‘เติมสุขโมเดล’ สร้างสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม อภิบาล ‘ระบบปฐมภูมิ’ หลังถ่ายโอน รพ.สต16 พฤศจิกายน 2566
ประเทศไทยในขณะนี้อยู่ในช่วงรอยต่อของการปฏิรูประบบบริการสุขภาพครั้งใหญ่ การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บิ๊กล็อต 61 จังหวัด รวม 4,196 แห่ง กำลังนำพา ‘ระบบสุขภาพปฐมภูมิ’ ก้าวเข้าสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่
ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นตลบที่เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทาย การดำเนินการของ ‘อบจ.สงขลา’ ถูกกล่าวขวัญถึงในฐานะต้นแบบที่น่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้
พื้นที่แห่งนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 6
พื้นที่จังหวัดนำร่อง (Sandbox) ภายใต้โครงการการศึกษาและพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นภายใต้บริบทการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด
โดยมี สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นแม่งาน สานพลังความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายใน จ.สงขลา
ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
“จังหวัดสงขลามีความโดดเด่น และไม่มีพื้นที่ใดเลยที่มีแนวคิดเช่นนี้ จุดเปลี่ยนหรือจุดคานงัดของพื้นที่แห่งนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าศึกษา” นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ระบุ
บนพื้นที่กว่า 7,300 ตารางกิโลเมตร ของ จ.สงขลา ที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย
จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผสานความแตกต่างเข้าหากัน โดยเฉพาะในวันที่ อบจ.สงขลา มีวิสัยทัศน์ไปไกลว่าเพียงแค่การบริหารจัดการ
รพ.สต. ให้อยู่รอดด้วยแล้ว การสานพลังจึงเป็นสิ่งจำเป็น
“ที่แห่งนี้ไม่เหมือนที่อื่น เพราะ จ.สงขลา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพใน ‘ระดับอำเภอ’ ด้วยความเชื่อที่ว่า หากสร้างเอกภาพระหว่างแต่ละอำเภอให้เกิดขึ้นได้ การจะขับเคลื่อนภารกิจ รพ.สต. จะบรรลุเป้าหมายอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในอำเภอที่รับการถ่ายโอนฯ รพ.สต. มาทั้งอำเภอ” นพ.ปรีดา ระบุ
นพ.ปรีดา บอกด้วยว่า สถานการณ์ตอนนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีความใกล้ชิดกับประชาชนจะเข้าช่วยบริหารจัดการและแบ่งเบาภาระงานของภาครัฐ รวมทั้งทำงานร่วมกับหน่วยงานภายใต้โครงการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) หรือกระทั่ง รพ.สต. ที่ยังไม่ได้ถ่ายโอนอย่างเป็นเนื้อเดียว เพื่อให้ระบบบริการมีความเป็นเอกภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
ฉะนั้น เมื่อต้องการสร้างเอกภาพ กระบวนการหลอมรวมจึงเป็นโจทย์ตัวโตที่ต้องแสวงหาคำตอบ การอภิบาลระบบร่วมกันเพื่อให้เกิดความร่วมไม้ร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในจังหวัด จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือหรือ ‘กลไกเฉพาะ’ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ จ.สงขลา มีฐานทุนเดิมมาก่อนแล้ว นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘เติมสุขโมเดล’
สำหรับ ‘เติมสุขโมเดล’ คือการเปิดพื้นที่กลางให้หลากหลายหน่วยงานเข้ามาบูรณาการความร่วมมือ ทั้งเชิงข้อมูล ทรัพยากร งบประมาณ ตลอดจนกำหนดทิศทางและวางเป้าหมายร่วมกันในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยมี ‘อบจ.สงขลา’ ทำหน้าที่เป็น ‘แกนกลาง’
