
วางโรดแมปเคลื่อน 3 มติ ‘สมัชชาผู้สูงอายุ’ สช.-พม.-ภาคีร่วมร่างแผนที่รองรับสังคมสูงวัย เล็งใช้กลไกทุกภาคส่วน เพิ่มคุณภาพชีวิตวัยทอง22 พฤศจิกายน 2566
สป.สว. ผนึก สช.-พม.
ภาคีเครือข่าย จัดวงประชุมระดมความคิดเห็นร่างโรดแมปเดินหน้ารองรับสังคมสูงวัย
เคลื่อน 3 มติ “สมัชชาสุขภาพผู้สูงอายุฯ” ปี 66 เตรียมบูรณาการแผนทำงานทุกระดับ-สร้างระบบบริการสุขภาพและสังคม-เพิ่มเติมนวัตกรรมสำหรับสูงวัย
ด้านที่ประชุมพ้องเสียงมอบกรมกิจการผู้สูงอายุ เป็นเจ้าภาพหลักนำทีมขับเคลื่อน
ส่วน สช. พร้อมเป็นช่างเชื่อม ประสานบูรณาการทุกส่วนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2566 สำนักงานประสานงานนโยบายรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.) พร้อมด้วยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นระดับนโยบายต่อแผนที่ยุทธศาสตร์ (Road map) การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพผู้สูงอายุระดับชาติ รองรับสังคมสูงวัย ปี 2566 โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนงานรองรับสังคมสูงวัย พร้อมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมประชุมอย่าคับคั่ง
สำหรับการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้
เป็นการร่วมกันพิจารณา Road map เพื่อขับเคลื่อนมติสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติรองรับสังคมสูงวัย
ที่ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพฯ ได้ร่วมกันมีมติออกมาเมื่อเดือน เม.ย. 2566 จำนวน 3 มติ ก่อนที่จะนำไปสู่การร่าง Road
map เพื่อให้ภาคีเครือข่าย รวมถึงองค์กร หน่วยงาน ภาคส่วนต่างๆ ที่มีภารกิจตามมติ
ได้นำไปเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติที่รอบด้าน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนบนทิศทางเดียวกัน
และบรรลุไปสู่เป้าหมายร่วมกัน
ในส่วนของมติสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติรองรับสังคมสูงวัย ปี 2566 จำนวน 3 มติ ประกอบด้วย มติที่ 1 การบริหารจัดการแผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีประสิทธิภาพ มีเป้าหมายให้ประชากรทั้งก่อนวัยสูงอายุ (25-59 ปี) และวัยสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้ง 4 มิติ คือ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยมีการกำหนดผลลัพธ์ 3 ด้าน คือ 1. เกิดแผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัยในระดับชาติ โดยใช้ประเด็นร่วมและกลไกการขับเคลื่อนร่วมกัน 2. เกิดแผนบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุระดับพื้นที่ 3. เกิดกลไกที่ช่วยสนับสนุนติดตามการดำเนินงาน ภายใต้แผนบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
มติที่ 2 การพัฒนาระบบและกลไกการบูรณาการ การบริการสังคมและสุขภาพเพื่อการพัฒนาผู้สูงอายุไทย มีเป้าหมายเพื่อบูรณาการทั้งระดับกระทรวง กรม กอง และจังหวัด ภายใต้ยุทธศาสตร์ร่วมกัน เพื่อมุ่งให้ความสำคัญกับการบริการที่ตอบสนองความต้องการต่อผู้สูงอายุอย่างแท้จริง โดยมีการกำหนดผลลัพธ์ให้มีประเด็นยุทธศาสตร์สำหรับบูรณาการบริการสังคมและสุขภาพเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุ ให้มีแผนการทำงานร่วมกันในระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ รวมถึงให้มีพื้นที่ตัวอย่างเพื่อทดลองใช้เครื่องมือ กลไกตามแผนบูรณาการทำงานร่วมกัน พร้อมกับกำกับและติดตามผล
มติที่ 3 เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการรองรับสังคมสูงวัย มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับสังคมสูงวัย โดยมีการกำหนดผลลัพธ์ คือการยกระดับความสามารถในการใช้งาน การเข้าถึง และการตระหนักถึงภัยคุกคามจากเทคโนโลยีดิจิทัลของผู้สูงอายุ พร้อมกันนี้ยังมุ่งเน้นส่งเสริมให้มีการวิจัยนวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย เป็นนวัตกรรมที่ผู้สูงอายุสามารถใช้งานเพื่อช่วยเหลือและเป็นประโยชน์ต่อตนเองได้อย่างเหมาะสมและกว้างขวาง
ทั้งนี้ ภายหลังที่ประชุมได้ร่วมกันรับทราบมติสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติรองรับสังคมสูงวัย ปี 2566 ครบทั้ง 3 มติ จึงได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างแพร่หลาย โดยประเด็นสำคัญของที่ประชุมไม่ว่าจะเป็น ขอให้มีการกำหนดเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนการทำงานแต่ละมติที่มีความชัดเจน โดยมอบหมายให้กรมกิจการผู้สูงอายุ พม. เป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่งจะทำหน้าที่ขับเคลื่อน และเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ในการทำงานร่วมกัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมส่วนใหญ่ยังเห็นพ้องถึงประเด็นของการให้กองทุนต่างๆ
ที่รับผิดชอบและขับเคลื่อนงานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ และสังคมสูงวัย
ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนในแต่ละพื้นที่ร่วมกัน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนงานตาม 3
มติ ที่ต้องใช้งบประมาณเพื่อหนุนเสริมการทำงาน โดยรายละเอียดข้อคิดเห็นที่รวบรวมได้จากที่ประชุมครั้งนี้
จะถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 6 กระทรวง 13
