กขป.ชุดที่ ๒ กับการต่อยอด ‘ฐานทุนเดิม’

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.


นพ.สำเริง แหยงกระโทก อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นับเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ และยังมีประสบการณ์ตรงทั้งในระดับนโยบาย และระดับพื้นที่

ในสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด นพ.สำเริง คนเดียวกันนี้ ยังได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการสานพลังก่อตั้ง ศูนย์ประสานงานภาคประชาชนสู้ภัยโควิด-19 ประจำ จ.นครราชสีมา ขึ้น ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานและทำงานร่วมกับภาครัฐ ซึ่งกลายมาเป็น ต้นแบบ ที่กระจายออกไปสู่ทุกจังหวัด

นับตั้งแต่วันที่ ๑๒ ก.ค. ๒๕๖๔ ที่ คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ชุดที่ ๒ ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) อย่างเป็นทางการ ชื่อของ นพ.สำเริง ก็ปรากฏอยู่ในฐานะประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ ๙ ซึ่งครอบคลุม ๔ จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์

กองบรรณาธิการนิตยสารสานพลัง ฉบับเดือน ก.ย. ๒๕๖๔ ได้รับเกียรติจาก นพ.สำเร็จ ที่ช่วยพาเราไปสำรวจอดีต สอบทานปัจจุบัน ตลอดจนฉายภาพการขับเคลื่อนงานของ กขป. ในอนาคต

ขอเชิญชวนทุกท่านอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ไปด้วยกัน

 

 

--- เมื่อ กขป. มาใหม่ อุปสรรคคือความเข้าใจ ---

ในฐานะผู้ที่มีความเข้าใจดีกับกลไกของ กขป. หมอสำเริง เริ่มต้นอธิบายให้เราเข้าใจก่อนว่า การทำงานด้านสุขภาพของประเทศไทยอยู่ภายใต้การดำเนินงานหลักๆ ขององค์กร ๔ ส. ประกอบด้วย “สธ.” หรือกระทรวงสาธารณสุข ดูแลในด้านกำลังคน การบริการ “สปสช.” หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลในด้านงบประมาณที่จะให้เกิดการทำงาน “สสส.” หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ดูแลด้านการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาพ หรือนวัตกรรมการทำงานที่เป็นสิ่งใหม่

ส่วนสุดท้ายคือ “สช.” หรือสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ดูแลในด้านของภาคประชาชน ซึ่งในส่วนของ ส.สุดท้ายที่ก้าวเข้ามาทีหลังนี้ ก็ได้มาพร้อมกับกลไกการตั้งคณะกรรมการในระดับเขตสุขภาพทั้ง ๑๓ เขตคือ “กขป.” ขึ้นเพื่อให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีสิทธิมีส่วนร่วมในงานด้านสาธารณสุข พร้อมกับแนวคิดบูรณาการทำงานเชื่อมประสานร่วมกับอีก ๓ ส.ที่เหลือ และส่วนราชการอื่นๆ ในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ที่จะเข้ามาดำเนินงานด้วยกัน

เมื่อแนวทางเป็นเช่นนี้ จึงมีการกำหนดสัดส่วน กขป. เพื่อนำภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานราชการ ท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน ภาควิชาการ รวมถึงภาคประชาชน เข้ามารวมอยู่ภายใต้คณะกรรมการที่มีจำนวนถึง ๒๕ คน มาร่วมกันคิดทิศทางวางนโยบายสาธารณะ ตลอดจนแก้ไขปัญหาภายในเขตของตน ที่ในแต่ละเขตนั้นอาจมีตั้งแต่ ๔-๕ จังหวัด ไปจนถึง ๑๐ จังหวัด บนพื้นฐานการทำงานที่ไม่ได้มีงบประมาณ แต่มีหลักการที่เรียกว่า 4PW เป็นแนวคิดหลัก

สำหรับ 4PW หมายถึงกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา ซึ่งย่อมาจาก “Participatory Public Policy Process based on Wisdom” หรือการที่ให้ทุกคนในสังคมร่วมกำหนดทิศทาง นโยบาย และร่วมกันลงมือทำด้วยตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ประธาน กขป. เขตพื้นที่ ๙ ยอมรับว่าเมื่อนี่เป็นงานที่เกิดขึ้นมาใหม่ จึงนับว่ามีความยากโดยตัวมันเอง และกลายมาเป็นจุดอ่อนหลักของ กขป.ชุดแรก

“ในพื้นที่เรามีปัญหามากมายสารพัด ไม่ว่าจะเรื่องสังคม ความเป็นอยู่ ความเหลื่อมล้ำอะไรต่างๆ แต่ว่าต่างคนก็ต่างคิด อยากทำประเด็นนั้นประเด็นนี้ก็เสนอกันขึ้นมา ใครคิดจะทำอะไรก็ทำ แต่ไม่ได้มองไปถึงสุดยอดของปัญหาที่แท้จริง ว่าทำจากจุดไหน จะกระทบไปถึงจุดไหน แล้วจึงจะแก้อะไรได้ กับอีกส่วนคือภาคราชการที่มักต้องการงบประมาณในการทำงาน พอไม่มีงบก็เลยยิ่งทำงานยากเข้าไปใหญ่ เราเลยมีตัวแทนภาคราชการที่ส่วนใหญ่ตัวมาได้ แต่ใจไม่ได้มาด้วย ไม่รู้จัก กขป. ไม่ได้ศึกษาว่าเป็นอย่างไร”

