. แล้ว ยังมีกลไกอื่นๆ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อันเป็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเข้ามาเสริมหนุนการทำงานของภาครัฐ และได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากในช่วงการรับมือสถานการณ์โควิด-19

 

รองเลขาธิการ คสช. ยังขยายความต่อถึงเรื่องของนวัตกรรมทางสังคม หรือ Social Innovation ว่าจะเป็นสิ่งที่เราหวังผลมากขึ้น เพราะ Social Innovation คือกระบวนการ (Process) ไม่ใช่ผลลัพธ์ (Outcome) ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องวิ่งหนุนเสริมประเด็นสุขภาพโลกที่สำคัญก็คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage: UHC) ที่เป็นมติระดับองค์การสหประชาชาติ (UN) หรือแม้กระทั่งเรื่อง SDGs หรือการสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Healthcare)

 

เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียว อย่างเรื่องระบบหลักประกันฯ ก็ไม่ใช่เรื่องของ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) หรือกระทรวงสาธารณสุข เพียงหน่วยเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกๆ คน ที่จะช่วยกันทำให้ระบบสุขภาพดีขึ้น และนี่คือบทบาทที่ท้าทายของเราผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ ระบุ



 

มุมมองสุขภาพมิติ 4 เสริมความรอบรู้ทางปัญญา

 

เมื่อกล่าวต่อถึงคำว่า สุขภาพ ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ ระบุว่าในปัจจุบัน WHO ได้นิยามเน้นที่ 3 มิติ คือ กาย, จิต และ สังคม เป็นส่วนใหญ่ หากสำหรับในประเทศไทยแล้วจะพูดถึงใน 4 มิติ ได้แก่คำว่า กาย, จิต, สังคม และ ปัญญา โดยในส่วนของมิติทาง ปัญญา อาจอธิบายได้ว่าเป็นวิชชา หรือความรู้แจ้ง เป็นความสามารถที่จะเข้าใจตนเอง เข้าใจความหมายของชีวิต และสามารถกลับมาเติมเต็มความเป็นมนุษย์

 

คุณจะมีความสุข หรือไม่มี ถ้าคุณร่ำรวยแต่ใจแคบ คุณก็ไม่มีความสุข แต่ถ้าคุณป่วยติดเตียงแต่ใจคุณหนักแน่น มีสติ ทุกอย่างก็จะดี ดังนั้นสิ่งนี้มันสำคัญมากกับภาพความสุขของมนุษย์และเชื่อมโยงกับ กาย จิต และสังคม โดยจะเรียกทั้งหมดนี้ว่า สุขภาพทางปัญญา หรือในภาษาอังกฤษที่เรียกกันว่า Spiritual Healthรองเลขาธิการ คสช. อธิบาย

 

เขากล่าวว่า ล่าสุดในวงการประชุมด้านสุขภาพระดับโลก ก็ได้เริ่มเห็นความพยายามในการขอขยายขอบเขตคำว่าสุขภาพหรือ ‘Health’ ให้เป็นคำว่า ‘Well-being’ หรือสุขภาวะที่นอกจากสุขภาพกาย (Physical Health) สุขภาพจิต (Mental Health) และสุขภาพทางสังคม (Social Health) แล้ว ยังเติมมิติของสุขภาพทางปัญญา หรือจิตวิญญาณ (Spiritual Health) เข้าไปด้วย ซึ่งก็จะเข้ามาสอดคล้องกับบทบาทของ สช. มากยิ่งขึ้น 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 .. 2565 ซึ่งเป็นกรอบทิศทางระบบสุขภาพของประเทศฉบับล่าสุด ก็ได้ยกระดับเรื่องของสุขภาพทางปัญญา ขึ้นมาเป็นหนึ่งหมวดสาระสำคัญด้วย

 

ภาพที่เราอยากเห็นคือการสร้างเสริมสุขภาพทางปัญญา ให้เข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตและความสุขของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย เพราะถ้าเรามีความเข้าใจตัวเอง มีความเข้าใจคนอื่น เกิดความเอื้อเฟื้อต่อกัน ปัญหาความแตกแยกและขัดแย้งต่างๆ ก็จะสามารถคลี่คลายได้อย่างสร้างสรรค์ ตัวอย่างหนึ่งที่ไทยทำได้ดีอยู่แล้ว ก็คือการมีเครือข่ายจิตอาสา อาสาสมัครกลุ่มต่างๆ เมื่อเกิดวิกฤตทุกคนก็ได้สลายความขัดแย้ง แล้วเข้ามาช่วยกันด้วยใจ ไม่หวังอะไรตอบแทน ซึ่งนี่ก็เป็นรูปธรรมของสุขภาพทางปัญญาผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าว



