ปักธง ‘ส่งเสริมการมีบุตร’ สู่วาระชาติ บอร์ด คสช. เคาะแนวทางจัดทำนโยบายฯ พัฒนาคุณภาพ ‘เด็ก-ประชากร’ อย่างมีส่วนร่วม17 พฤศจิกายน 2566
ที่ประชุม
“คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” เห็นชอบแผนการสร้างนโยบายสาธารณะฯ
ส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ
พร้อมไฟเขียวร่างเอกสารสำคัญที่จะนำไปประกอบการจัดทำ ‘วาระแห่งชาติ’ ชง ครม.
พิจารณาเปิดกรอบทิศทางนโยบายพัฒนาเด็กอย่างมีส่วนร่วม หวังสร้าง Momentum ครั้งใหญ่ในระดับชาติ
เมื่อวันที่
16 พ.ย. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.)
ในฐานะรองประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในการประชุม คสช.
ครั้งที่ 6/2566 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างเอกสาร
“การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ”
ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
ได้ร่วมกับคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ และภาคีเครือข่ายจัดทำขึ้น
เพื่อใช้ประกอบการจัดทำ (ร่าง) วาระแห่งชาติ ประเด็นส่งเสริมการมีบุตร
เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
นอกจากนี้
ที่ประชุม คสช. ยังได้รับทราบ “แผนการดำเนินงานของคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอ
ประเด็นการส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ”
สำหรับการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566
ซึ่งเป็นกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และรับทราบ
“คำสั่งคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาประเด็นแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศ
ประเด็นแนวทางการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ที่มี
น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(สภาพัฒน์) เป็นประธาน ด้วย
นพ.ชลน่าน เปิดเผยว่า จากข้อมูลจากสถิติสาธารณสุขปี 2565 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 485,085 คน ซึ่งเป็นจำนวนการเกิดที่ต่ำที่สุดและเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 500,000 คน สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 มีประชากรผู้สูงอายุมากถึงกว่า 12 ล้านคน
“เด็กที่เกิดน้อยและสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น
หมายถึงจำนวนแรงงานของประเทศที่ลดน้อยลง ย่อมส่งผลต่อกำลังการผลิตที่ลดลง
ผลผลิตโดยรวมของประเทศที่ลดลง รายได้และการจัดเก็บภาษีที่ลดลง
ดังนั้นจำนวนประชากรที่ลดลงอย่างมากจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง”
นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน
กล่าวต่อไปว่า ปัญหา “เด็กเกิดน้อย” มีความสำคัญในระดับชาติ
ซึ่งรัฐบาลได้หยิบยกขึ้นเป็น ‘วาระแห่งชาติ’
เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหากันอย่างจริงจัง ซึ่งในการผลักดันวาระแห่งชาติ
เรื่องการส่งเสริมการมีบุตรนั้น
ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติแล้ว
เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2566
โดยมีเป้าหมายเพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
พร้อมมาตรการต่างๆ ที่จะส่งเสริมการมีบุตร ทั้งการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย
การช่วยเหลือทางการแพทย์ ฯลฯ ซึ่ง สช. ในฐานะองค์กรสานพลัง จะมีบทบาทร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาเอกสารประกอบการจัดทำวาระแห่งชาติประเด็นนี้
เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
นายชาญเชาวน์
ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธาน คจ.สช. ครั้งที่
15-16 ประจำปี 2565-2566 กล่าวว่า ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ.
2566 มีระเบียบวาระเข้าสู่การพิจารณาเพื่อแสวงหาฉันทมติรวม 3 ระเบียบวาระ
โดยหนึ่งในนั้นคือ “การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ”
ซึ่งมีกรอบทิศทางนโยบายที่ต้องการสร้างความตระหนักและแรงขับเคลื่อนทางสังคมที่ใหญ่มากพอ
(momentum) ในระดับชาติ
เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ
โดยเฉพาะในช่วง 8 ปี หรือประมาณ 3,000 วันแรกของชีวิต
ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่
พร้อมมาตรการหนุนเสริมสำหรับกลุ่มและเป้าหมายพื้นที่เฉพาะที่ยังเป็นช่องว่างสำคัญ
อาทิ กลุ่มครัวเรือนยากจน กลุ่มผู้ใช้แรงงานในโรงงาน
พื้นที่ที่มีอัตราการตั้งครรภ์ของแม่วัยรุ่นสูง กลุ่มพ่อแม่/
บนพื้นฐานการจัดทํามาตรการในลักษณะ มาตรการที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรอบด้าน (comprehensive package) มากกว่ามาตรการเชิงเดี่ยว
นายชาญเชาวน์
กล่าวอีกว่า ภายใต้กรอบนโยบายดังกล่าวจะสนับสนุนให้เกิดมาตรการต่างๆ ที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างรอบด้าน
(comprehensive
package) มากกว่ามาตรการเชิงเดี่ยว
ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารถึงการเลี้ยงดูบุตรหลานที่เหมาะสม
การสร้างระบบในสังคมที่เอื้อต่อการมีครอบครัว
การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมถึงการพัฒนาแนวทางใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการทำงานด้านเด็ก
ตลอดจนการลดข้อจำกัด ปรับมุมมองและทัศนคติต่อการมีบุตรของเด็กรุ่นใหม่ เป็นต้น
ด้าน นพ.สุเทพ
เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า
จากการรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ประเด็น
“การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ” ที่ สช.
ดำเนินการ่วมกับภาคีเครือข่าย พบ 5
ประเด็นสำคัญที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 16 ได้แก่ 1.
กลุ่มเปราะบางยังเป็นกลุ่มตกหล่นจากมาตรการต่างๆ
2. ความแตกต่างของปัญหาในแต่ละพื้นที่ 3.
การจัดบริการที่มีคุณภาพยังไม่ครอบคลุม 4.
สังคมขาดความตระหนักและการใช้ความรู้ที่ถูกต้องเป็นฐานในการพัฒนาเด็ก 5.
การนำเทคโนโลยีมาใช้ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ
“หัวใจของการจัดทำนโยบายสาธารณะในเรื่องนี้
คือการร่วมกันออกแบบหรือจัดทำระบบที่มีความยั่งยืน
เพื่อให้สามารถรองรับประชาชนที่ต้องการมีบุตร
ตลอดจนสร้างความมั่นใจให้พ่อแม่ได้ว่าเมื่อมีลูกแล้ว
เขาเหล่านั้นจะได้รับความคุ้มครองทางสังคม ฉะนั้นการพัฒนาประชากรและการแก้ไขปัญหาเด็กเกิดน้อยจึงจำเป็นต้องอาศัยการสานพลังการทำงานจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง”
นพ.สุเทพ กล่าว
อนึ่ง ที่ประชุม คสช. วันเดียวกันนี้ ยังได้รับทราบความคืบหน้าการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. 2566 โดยจะมีการพิจารณาเพื่อแสวงหาฉันทมติใน 3 ระเบียบวาระ ได้แก่ 1. ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง 2. การส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ 3. การส่งเสริมการพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