กลไกสร้างการมีส่วนร่วมดังกล่าว สร้างขึ้นด้วยแนวคิดที่ง่ายงามคือการเติมเต็มซึ่งกันและกัน วางโจทย์และทิศทางการขับเคลื่อนร่วมกัน ทลายข้อจำกัดเรื่องการแยกส่วนกันทำ โดยหลักการสำคัญคือ ‘เอาพื้นที่เป็นฐาน’ ก่อนจะนำสภาพปัญหา ต้นทุน ตลอดจนจุดเน้น มาวิเคราะห์สร้างเป็นยุทธศาสตร์ แผนงาน และกลไกในการทำงานร่วมกัน
ในภารกิจถ่ายโอนฯ ซึ่งปัจจุบัน อบจ.สงขลา รับการถ่ายโอน รพ.สต. มาแล้วรวมทั้งสิ้น 49 แห่ง (ปี 2566 จำนวน 23 แห่ง ปี 2567 จำนวน 26 แห่ง) ‘เติมสุขโมเดล’ ก็ถูกนำเข้ามาสนับสนุนการจัดบริการสาธารณะด้านสุขภาพระดับปฐมภูมิด้วย
หนึ่งในรูปธรรมจากการเปิดพื้นที่สานพลังความร่วมมือเพื่ออภิบาลระบบร่วมกัน คือการได้ข้อตกลงร่วมกันที่จะ ‘ปรับโครงสร้างการดำเนินงานสาธารณสุขในส่วนของท้องถิ่น’ โดย อบจ.สงขลา จะทำงานร่วมกันกับ ผวจ.สงขลา ซึ่งถือเป็นการทำงาน ‘ข้ามหน่วยงาน’ ในการกำกับควบคุม รพ.สต. รวมถึงดึงภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้ามาหนุนเสริม
มากไปกว่านั้น หากย้อนกลับไปในอดีต ‘เติมสุขโมเดล’ ได้เคยนำ อบจ.สงขลา บรรลุเป้าหมายสุขภาพดีมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบการแพทย์ฉุกเฉิน (สายด่วน 1669) ที่ได้รับถ่ายโอนศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ หรือกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ สำหรับดูแลคนพิการ ไปจนถึงศูนย์บริบาล เพื่อดูแลผู้สูงอายุ และที่สำคัญภายใต้แนวคิดนี้ ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนยังมีความรู้สึกถึง “ชัยชนะ” ร่วมกันอีกด้วย
ในแง่วิชาการ ‘เติมสุขโมเดล’ ได้รับการสังเคราะห์-ถอดบทเรียนความสำเร็จออกมาให้เห็น โดย ผศ.ศดานนท์ วัตตธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
หนึ่งในทีมวิจัยโครงการฯ ที่ได้ศึกษาบริบทความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจหน้าที่
ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อพัฒนากลไกความร่วมมือ
ในพื้นที่นำร่อง (Sandbox) 6 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี
นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และสงขลา
อาจารย์ศดานนท์ พบว่า ‘เติมสุขโมเดล’ เป็นกลไกสำคัญที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากถ่ายโอน รพ.สต. ในเบื้องต้น เช่น จำนวนบุคลากรที่ไม่เพียงพอตามกรอบอัตรากำลัง เพราะบางแห่งมีพยาบาลวิชาชีพเพียงคนเดียว ฉะนั้นภายใต้โมเดลนี้ อบจ.สงขลา ก็มีการพยายามสร้างเครือข่ายในการดูแลสุขภาพขึ้นมา
หรือในช่องว่างเรื่องทักษะของบุคลากรที่ถ่ายโอนฯ เพราะงานบางอย่างอาจไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่เดิม เช่น งานพัสดุ งานเอกสาร งานจัดซื้อจัดจ้าง ฯลฯ ซึ่งภายใต้โมเดลเดียวกันนี้ ทาง อบจ.สงขลา มีการอบรมให้คำปรึกษาแก่ รพ.สต. ที่ถ่ายโอน เกี่ยวกับแนวปฏิบัติแนวทางการดำเนินงาน หรือในประเด็นการมีเครื่องมือ ยา หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างไม่เพียงพอ อบจ.สงขลา ก็ได้ประสานกับโรงพยาบาลแม่ข่ายในการอุดช่องว่างดังกล่าว
“ภายใต้กลไกเติมสุขโมเดลที่ช่วยผสานความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย ช่วยสนับสนุนให้ รพ.สต. งทำหน้าที่ดูแลประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนประชาชนไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงสังกัดหรือถ่ายโอนฯ” ผศ.ศดานนท์ ระบุ