หน่วยงาน เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนตามมติสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติรองรับสังคมสูงวัย
ปี 2566 ต่อไป
นพ.สุเทพ เพชรมาก
เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยในเวทีเสวนาหัวข้อ
“มองไปข้างหน้าสู่การพัฒนาขับเคลื่อนมติสู่การปฏิบัติให้เป็นจริง” ตอนหนึ่งว่า
สังคมสูงวัยเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและเข้ามาขับเคลื่อนร่วมกัน โดยในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
(สช.) มองว่าการขับเคลื่อนเป้าหมายให้เป็นรูปธรรมนั้น ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันในการทำให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในปัจจุบัน
รวมถึงในอนาคตที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ต้องมีสุขภาพดี มีรายได้ สามารถดูแลตัวเองได้
หรือมีผู้ดูแลในภาวะพึ่งพิง
นพ.สุเทพ กล่าวว่า
จากข้อมูลพบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีสุขภาพที่แข็งแรง
และยังสามารถทำงานหรือสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ ประเด็นนี้จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย
เพราะตัวเขาจะสามารถใช้ร่างกายที่แข็งแรงและสุขภาพดีอยู่นั้น ไปต่อยอดเพื่อสร้างรายได้
หรือหารายได้เพิ่มเติมจากการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมกับช่วงวัยได้
“ในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเพื่อรองรับสังคมสูงวัยร่วมกัน
สช.จะทำบทบาทช่างเชื่อม เพื่อเชื่อมประสานและบูรณาการการทำงาน ระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่าย
ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนให้เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อน
และหนุนเสริมการทำงานเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน” นพ.สุเทพ กล่าว
ขณะที่ น.ส.บุษยา
ใจสว่าง รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า เป้าหมายที่กรมฯ ต้องการ คือการทำให้ผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
มีสุขภาพที่แข็งแรง และได้อยู่อาศัยอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบ้านของตนเอง
อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าเป้าหมายนี้ กรมกิจการผู้สูงอายุไม่อาจทำได้โดยหน่วยงานเดียว
หากต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อมาบูรณาการทำงานกัน โดยมติของสมัชชาผู้สูงอายุฯ
นี้จะเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น ไปจนถึงระดับประเทศ
“มติทั้ง 3 ของสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติรองรับสังคมสูงวัย ปี 2566 แม้ว่ากรมกิจการผู้สูงอายุจะเป็นเจ้าภาพหลัก แต่ก็ทำลำพังไม่ได้ ทว่าการขับเคลื่อนจะนำไปสู่เป้าหมายได้จริงแน่นอน
หากมีการบูรณาการทำงานร่วมกัน
และต้องมีกลไกที่ช่วยให้ทุกหน่วยงานเข้ามาทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง
ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จในการขับเคลื่อนทั้ง 3
มติได้” รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าว
ด้าน นายกรวุฒิ
บรรยงวรพินิจ ผู้อำนวยการกองพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่น
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กล่าวว่า สถ. ได้เตรียมเชิญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(อปท.) จำนวน 40 แห่งจาก 4 ภาคใน 10
จังหวัดทั่วประเทศ มาร่วมวงเสวนาการบริหารจัดการของท้องถิ่นในการพัฒนาระบบและรองรับสังคมสูงวัย
ในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ ที่ จ.สงขลา ซึ่งคาดว่าจะมีผู้บริหาร
เจ้าหน้าที่ อปท. กว่า 500 คนเข้าร่วม โดยจะมีการนำมติทั้ง 3
ของสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติรองรับสังคมสูงวัย ปี 2566 ไปนำเสนอให้ได้รับทราบ เพื่อให้ท้องถิ่นได้ร่วมแลกเปลี่ยนและวางแผนขับเคลื่อนการทำงานให้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
“กรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นมองว่า
การยกระดับทุกภาคส่วนเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
จำเป็นต้องร่วมมือกันเป็นภาคีเครือข่าย ซึ่งทางกรมก็ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อทำงานเรื่องนี้
โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเพื่อสร้างสังคมให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ
และเหมาะสำหรับทุกช่วงวัยด้วย” นายกรวุฒิ กล่าว
อนึ่ง เวทีการประชุมในวันนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก
(WHO) ที่เล็งเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในแต่ละประเทศทั่วโลกเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
ซึ่งในส่วนของประเทศไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว จนนำไปสู่การจัดทำเป็นแผนที่ยุทธศาสตร์รองรับการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับสังคมสูงวัย
และยังเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ WHO ต้องการเห็นผลสำเร็จของการขับเคลื่อน
และนำไปเป็นตัวอย่างให้กับประเทศสมาชิกต่อไป