ชวนแสดงความคิดเห็นร่างกฎหมาย 'ขจัดการเลือกปฏิบัติ' ฉบับประชาชน เสนอตั้ง 'สำนักงานใหม่' เพื่อคุ้มครอง ช่วยเหลือผู้ถูกเลือกปฏิบัติในทุกด้าน
18 มีนาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

รัฐสภาเปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง "พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. ..." ฉบับภาคประชาชน ผ่านเว็บไซต์ ผอ.มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ชวนร่วมแสดงความเห็นได้ตั้งแต่วันนี้


น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐสภาได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. ... ฉบับภาคประชาชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 จากนั้นจะนำเสนอนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินที่เสนอให้ตั้งสำนักงานขึ้นมาใหม่ เป็นสำนักงานด้านการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล จึงอยากเชิญชวนประชาชนไปร่วมแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎร https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=185

สำหรับร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เป็นไปตามที่ภาคประชาชนรวม 10 เครือข่าย ได้เข้าชื่อจำนวน 12,116 รายชื่อ เสนอขึ้นเพื่อให้เป็นหลักประกันว่าคนไทยทุกคนจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ เพศสภาพ เพศวิถี อายุ ความพิการ สภาพทางกาย หรือสุขภาพ การติดเชื้อเอชไอวี หรือเอดส์ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม อาชีพ การทำงาน การศึกษา อบรม ศาสนา หรือความเชื่อ หรือความคิดเห็นทางการเมือง โดยได้เสนอต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2564

น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า นอกจากกฎหมายฉบับภาคประชาชนแล้ว ยังทราบว่ากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ได้ยกร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. ... ฉบับภาครัฐ ซึ่งปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2565 โดยขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับภาครัฐได้ไปอยู่ที่คณะกรรมการกฎหมายของ ยธ. ซึ่งหากคณะกรรมการกฎหมายเห็นชอบก็จะเสนอ รมว.ยธ. เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

"ร่างกฎหมายของภาครัฐ มีความแตกต่างกับภาคประชาชน เช่น ของภาครัฐไม่ได้เสนอให้ตั้งสำนักงานขึ้นมาใหม่ เนื่องจากให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นสำนักงาน" น.ส.สุภัทรา ระบุ

ขณะเดียวกันฉบับของภาคประชาชน จะให้มีคณะกรรมการคุ้มครองและช่วยเหลือบุคคลซึ่งถูกเลือกปฏิบัติ (คชป.) ทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนและวินิจฉัยรายกรณีว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เสมือนคณะกรรมการกึ่งตุลาการ เพื่อจะเป็นอีกทางเลือกของประชาชน ไม่ต้องไปใช้สิทธิทางศาลที่อาจใช้เวลานาน

ส่วนร่างกฎหมายของภาครัฐ จะให้มีสภาส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล มีหน้าที่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อส่งเสริมความเสมอภาค และขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล