“เราจะเป็นแพลตฟอร์มกลาง” ทำความรู้จัก ‘นพ.สุเทพ เพชรมาก’ ผู้นำองค์กรสานพลังคนใหม่

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.


ก่อนจะเข้าสู่ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และผู้บริหารเบอร์ ๑ ขององค์กรสานพลังอย่าง 
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ชื่อของ นพ.สุเทพ เพชรมาก เป็นที่รู้จักในฐานะข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยตำแหน่งสุดท้ายคือ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ สธ.

การปฏิบัติภารกิจภายใต้ร่มของ สธ. ถือเป็นหนึ่งในจุดแข็งของ ‘นพ.สุเทพ’ สำหรับการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คสช. เนื่องจากการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ตลอดจนการขับเคลื่อนนโยบายให้ออกดอกออกผลนั้น จำเป็นต้องอาศัย ‘คอนเนคชั่น’ ในการประสาน ๑๐ ทิศ

ตั้งแต่การทำงานสอดประสานกับ Hard Power ในลักษณะแนวดิ่ง อย่างรัฐบาล-สธ. ไปจนถึงการถักทอความสัมพันธ์ใน ‘แนวราบ’ อย่างท้องถิ่น-พื้นที่-ชุมชน ซึ่งแน่นอนว่า อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการ สธ. ท่านนี้ ผ่านประสบการณ์ตรงและได้สะสมภูมิรู้-ความกลมเกลียวกับภาคีเครือข่ายในทุกระดับเอาไว้

สำหรับผู้ที่รู้จักมักคุ้นกับ ‘นพ.สุเทพ’ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นคนที่เข้าถึงได้ อยู่ง่ายกินง่าย และมีบุคลิกที่เรียกว่า ‘Nice’ คือสุภาพและเป็นมิตร

นิตยสารสานพลัง ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ จึงขอเชิญชวนทุกท่านทำความรู้จักกับ นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. คนใหม่ ซึ่งนับเป็นคนที่ ๔ ตั้งแต่ประเทศไทยมี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้มากขึ้น

--- ส่วนหนึ่งในการสถาปนา สช. ---
ตลอดระยะเวลากว่า ๑๖ ปี นับตั้งแต่ที่ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ ๒๐ มี.ค. ๒๕๕๐ พร้อมกับการสถาปนา สช. และบอร์ด คสช. ตามกฎหมาย ภายใต้ความมุ่งหวังที่จะสร้างสุขภาวะดีให้กับสังคมไทย

มาจนถึงขณะนี้ มีผู้ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คสช. มาก่อน นพ.สุเทพ จำนวน ๓ ท่าน ได้แก่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ (๒๕๕๑-๒๕๕๙) นพ.พลเดช ปิ่นประทีป (๒๕๕๙-๒๕๖๒) และ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ (๒๕๖๒-๒๕๖๖)

ในมุมมองของ ‘นพ.สุเทพ’ แล้ว เขายอมรับว่าเลขาธิการ คสช. ที่ผ่านมาทั้ง ๓ ท่าน ล้วนแต่เป็นรุ่นพี่ที่เป็น “บิ๊กเนม” ในวงการสาธารณสุข ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพ และได้วางรากฐาน สช. มาไว้เป็นอย่างดีทั้งสิ้น จึงถือเป็นเรื่องที่ท้าทายและเป็นโจทย์ตัวโตในการเข้ามา ‘รับไม้ต่อ’ จากผู้มากประสบการณ์ทั้ง ๓ ท่าน

สำหรับ นพ.สุเทพ แล้ว เขามีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะ ‘สานต่อ’ ภารกิจต่างๆ ที่สามารถแจกแจงออกมาเป็น ๓ กลุ่ม หนึ่งคือ ส่วนใดที่ดีอยู่แล้วก็จะต้องเดินหน้าทำต่อ หรือต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น ถัดมาคือ ส่วนใดที่ยังเป็นจุดอ่อนก็จะต้องพัฒนาขึ้นไป และสุดท้าย การมองหาและแสวงหาโอกาสในการสรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเติม

แน่นอนว่า ในยุคสมัยเลขาธิการ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ นั้น ได้สร้างฐานทุนที่ดีให้กับ สช. เอาไว้มากมาย โดยเฉพาะการพัฒนา-ปรับปรุง เครื่องมือสำคัญภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้เท่าทันยุคสมัยและมีความยืดหยุ่น พร้อมสำหรับรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

นั่นทำให้การทำงานต่อจากนี้ เส้นทางหลักจะเป็นการทำงานบน “แผนงานหลักของ สช. ฉบับที่ ๔ ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๗๐”  อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องวิเคราะห์และเกาะติดสถานการณ์ความผันผวนของโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ สช. เข้าไปหนุนเสริมหน่วยงาน-องค์กรเจ้าภาพ เพื่อร่วมกันปิดช่องโหว่ในมิติต่างๆ ที่ไม่นำไปสู่การทำลายสุขภาวะโดยรวมของประชาชน

ระบบสุขภาพมีความเป็นพลวัตร ไม่ว่า โลก หรือ โรค ล้วนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด รวมถึงปัจจัยต่างๆ ทั้งสังคมสูงวัย ความเป็นเมือง สิ่งแวดล้อม มลพิษ รวมถึงสถานการณ์โลกร้อน หรือโลกเดือดในปัจจุบัน เมื่อ สชเป็นหน่วยงานที่ต้องมีส่วนในการพัฒนานโยบาย ก็จำเป็นจะต้องให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเหล่านี้ นพ.สุเทพ ระบุ

อย่างที่กล่าวในข้างต้น แม้ ‘นพ.สุเทพ’ จะเป็นเลขาธิการ คสช. คนใหม่ป้ายแดง แต่เขาก็มิใช่บุคคลหน้าใหม่ในวงการสุขภาวะ และมากไปกว่านั้น หากโฟกัสเฉพาะการทำงานร่วมกับกลไก สช. ‘นพ.สุเทพ’ คนเดียวกันนี้ ยังเป็นหนึ่งในผู้ที่เข้ามาคลุกวงในกับ สช. นับตั้งแต่ช่วงการก่อร่างขึ้นรูปองค์กร ตั้งแต่สมัยสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพ (สปรส.) ในฐานะที่มีโอกาสเข้ามาช่วยราชการสำนักงานรัฐมนตรี ในช่วงปี ๒๕๔๙-๒๕๕๑

ในยุครัฐบาลขิงแก่ที่ นพ.มงคล ณ สงขลา เป็น รมว.สาธารณสุข ‘นพ.สุเทพ’ เป็นผู้หนึ่งที่ได้เข้ามาร่วมเป็นคณะทำงานสนับสนุนวิชาการ ซึ่งทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ ค้นคว้า และสรุปเรื่องให้รัฐมนตรีพิจารณา รวมถึงร่วมผลักดันและติดตามความก้าวหน้าของนโยบายสำคัญๆ เช่น การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา การผลิตพยาบาล ๓,๐๐๐ คน เพื่อจังหวัดชายแดนใต้ การเสนอพระราชบัญญัติจนผ่านสภา ได้แก่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก

และที่สำคัญก็คือ ‘พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐’
จึงทำให้ นพ.สุเทพ สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ออกแบบไว้เมื่อ ๑๖ ปีที่แล้วนั้น ‘ยังไม่ล้าสมัย’ และบางอย่างก็เขียนไว้ได้ดีล้ำหน้ากว่าในยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการชี้ทิศทางของระบบสุขภาพ ให้นิยามความหมายของสุขภาพ ที่ครอบคลุมทั้ง ๔ มิติ คือ กาย ใจ สังคม และปัญญา ซึ่งแม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็เพิ่งจะให้มุมมองที่ครบถ้วนนี้ ภายหลังมีกฎบัตรเจนีวาเพื่อสุขภาวะ (The Geneva Charter for Well-being) เมื่อปี ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา

เพราะมองสุขภาพในมุมมองใหม่ที่มีความกว้างขวางมากขึ้น โดยเรามองตั้งแต่ตอนทำกฎหมายว่า การดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน  ไม่ใช่แค่เรื่องของการจัดบริการรักษาพยาบาล เพราะจะทำให้รัฐและประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเพิ่มขึ้น  ต้องให้ประชาชนมีความรู้เท่าทัน มีส่วนร่วม  เป็นการสร้างนำซ่อม โดยเฉพาะมุ่งเน้นในการสร้างสุขภาพมากยิ่งขึ้น ...สุขภาพแห่งชาติ จึงได้พูดถึงการทำนโยบายสาธารณะที่ดี หรือหลักการของทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (Health in All Policies : HiAP) ที่จะช่วยให้เราไปถึงจุดสูงสุดคือการสร้างสังคมสุขภาวะได้ เขาให้ภาพ

ในขณะที่ตัวองค์กร สช. ก็ได้รับการออกแบบให้เป็นองค์กรที่มีขนาดไม่ใหญ่ ใช้งบประมาณไม่มาก บนความคาดหวังให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูง มีความคล่องตัว ขับเคลื่อนงานผ่านกลไกและเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ฯลฯ รวมถึงคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด คสช. ซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  มีหน้าที่ในการจัดทำนโยบายยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของประเทศ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ นพ.สุเทพ จำกัดความว่า โดยแก่นแล้วถือเป็นการออกแบบที่ ‘ก้าวหน้า’ เพราะจนถึงวันนี้ยังมีความ ‘ทันสมัย’ ที่สอดคล้องกับการทำงานปัจจุบันอยู่ ทว่าในรายละเอียดการดำเนินงานต่างๆก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนกันตามความเหมาะสมตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป
 

ประวัติ นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก
เกิดวันที่ ๒๗ ม.ค. ๒๕๐๗

การศึกษา
- แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (๒๕๓๑)
- เศรษฐศาสตร์บัณฑิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (๒๕๓๔)
- สาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการบริหารโรงพยาบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (๒๕๓๖)
- รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์ (๒๕๓๙)

การทำงาน
- ๒๕๓๑-๒๕๔๒ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางแก้ว และผู้อำนวยการโรงพยาบาลเขาชัยสน จ.พัทลุง
- ๒๕๔๓-๒๕๔๖ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่และเด็ก ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเขต ๑๑ จ.นครศรีธรรมราช
- ๒๕๔๗-๒๕๕๗ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ ๕ นครศรีธรรมราช
- ๒๕๔๙-๒๕๕๑ ช่วยราชการสำนักงานรัฐมนตรี
- ๒๕๕๗-๒๕๕๘ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
- ๒๕๕๘-๒๕๖๐ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค
- ๒๕๖๐-๒๕๖๓ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ ๖
- ๒๕๖๓-๒๕๖๖ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ ๑๒
- ๒๕๖๔-๒๕๖๖ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข

--- เราจะเป็น ‘แพลตฟอร์มกลาง’ ---
ตลอดกว่า ๓ ทศวรรษที่ผ่านมา ‘นพ.สุเทพ’ ผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญๆ มาเป็นจำนวนมาก

นับตั้งแต่การทำงานในระดับภูมิภาค ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่ง ทั้งใน พัทลุง และนครศรีธรรมราช ซึ่งได้ฝากผลงานต่างๆ เอาไว้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทีมสุขภาพระดับอำเภอ จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุระดับเขต/จังหวัด พัฒนาระบบการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ พร้อมขับเคลื่อนกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรคที่สำคัญๆ ในระดับเขตสุขภาพอีกหลากหลายโครงการ