 

เขาให้มุมมองเพิ่มเติมว่า เรื่องของสุขภาพทางปัญญาอาจเป็นสิ่งที่สอนกันในห้องเรียนไม่ได้ เพราะไม่ได้เกิดขึ้นจากการนั่งอ่านตำรา แต่ต้องอาศัยการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ดังนั้นวิธีการสำคัญจึงต้องสร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันให้กับผู้คนในสังคม สร้างการยอมรับและเรียนรู้ถึงการพัฒนาจิตใจ สร้างความมั่นคงผาสุกจากภายใน และในท้ายสุดก็อยากให้เห็นเป็นทางเลือกของการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการเข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่น จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ประเทศพัฒนาไปได้

 

ทุกการทำงาน ทุกนโยบาย ต้องห่วงใยสุขภาพ

 

รองเลขาธิการ คสช. ยังเล่าเชื่อมโยงต่อไปในประเด็นของสิทธิมนุษยชนและหนึ่งในนั้นก็คือสิทธิด้านสุขภาพซึ่งนับเป็นอีกคีย์เวิร์ดสำคัญของการทำงานของ สช. ร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยสิทธิด้านสุขภาพนั้นไม่ใช่เรื่องของการรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นเรื่องของการที่ทุกคนจะมีสิทธิดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งตรงกับมาตรา 5 ของ ...สุขภาพแห่งชาติ .. 2550

 

ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประเด็นดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าเนื้อหาของกฎหมายสุขภาพ เพราะเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องสากลโลก (Global) และเกี่ยวข้องอยู่กับหลายภาคส่วน เช่น การเรียกร้องปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข หรือกรมควบคุมมลพิษเท่านั้น แต่จะเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน หรือที่เรียกว่า ‘Intersectoral’ และเป็นอีกหนึ่งกระแสของโลกที่สอดคล้องกับการทำงานของ สช. การใช้กระบวนการสมัชชาฯ ธรรมนูญฯ ต่างๆ เพื่อจัดเวทีให้ทุกภาคส่วนมาร่วมพูดคุยกัน

 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ Health in All Policies (HiAP) ที่เป็นการพูดถึงเรื่องของสุขภาพในทุกนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น นโยบายเรื่องของการจราจร นโยบายของสารเคมีการเกษตร นโยบายเรื่องของการเผาป่า ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง แต่กลับโยงมาส่งผลถึงสุขภาพทั้งหมด

 

ดังนั้น HiAP จึงเป็นข้อต่อที่ทำให้เราเห็นว่าทุกการทำงาน มันโยงมาที่เรื่องของสุขภาพได้ทั้งหมด เมื่อปัจจุบันกระแสเรื่องนี้มาแรงมากขึ้น มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อเรานำไปพูดที่ไหนในโลกก็สามารถสื่อสารทำความเข้าใจได้ ดังนั้นสิ่งที่พวกเราทำจึงกลายเป็นตัวอย่างที่ทำให้คนทั้งโลกเขาเห็นถึงความหมายของคำนี้ได้ อย่างเวลาเราพูดถึงมติสมัชชาฯ เราไม่ได้พูดถึงเรื่องการเจ็บป่วย แต่เราพูดหลายเรื่อง ทั้งแร่ใยหิน ฝุ่น PM2.5 หรือเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดนี้มันเกินขอบเขตเรื่องโรคภัยความเจ็บป่วย เพราะเราใช้คอนเซ็ปต์ของ HiAP” ผศ.ดร.ทพ.วีระศักดิ์ อธิบาย

 

รองเลขาธิการ คสช. ขมวดว่า การทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี เราจึงต้องไปดูว่านโยบายการพัฒนาประเทศในด้านใดที่จะเป็นผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ เช่น นโยบายการค้าระหว่างประเทศ นโยบายการนำเข้าไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความเกี่ยวข้อง แม้จะไม่ใช่เรื่องของนโยบายสุขภาพโดยตรงก็ตาม สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นโอกาสในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้ สช. ได้เกิดการทำงานที่กว้างขึ้น และมีบทบาทมากขึ้นด้วยเช่นกัน



 17 กันยายน 2566