การตัดสินใจในภาวะวิกฤต ‘เร็ว’ สำคัญกว่า ‘สมบูรณ์’ นักวิชาการเห็นพ้อง ต้องยกระดับ ‘ปฐมภูมิ’ ในเขตเมือง
17 มีนาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

วงถกนักวิชาการร่วมสรุปบทเรียน กระบวนการนโยบายสาธารณะในภาวะโควิด-19 ชี้สิ่งสำคัญในวิกฤตคือ "ความเร็ว" ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ต้องนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายให้ได้ เห็นพ้องจุดอ่อนระบบสุขภาพเมืองใหญ่ ต้องให้ความสำคัญระดับปฐมภูมิ


เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2565 ภาคีเครือข่ายหน่วยงานด้านวิชาการและงานวิจัย ได้ร่วมกันจัดเวทีสัมมนาวิชาการ "บทเรียนจากกระบวนการนโยบายสาธารณะ ในภาวะวิกฤตการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19" โดยได้มีการพูดคุยในหัวข้อ "นโยบายการจัดการโรคโควิด-19 ในระยะที่ผ่านมาทำให้เราสูญเสียโอกาสอะไรบ้าง? : บทเรียนราคาแพงจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 กับการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย"

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เปิดเผยว่า การควบคุมโควิด-19 ที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่าทำได้ดี และดีกว่าอีกหลายประเทศ เนื่องด้วยการวางรากฐานของระบบสุขภาพที่มีเดิม ช่วยให้สามารถป้องกันควบคุมโรคได้ อย่างไรก็ตามแม้จะทำได้ดี แต่เรายังทำได้ดีกว่านี้อีกมาก โดยสิ่งสำคัญคือเรื่องของการจัดการความรู้ (intelligence) ที่มีอยู่มากมายเอามาใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของระบบหลักประกันสุขภาพ ที่แม้จะชัดเจนว่าไทยพัฒนามาดี แต่บทเรียนจากโควิด-19 ก็แสดงให้เห็นว่ายังดีกว่านี้ได้อีก ตัวอย่างเช่นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่อยู่ภายใต้หลักการของการดูแลคนไทยเป็นหลัก ซึ่งกลายเป็นปัญหาในช่วงเวลาควบคุมโรคระบาด ที่มีแรงงานและคนอีกจำนวนมากที่อาจไม่ใช่คนไทย ทำให้หลังจากนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องกลับมาคิดและทบทวนใหม่อีกครั้ง

ขณะที่ นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ส่วนสำคัญของกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบาย คือการตัดสินใจภายใต้ความรู้ทางวิชาการ หรือ evidence base แต่ปัญหาคือการระบาดขนาดใหญ่ที่เป็นภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ สิ่งที่ต้องการคือความเร็ว ไม่ใช่ความแม่นยำหรือถูกต้องแบบ 100% ฉะนั้นข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ก็ต้องนำไปสู่การตัดสินใจให้ได้

"พวกเรานักวิชาการอาจมีจุดอ่อนที่ระแวดระวังเกินไป กลัวข้อมูลคุณภาพไม่ดี ไม่กล้านำไปใช้ แต่การตัดสินใจในภาวะฉุกเฉินต้องการข้อมูลที่รวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ แต่ต้องการเพื่อมาประกอบการตัดสินใจ เพราะเราคงไม่สามารถรอให้ผ่านกระบวนการขั้นตอนวิจัยตามปกติเพื่อที่จะตอบคำถามได้ จึงอยู่ที่เราจะสามารถใช้ dirty data with clean mind ได้อย่างไร" นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว

นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า ส่วนการรับมือโควิด-19 ในระยะแรก เราทำได้ดีเพราะมีจำนวนเคสน้อย แต่พอเจอระลอกถัดมาที่ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าเรารับมือกับการระบาดขนาดใหญ่ได้ไม่ดีนัก ที่สำคัญคือระบบสุขภาพที่เราภาคภูมิใจว่ามีตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไปจนกระทั่งระดับตติยภูมิ สิ่งนี้อาจได้ผลดีในมิติของภาคชนบท แต่ไม่ใช่ในเขตเมืองใหญ่