เมื่อครั้งเข้ามาทำงานราชการอยู่ในส่วนกลาง ‘นพ.สุเทพ’ ยังมีประสบการณ์ในตำแหน่ง รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ ๖ และ ๑๒ ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งสุดท้ายคือ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการปฏิรูปเขตสุขภาพ ร่วมสะสางประเด็นโครงสร้างกรอบอัตรากำลังของหน่วยราชการส่วนภูมิภาค มาเช่นกัน

จากหน้างานที่หลากหลายทั้งการพัฒนาในระดับพื้นที่ การบริหารราชการ รวมถึงการประสานภาคการเมือง ทั้งหมดนี้พอจะทำให้เห็นภาพได้ว่า ‘นพ.สุเทพ’ คือบุคคลหนึ่งที่มีความเข้าใจระบบการทำงานทั้งใน “แนวดิ่ง” และ “แนวราบ” สามารถมองภาพการเชื่อมประสานเครือข่ายทั้ง ๓ ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของ “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ได้เป็นอย่างดี

ต้นทุนเดิมที่ สชมีอยู่แล้วดีมาก คือภาคีเครือข่ายจำนวนมากที่ขับเคลื่อนงานอยู่ในระดับพื้นที่ ในเชิงชุมชน สังคม หรือการเคลื่อนไหวในแนวราบ ที่มีความเข้มแข็ง เช่นเดียวกับภาคีด้านวิชาการที่ค่อนข้างดีเช่นกัน ซึ่งอาจยังหาแนวร่วมเข้ามาเพิ่มความเข้มแข็งให้มากขึ้น แต่ในขณะที่เราใช้เครือข่ายแนวราบในการขับเคลื่อนงาน ก็ต้องยอมรับว่าในบางครั้ง ในบ้านเรายังต้องเป็นการทำงานในแนวดิ่ง คือการเคลื่อนโดยภาครัฐ เขาวิเคราะห์ภาพ

อย่างไรก็ตาม นพ.สุเทพ อธิบายว่าใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ นั้นได้ออกแบบให้มีการทำงานทั้งในแนวราบที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ และในแนวดิ่ง โดยมีกลไกบอร์ด คสช. ซึ่งนับว่ามีความพิเศษ เพราะเป็นกลไกคณะกรรมการเพียงไม่กี่หน่วยงานที่มี “นายกรัฐมนตรี” เป็นประธาน พร้อมทั้งมี รมว.สธ. เป็นรองประธาน มีรัฐมนตรีอีก ๕ กระทรวง รวมถึงผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ที่ครบถ้วน ซึ่งสามารถช่วยนำเอาภาครัฐเข้ามาเชื่อมให้การขับเคลื่อนนั้นเข้มแข็งได้

แต่ตอนทำจริงก็อาจไม่ง่าย เพราะเราทราบกันดีว่าภาครัฐ ไม่ว่ากระทรวงหรือกรมต่างๆ ล้วนมีความเป็นนิติบุคคล ทุกคนมีหน้างาน มีตัวชี้วัด มีโครงการของตนเอง แต่ในเมื่องานที่เราขับเคลื่อนคือตัวนโยบาย ฉะนั้นเราต้องมองว่าจะไปร่วมกับเขาอย่างไร เพราะบางครั้งหน่วยงานเหล่านี้เขาก็อยากเคลื่อนนโยบายเพื่อแก้ปัญหาบางเรื่อง เนื่องจากการแก้ได้ต้องไปเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ดังนั้นเขาก็สามารถมาใช้แพลตฟอร์มของ สชที่เป็นกลไกกลางสานพลังเชื่อมภาคส่วนต่างๆ เหล่านี้ได้ นพ.สุเทพ ระบุ

ในฐานะอดีตข้าราชการภาครัฐที่เข้าใจถึงเนื้อในของแต่ละหน่วยงาน รู้จักผู้บริหารที่ให้การดูแลในแต่ละส่วน เขามองว่าจะสามารถนำจุดแข็งนี้ในการดึงกลไกภาครัฐเข้ามามีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนงานได้มากขึ้น เพื่อหนุนเสริมกันพอดีกับส่วนที่ สช. มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว นั้นคือเครือข่ายท้องถิ่น ภาคประชาชน ประชาสังคมต่างๆ ในระดับพื้นที่

นอกจากนี้เขายังมองว่ากรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ใน คสช. ล้วนเป็นผู้ที่มีพลัง มากด้วยปัญญา ความรู้ ประสบการณ์ ทั้งยังมีภาคีเครือข่ายในการทำงานที่สามารถมาขับเคลื่อนร่วมกันได้ จึงเป็นหน้าที่ของเลขาธิการ คสช. ว่าจะนำเสนอประเด็นนโยบายต่างๆ อย่างไร ให้ไปสู่การขับเคลื่อนจริง มีผลลัพธ์เป็นรูปธรรม

ต้องขอบคุณภาคีเครือข่ายทั้งหลายที่ทำงานร่วมกันมา ทำให้ตรงนี้กลายเป็นทุนที่สำคัญของ สชในฐานะองค์กรสานพลัง ซึ่งผมขอฝากตัวกับทุกๆ คนด้วย และชวนภาคีมาช่วยกันเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็ง พร้อมมองโอกาสในการเพิ่มเครือข่ายใหม่ๆ เพิ่มคนรุ่นใหม่ ร่วมกันสร้างคน สร้างงาน เข้ามาร่วมเสริมเติมเต็ม เพราะเราอยากให้ สชเป็นแพลตฟอร์มกลางที่ทุกคน และหน่วยงานต่างๆ สามารถเข้ามาใช้ตรงนี้ได้ ในการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพ หรือการพัฒนานโยบายสาธารณะ นพ.สุเทพ ระบุ

--- ‘เช็คสต๊อก’ พร้อมเปิดจุดเน้น ---
ในช่วงแรกของการทำงาน ‘นพ.สุเทพ’ บอกว่า จำเป็นต้อง “ขอเช็คสต๊อก” ก่อน นั่นหมายถึงการทบทวนหน้างานต่างๆ ของ สช. ที่มีอยู่หลากหลายเรื่อง ว่ามีการขับเคลื่อนไปแล้วอย่างไร เช่น มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ออกมากว่า ๙๐ มติ จากการจัดงานตลอด ๑๕ ปี ได้ถูกนำไปขับเคลื่อนจนเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากน้อยเพียงใด เพื่อนำกลับมาทบทวนกระบวนการพัฒนานโยบาย ซึ่งคล้ายกับการผลิตสินค้า ที่จำเป็นต้องวิเคราะห์ว่าจะทำออกมาอย่างไรเพื่อให้ผู้คนเกิดการนำไปใช้จริง

ขณะที่การเคลื่อนตัวไปสู่หน้างานในระยะถัดไป ได้มีการมองถึงประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพปฐมภูมิ การปฏิรูประบบสุขภาพ รวมถึงโจทย์สำคัญของ “การกระจายอำนาจ” ที่เขาเชื่อว่า สช. และ คสช. จะต้องทำหน้าที่ในการร่วมคิด ร่วมกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแนวทางด้านสุขภาพของประเทศ ภายใต้ระบบที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

ตอนนี้เราได้เห็นกระแสของการกระจายอำนาจ ไม่ว่าการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือวันข้างหน้าอาจมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีก ตรงนี้เป็นโจทย์สำคัญที่เราต้องมองว่าในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ตัวระบบสุขภาพจะเป็นอย่างไร  ทิศทางระบบสุขภาพจะเดินไปในทางไหน โดยการทำงานของ สชที่เราต้องไปเชื่อมกับหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วมาคิดด้วยกัน ฉะนั้นคงไม่ได้ทำงานทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น แต่เราเป็นกลไกกลางที่จะเชื่อมร้อย สานพลังร่วมกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เขาตีโจทย์การทำงาน

