ต่อยอดพื้นที่ความสุขด้วยธรรมนูญชุมชน ที่บ้านตะวันยิ้ม
(เรื่องเล่าจากพื้นที่)
... บัณฑิต มั่นคง
กิจกรรมการเรียนรู้ของบ้านตะวันยิ้ม ตำบลคุ้งตะเภา
จังหวัดอุตรดิตถ์
นับเป็นพื้นที่ต้นแบบเชิงนโยบายที่เกิดจากการพัฒนาและขับเคลื่อนสุขภาวะในด้านเด็กเยาวชน
ด้านเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัย
ที่นี่นับว่าเป็นพื้นที่กลางเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน
โดยเริ่มก่อรูปและสานพลังร่วมกับเครือข่ายต่างๆ มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘
ปัจจุบันได้ขยายแนวคิดการจัดทำภาพพึงประสงค์ครอบคลุมในระดับตำบล ทั้ง ๘ หมู่บ้าน
โดยมี รพ.สต. คุ้งตะเภา
ผู้นำชุมชนและทีมพี่เลี้ยงร่วมมือกันขับเคลื่อนงานอย่างเข้มแข็ง
ในปี ๒๕๖๔ ตำบลคุ้งตะเภา เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้นำแนวคิดการจัดทำธรรมนูญสุขภาพเพื่อใช้แนวทางการสร้างสุขภาวะในเด็กเยาวชนและด้านเกษตรปลอดภัยนั้น
การดำเนินงานในพื้นที่ถือว่าสอดรับกับทิศทางของธรรมนูญระบบสุขภาพ
ที่ระบุว่าธรรมนูญชุมชนถือเป็นกติการ่วม ข้อตกลงร่วมของคนในชุมชนที่เกิดจากการตระหนักร่วมกันของคนในชุมชน
โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาร่วม ชักชวนทุกภาคส่วนมาร่วมกันทำงาน ร่วมกันกำหนดเป้าหมาย ออกแบบอนาคตสุขภาวะของชุมชน อีกนัยยะหนึ่งนั้น ถือเป็นการกำหนดกรอบนโยบายการพัฒนาสุขภาวะตามบริบทและความต้องการของพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม
อัฑฒพงศ์ โมลี เจ้าของพื้นที่ความสุขบ้านตะวันยิ้ม
ทีมพี่เลี้ยงธรรมนูญสุขภาพชุมชนคุ้งตะเภา
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์
กล่าวในการประชุมสรุปบทเรียนการขับเคลื่อนธรรมนูญชุมชน เมื่อ ๒๒ กันยายน ๒๕๖๔
ที่ผ่านมา ว่า “กิจกรรมในบ้านตะวันยิ้ม
เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นพื้นที่ต้นแบบของการเรียนรู้ตำบลคุ้งตะเภา
ของกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.๒) ในประเด็นการพัฒนาเด็กและเยาวชน
ประเด็นอาหารปลอดภัย และประเด็นผู้สูงอายุ
ที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะ ได้แก่
อาชาบำบัด (สำหรับเด็กสมาธิสั้น ออทิสติก)
มีกิจกรรมที่เน้นการพัฒนาทักษะชีวิตเด็กในชุมชน พื้นที่เรียนรู้ทั้ง ๑๗ ไร่
ใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้การปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหารปลอดภัยในครอบครัว
(ระบบเกษตรอินทรีย์)”
และในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด–19 อัฑฒพงศ์ ยังบอกอีกว่า คณะทำงานได้วิเคราะห์ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเด็กเยาวชนในพื้นที่ตำบลคุ้งตะเภาไว้
เช่น เด็กใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์มากขึ้น
ไม่สนใจช่วยทำกิจวัตรประจำวันหรือกิจกรรมอื่นๆ ในบ้าน สมาธิสั้น
ดื้อรั้นไม่เชื่อฟัง เมื่อถูกห้ามไม่ให้เล่นมักมีพฤติกรรมก้าวร้าว ตัวผู้ปกครองเองมักไม่มีทางเลือกที่หลากหลายให้เด็กทำ
นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กมีความเครียดกับการเรียนออนไลน์ ทั้งไม่เข้าใจในบทเรียน ทั้งจากระบบการสอน จากอุปกรณ์หรือจากระบบที่ไม่ดี ทำให้เด็กขาดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง กระทั่งไม่อยากเรียนหนังสือ ในส่วนพฤติกรรมทางด้านสุขภาพที่เปลี่ยนไป เช่น เด็กมักกินอาหารและขนม ขณะที่เล่นมือถือ ทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น
นำมาสู่ทางออกที่เสนอร่วมกันเป็นธรรมนูญหรือกติกาไว้ข้อหนึ่งคือ ผู้ปกครองทุกคนจะร่วมกันแบ่งเวลา
มาจัดกิจกรรมเสริมทักษะการใช้ชีวิตของบุตรหลานตนเอง คิดค้นกิจกรรมที่สร้างสรรค์อื่นๆ
(แทนการไปรวมกลุ่มที่บ้านตะวันยิ้ม) และให้มีการนำบทเรียน ประสบการณ์
ความรู้มาแลกเปลี่ยนกันในระบบ Online ทุกวันพฤหัสบดี เวลา ๑๙.๐๐ น.
กิจกรรมการสร้างสุขภาวะให้กับเด็กและเยาวชนของบ้านตะวันยิ้ม
ถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงใน ร่างธรรมนูญสุขภาพตำบลคุ้งตะเภา
ที่คณะกรรมการได้ช่วยกันยกร่างขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่แห่งความสุขสำหรับเด็กๆ ในตำบลคุ้งตะเภาและพื้นที่ใกล้เคียง
ซึ่งการทำงานดังกล่าวได้ขยายการทำงานไปถึงเครือข่ายอีกหลายแห่งในอุตรดิตถ์ทั้ง
ไร่ลุงรัง บ้านนอกสบายดี เชื่อมกับสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นต้น
รูปธรรมความสำเร็จเล็กๆ ที่เกิดจากกระบวนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพที่คุ้งตะเภา
จังหวัดอุตรดิตถ์สะท้อนให้เห็นว่า การกำหนดนโยบายสาธารณะนั้นสามารถทำได้ทุกระดับ ยิ่งถ้าตั้งอยู่บนบริบทและความต้องการของพื้นที่นั้นๆ
รวมถึงกระบวนการทำงานมีส่วนร่วม นโยบายจะกลายมาเป็นข้อตกลงร่วมกันของคนในพื้นที่
สามารถร่วมกันปฏิบัติได้จริง
เป็นการคลี่ภาพ “พึงประสงค์ร่วม” ที่ทุกภาคส่วนนำไปใช้ในงาน
ในหน่วยงาน ในชุมชนท้องถิ่นได้ และตอกย้ำว่าเป็นเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อระบบสุขภาพของทุกๆ
คนได้จริง