"เราอาจเคยมองระบบสุขภาพเขตเมืองใหญ่ว่าดีงาม มีความสมบูรณ์ มีการแพทย์ระดับซูเปอร์ตติยภูมิ แต่สุดท้ายจุดแตกหักคือระบบปฐมภูมิ อาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสส. ที่ต้องเจอสภาพเขตเมืองที่มีหลายรูปแบบ ทั้งชุมชนสลัม ตึกแถว ไปจนถึงออฟฟิศสำนักงานขนาดใหญ่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับระบบสาธารณสุขเขตเมืองขนานใหญ่ในอนาคต" นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว

ด้าน ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม ที่ปรึกษาสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเชื่อมโยงความรู้ทางวิชาการกับนโยบายนั้น มีจุดอ่อนที่ระแวดระวังมากเกินไป ซึ่งช่วงโควิด-19 กว่าจะออกแนวปฏิบัติต่างๆ ได้ในแต่ละครั้งต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน ในขณะที่ช่วงสถานการณ์นั้นเราต้องการข้อสรุปบางอย่างที่ชัดเจน อาจไม่ได้ถูกต้องตรงเป๊ะ เพราะต้องยอมรับว่าข้อมูลเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก

ผศ.นพ.กำธร กล่าวว่า ขณะเดียวกันยังมีปัญหาการติดขัดในเรื่องของขั้นตอนบางอย่าง โดยเฉพาะระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับ ที่ทำให้การทำงานนั้นขยับได้ลำบาก อย่างการที่แพทย์หรือพยาบาลไปทำตัวเป็นนักกฎหมาย คือเมื่อเป็นเรื่องโควิด-19 แล้วไปยึดติดกับตัวหนังสือทั้งหมด กังวลว่าเมื่อไกด์ไลน์ไม่ได้เขียนไว้แล้วจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้หรือไม่ ทั้งที่หากเพียงใช้ความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ที่เรียนมา ก็จะสามารถตัดสินใจไปเลยได้

"ทำนองเดียวกันกับมิติของงานวิจัย ที่ต้องมีทั้งกระบวนการทางจริยธรรม การรับรองต่างๆ ที่บางอย่างไปเข้มงวดจนขยับงานวิจัยไม่ได้ แม้ระยะหลังจะมีการปรับให้ไหลลื่นมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้กระบวนการวิจัยเรื่องโควิด-19 เราไปได้รวดเร็ว นอกจากนี้การให้ทุนก็ควรมีหลักการที่กว้างขวางมากขึ้น ครอบคลุมถึงงานวิจัยพื้นฐาน งานวิจัยต้นน้ำ ที่อาจไม่ถูกนำไปใช้ได้ทันที แต่สิ่งเหล่านี้จะเป็นรากฐานสำคัญของการเจริญเติบโตไปในวันข้างหน้า" ผศ.นพ.กำธร กล่าว

ผศ.นพ.กำธร กล่าวอีกว่า ส่วนในช่วงแรกของโควิด-19 ซึ่งเราภูมิใจที่มีระบบ อสม.ในต่างจังหวัดที่ทำงานได้ดี เพราะเป็นช่วงที่เคสไม่มาก และเหตุเกิดเฉพาะในช่วงเทศกาล แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป กลไกนี้จะทำงานได้ลดน้อยลง จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้มากขึ้น โดยสิ่งสำคัญขณะนี้คือความรอบรู้ด้านสุขภาพของผู้คนในสังคม ที่เราอาจอาศัยกลไก อสม. ส่งผ่านความรู้เข้าไปถึงในชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งได้มากขึ้น

"กลไกชุมชนจะนำมาซึ่งความเข้มแข็งในระดับรากฐาน ซึ่งความรอบรู้ด้านสุขภาพของคนในพื้นที่นั้นก็จะต้องเพิ่มมากขึ้นไปตามระยะเวลา ครอบคลุมทั้งในเขตเมืองและชนบท โดยเฉพาะเขตเมืองที่จะต้องพัฒนาให้มาก เพราะเป็นสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการระบาดของโรคอุบัติใหม่ ฉะนั้นระบบสาธารณสุขในเขตเมืองจะต้องเข้มแข็ง รับรู้วิธีป้องกันให้มากขึ้น" ผศ.นพ.กำธร กล่าว