จากประสบการณ์ในระดับพื้นที่ ‘นพ.สุเทพ’ ยังยืนยันด้วยว่า ปัจจุบันผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่น จากเมื่อก่อนที่มักจะคิดถึงแต่โครงสร้างพื้นฐาน ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา ฯลฯ ทว่าทุกวันนี้ท้องถิ่นหันมาให้ความสนใจในเรื่องของสุขภาพกันมากขึ้น จึงเป็นโอกาสในการนำกลไก สช. เข้าไปสนับสนุนข้อมูล วิชาการ หรือวิธีการ และเมื่อท้องถิ่นสามารถขับเคลื่อนจนสำเร็จ ก็สามารถนำเอาสิ่งที่ดีเหล่านี้ออกมาเผยแพร่ เพื่อเสริมพลังให้เกิดการสานต่อไปเรื่อยๆ

นพ.สุเทพ ยังยกตัวอย่างถึงประเด็นสำคัญ นั่นคือปัญหาเรื่องของโครงสร้างประชากร การเข้าสู่สังคมสูงวัย ท่ามกลางเด็กที่เกิดน้อย ซึ่งการออกแบบนโยบายจะไม่ใช่เพียงสำหรับผู้สูงวัย แต่ต้องมองตั้งแต่การเกิด วัยเด็ก วัยเรียน วัยทำงาน จนถึงผู้สูงวัย แล้ววางโจทย์การพัฒนานโยบายด้านประชากรของประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เวลาอีก ๑๐-๒๐ ปีกว่าจะเริ่มเห็นผล แต่หากไม่เริ่มคิดเริ่มทำไว้ในตอนนี้ อนาคตย่อมไม่อาจรับมือได้ทัน

สำหรับเรื่องนี้ แน่นอนว่าทางรัฐบาลเองโดย สธ. ก็มีนโยบายออกมา ซึ่ง ‘นพ.สุเทพ’ ชี้ว่าเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทาง สช. ต้องเข้าไปร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องทันกับสถานการณ์ โดยเขายอมรับว่า สช. ไม่ใช่หน่วยงานที่มีอำนาจเชิงสั่งการให้ใครนำไปปฏิบัติ หรือเข้าไปขับเคลื่อนเองได้ แต่เชื่อว่าโดยหลักการแล้วหากเป็นนโยบายที่ดี และผู้เกี่ยวข้องได้มีส่วนเข้ามาร่วมคิดตั้งแต่ต้นทาง ย่อมทำให้เกิดการนำไปใช้ได้จริง

ขณะเดียวกันเขายังมองถึงหน้างานของ สช. ที่สามารถเข้ามามีส่วนเชื่อมร้อยกับนโยบายรัฐบาล หนุนเสริมการขับเคลื่อนร่วมกันได้ในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น “สถานชีวาภิบาล” ซึ่งสอดคล้องกับหน้างานการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ตามมาตรา  ๑๒ ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ หรือเรื่องของ “ดิจิทัลสุขภาพ” ซึ่งก็ตรงกับหน้างานตามมาตรา ๗ ที่มีการดำเนินมาอยู่แล้ว

แน่นอนว่า เป้าหมายสูงสุดของเส้นทางการทำงานทั้งหมดนี้ คือการก้าวสู่ “สังคมสุขภาวะ” หรือการทำให้ผู้คนในประเทศมีสุขภาพที่ดีครบถ้วนทั้ง ๔ มิติ ซึ่ง ‘นพ.สุเทพ’ ยอมรับว่านี่ไม่ใช่งานที่ง่าย และหากจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้ทั้งประเทศในคราวเดียวก็อาจยังทำไม่ได้

จึงมองว่านอกจากการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในระดับประเทศขณะเดียวกันต้องขับเคลื่อนจากพื้นที่ที่มีความพร้อม โดยเน้นในจังหวัด เทศบาล  อบต. หรือชุมชน ที่มีการรวมตัวหรือมีฐานทุนเดิม เช่น มีธรรมนูญสุขภาพ มีผู้นำที่เข้มแข็ง มีการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพอยู่แล้ว เพื่อให้เห็นภาพความสำเร็จเกิดสังคมสุขภาวะในแต่ละพื้นที่ แล้วแพร่ขยายจากหน่วยต่างๆ เหล่านี้สู่สังคมสุขภาวะพื้นที่ต่างๆ ประกอบรวมกันเป็นภาพของประเทศ

กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ เราต้องคิดตั้งแต่ต้น begin with the end in mind โดยมองเห็นไปถึงปลายทางจุดสุดท้ายตั้งแต่ตอนแรก ไม่ว่าจะเป็นแผนงาน ธรรมนูญสุขภาพ หรือมติสมัชชาสุขภาพต่างๆ ต้องมองต่อไปด้วยว่าเมื่อทำออกมาแล้ว องค์กรหรือภาคส่วนต่างๆ จะนำไปใช้ต่อได้อย่างไร  เกิดการจัดสรรทรัพยากรให้นโยบายสาธารณะนั้นๆ การปฏิบัติ เพื่อให้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายนั้นสามารถเกิดขึ้นได้สำเร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า การขับเคลื่อนให้ยั่งยืนจะต้องทำในแนวราบ แต่การเสริมด้วยแนวดิ่งจะทำให้เราสำเร็จได้ นพ.สุเทพ ให้มุมมองการทำงาน

ขณะที่ในแง่ขององค์กร ‘นพ.สุเทพ’ คาดหวังว่า บุคลากร สช. จะต้องเก่งคิด เก่งวิชาการ เก่งสานพลัง   มีความเข้าใจในการพัฒนานโยบายใหม่ๆ สามารถเชื่อมร้อยกับเครือข่ายแต่ละภาคส่วน โดยเฉพาะการถักทอสานพลังภาคีในแนวดิ่งและแนวราบ และเมื่อ สช. ขับเคลื่อนเรื่องการสร้างสังคมสุขภาวะแล้ว สังคมสุขภาวะก็จะต้องเกิดขึ้นภายในหน่วยงานด้วยเช่นกัน

ชีวิตการทำงานของผมใช้แค่สองอย่าง คือความรู้ กับความรัก ในการทำงานก็ต้องมีความรู้ มีวิชาการ  ไม่ล้าหลัง อีกส่วนเมื่อเราอยู่กับเพื่อนร่วมงานก็ต้องรักสามัคคีกัน ดูแลช่วยเหลือกัน ซึ่งเท่าที่เห็นคิดว่าคนใน สชมีคุณภาพ มีพลัง มีความรู้ค่อนข้างดี มีครบทั้ง Integrity intelligence & energy ในการทำงาน ส่วนเรามีหน้าที่กระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุน สร้างระบบที่เอื้อให้แต่ละคนปลดปล่อยศักยภาพตัวเองออกมาได้เต็มที่ จึงคิดว่าการทำงานเน้นที่การทำงานเป็นทีม ทุกคนเข้าถึงผมได้ตลอด มีอะไรพร้อมที่จะพูดคุยและรับฟังเสมอ  ความเห็นต่าง ความคิดหลากหลายเป็นเรื่องดี แต่เมื่อตัดสินใจแล้วก็ต้องเดินไปตามนั้นด้วยกัน ขณะที่การขับเคลื่อนงานก็ต้องทำให้เกิดผลสำเร็จ smart and high performance organization งานได้ผล คนมีความสุข เพื่อให้มีความยั่งยืน นพ.สุเทพ บอกเล่าสไตล์การทำงาน


ทำเนียบเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
๑. นพ.อำพล จินดาวัฒนะ
ดำรงตำแหน่ง: ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ - ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๙

๒. นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
ดำรงตำแหน่ง: ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ - ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๒

๓. นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ
ดำรงตำแหน่ง: ๒๐ กันยายน ๒๕๖๒ - ๑๙ กันยายน ๒๕๖๖

๔. นพ.สุเทพ เพชรมาก
ดำรงตำแหน่ง: ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๖ - ปัจจุบัน


 19 ตุลาคม 2566