สำหรับก้าวต่อไปในการพัฒนา ‘เติมสุขโมเดล’ คือ การสร้าง “ศูนย์บริการเติมสุข” ที่จะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการเติมช่องว่างในระบบบริการที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างครบวงจร (one stop service) เช่น การรวมศูนย์สุขภาพ ที่มีทั้งคลินิกกายภาพ คลินิกผู้สูงอายุ ฯลฯ และศูนย์บริการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งจะช่วยเรื่องการปรับสภาพบ้าน แก้ไขปัญหาไม่ได้ค่าครองชีพ ฯลฯ รวมถึงมีภาพฝันปลายทางคือให้บริการต่างๆ เข้าถึงได้โดยให้ประชาชนใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการเข้ารับบริการ หรือ “one ID one stop service”
นอกจากนี้จะมี “ศูนย์สร้างสุข” โดยจะอาศัยงบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพมาหนุนเสริมการให้บริการเชิงรุก ซึ่งในนั้นอาจมีศูนย์กายอุปกรณ์ ศูนย์ซ่อมกายอุปกรณ์ ธนาคาร 1,000 เตียง การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และเพิ่มเติมเรื่องแพทย์แผนไทยเข้าไป
สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมา จะเป็นไปในทิศทางใดในรายละเอียดคนในท้องถิ่นจะต้องมาออกแบบร่วมกันต่อ โดย อบจ.สงขลา ตั้งงบประมาณก่อสร้างไว้ศูนย์ละ 5 แสน-1 ล้านบาท รวมถึงอนุมัติแผนการจัดทำเรียบร้อยแล้ว โดยจะใช้ ‘รพ.สต.รำแดง’ อ.สิงหนคร และ ‘รพ.สต.เกาะใหญ่’ อ.ควนเนียง ที่อยู่ในพื้นที่นำร่อง เป็นฐาน และสร้างกลุ่มเครือข่ายการให้บริการในชุมชน
รวมถึงที่ขาดไม่ได้เลย คือการจัดระเบียบข้อมูลของทุกหน่วยงานให้เป็น ‘ฐานข้อมูล’ เดียนกัน ที่ตรงกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการของทุกภาคส่วน
ฐิตารีย์ เชื้อพราหมณ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการกองสาธารณสุข อบจ.สงขลา เล่าว่า
หลังจากที่หน่วยงานกว่า 30 แห่ง ของ 2
พื้นที่นำร่อง จ.สงขลา ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิจังหวัดสงขลา
(MOU) เมื่อวันที่ 7-8 พ.ย. 2566 ซึ่งจัดขึ้นโดย สช. และจัดทำแผนปฏิบัติการปีงบฯ
2567 เบื้องต้นแล้ว ก็จะเข้าสู่การทำแผนปฏิบัติการสุขภาพระดับพื้นที่ที่เข้มข้นต่อไป
“เราจะเลือกเติมเฉพาะที่เป็นช่องโหว่แต่ละพื้นที่ แต่แน่นอนว่าแต่ละที่อาจขึ้นรูปไม่เหมือนกัน เพราะมีสภาพปัญหาและต้นทุนทางสังคมที่แตกต่างกัน และหากแต่ละหน่วยงานช่วยกันเติมให้ตรงจุดมันจะเป็นภาพสมบูรณ์ ซึ่งการที่หน่วยงานในพื้นที่มาคุยกันจะตอบโจทย์พื้นที่ได้ไม่ยาก เพราะถ้าข้างล่างเชื่อมร้อยกันแน่นหนา ไม่ว่าข้างบนหรือส่วนกลางจะเป็นยังไง ข้างล่างเดินได้ภายใต้บริบทพื้นที่” ฐิตารีย์ ระบุ
ฟากฝั่งประชาชน
ชาคริต โภชะเรือง มูลนิธิชุมชนสงขลา และประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา หนึ่งในผู้พัฒนาระบบเยี่ยมบ้านดูแลผู้สูงอายุ
คนพิการ กลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง และกลุ่มเปราะบาง ทั้งจังหวัด
ผ่านแอปพลิเคชัน imed @home บอกว่า หลังจากนี้จะผลักดันให้เกิด “แผนสุขภาพรายบุคคล” โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มผู้ป่วย
เขาจะร่วมกับ อบจ.สงขลา ใช้ imed @home ที่มีระบบในการเชื่อมโยงระหว่างชุมชน และผู้ป่วย ให้เกิดดูแล ปรับพฤติกรรมกัน รวมถึงคัดกรองโรคกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้ป่วยรู้ว่าสุขภาพตนเองดีขึ้นหรือไม่ ไม่เพียงเท่านั้น ถ้าหากเป็นสมาชิกกับระบบนี้ก็จะได้เห็นข้อมูลเชิงสถิติว่าในพื้นที่ว่าสุขภาพของใครเปลี่ยนไปอย่างไร โดยบทบาทตรงนี้ภาคประชาชนจะเป็นหน่วยงานหลักและทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ สำหรับปรับสภาพแวดล้อมระบบบริการ และแผนสุขภาพในแต่ละระดับ
นอกจากนี้ จะมีการเชื่อมร้อยเครือข่ายด้านสุขภาพที่ไม่ได้ทำงานกับ
อบจ.สงขลา แต่เป็นพาร์ทเนอร์กับมูลนิธิชุมชนสงขลา เติมเข้าไปในพื้นที่นำร่อง
เพื่อใช้เป็นฐานในการทำงานร่วมกัน