หมอสำเริง สรุปว่า เมื่อการคิดประเด็นการแก้ไขปัญหาไม่สอดคล้องกับพื้นที่ คนทำเองก็ไม่มีงบประมาณ ไม่มีความรู้ จึงไม่เกิดผลงานที่ชัดเจน เมื่อไม่มีผลงานชัด ความร่วมมือจึงไม่มี การที่จะทำให้เกิดความเข้าใจก็ยาก ฉะนั้นการเกิดขึ้นของ กขป. ในปีแรกจึงนับว่ามีความยากลำบากในการทำงาน

ขณะเดียวกันอีกกลไกหนึ่งของ สช. คือ “สมัชชาสุขภาพ” ที่มีทั้งในระดับชาติ และในระดับจังหวัด ซึ่งเป็นกระบวนการเพื่อให้เกิดนโยบายสาธารณะเช่นเดียวกัน แต่ในบางครั้งกลไกของ กขป. กับสมัชชาสุขภาพจังหวัดก็มิได้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งที่พูดคุยถึงปัญหาเรื่องเดียวกันภายในจังหวัด หรือแม้แต่ทำงานทับซ้อนกัน เป็นต้น

 

--- รูปธรรมของงาน คือบูรณาการส่วนร่วมจากทุกคน ---

อย่างไรก็ตาม หมอสำเริงมองว่า ส่วนที่ดีของ กขป. ก็คือการที่เริ่มพูดถึงประชาชน และนับเข้ามาเป็นสมการในระบบนโยบายสุขภาพมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่หน่วยงานแต่ละ ส. อยากที่จะทำอะไร ก็จะทำไปตามหน้าที่ตราบเท่าที่กฎหมายหรือระเบียบระบุไว้ แต่เมื่อมี กขป. ก็ทำให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมในการกำหนดการทำงานเหล่านี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เองสอดคล้องกับ “ระบบสุขภาพปฐมภูมิ” หรือ “ระบบสาธารณสุขมูลฐาน” ที่ต้องการให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม

ขณะเดียวกันอีกส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการ “บูรณาการการทำงาน” เนื่องจากระบบการปกครองของประเทศไทยที่มีลักษณะเป็นแนวดิ่ง สั่งลงมาจากส่วนกลาง จากแต่ละหน่วยงาน เมื่อเป็นคำสั่งของใครของมัน ต่างคนต่างสั่ง บางทีคำสั่งจึงซ้ำซ้อนกัน หรือแม้แต่เกี่ยงกันทำ

“แต่เมื่อมี กขป. ก็ได้ทำให้เกิดการไขว้กันในแนวราบ อย่างน้อยทำให้แต่ละภาคส่วน แต่ละหน่วยงานมีการพูดคุยกัน เริ่มมีการศึกษางานซึ่งกันและกัน แล้วเอาเป้าหมายรวมของทุกส่วนมานั่งคิดร่วมกัน จึงเริ่มเกิดเป็นการบูรณาการทำงาน ที่ไม่ใช่การทำงานจากการฟังผู้บังคับบัญชาเพียงอย่างเดียว” นพ.สำเริง ระบุ

สำหรับรูปธรรมของงานก็ได้เกิดขึ้นกระจายไปในแต่ละจุดตามเขตต่างๆ โดยหมอสำเริงได้ยกตัวอย่างรูปธรรมที่เด่นชัดของเขตสุขภาพที่ ๙ คืองานด้านพระสงฆ์ ที่เกิดการส่งเสริมสุขภาพของพระขึ้นอย่างกว้างขวาง สอดคล้องไปกับการมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ

ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานหลากหลายภาคส่วนในเขต ๙ รวมถึงเจ้าคณะจังหวัด เกิดการขับเคลื่อนพระคิลานุปัฏฐาก หรือพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) รวมไปถึงการแก้ไขด้านสิทธิหลักประกันสุขภาพของพระสงฆ์ที่เคยเป็นปัญหา จนทำให้พระสามารถกลับมาเข้าถึงสิทธิได้ ๘๐-๙๐ % เทียบเท่าฆราวาสทั่วไป

ขณะที่ประเด็นงานอื่นๆ เช่น การดำเนินงานตําบลจัดการสุขภาพตนเองแบบบูรณาการ (ตจบ.) ที่ได้เสริมความเข้มแข็งด้านสุขภาพให้กับพื้นที่กว่า ๘๐ ตำบลภายในเขต หรือการต่อยอดจนเกิดนวัตกรรมเรื่องของร้านขายยาภายในพื้นที่ ที่ได้มีความพยายามที่จะทำให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ คล้ายกับการมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

 

--- ตั้งหลักชุด ๒ เปิดมุมมองกรรมการ-งานต้องชัด ---

เมื่อเข้าสู่คราววาระของคณะกรรมการชุดที่ ๒ ชื่อของ นพ.สำเริง ก็ได้รับการเสนอให้อยู่บนตำแหน่งประธาน กขป. เขตพื้นที่ ๙ อีกครั้ง จากความไว้วางใจในการขับเคลื่อนงานต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าครั้งนี้หมอสำเริงเองก็ไม่พลาดที่จะนำบทเรียน และประสบการณ์จากการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อปรับใช้ให้กลไก กขป.หลังจากนี้เป็นไปตามเป้าประสงค์มากยิ่งขึ้น

สิ่งแรกที่ประธานรายนี้ให้ความสำคัญคือการเริ่มต้นแก้โจทย์ เพื่อที่จะทำให้คณะกรรมการทั้ง 25 คนจากหลากหลายภาคส่วนเหล่านี้เข้ามาร่วมกันด้วยใจ โดยเฉพาะการทำให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ และความสำคัญของ กขป. เพื่อให้รับรู้โดยจิตสำนึกได้ว่าการขับเคลื่อนงานนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร

“ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เราจะเดินหน้าทำงานเลย ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นเหมือนปีแรก ที่บางคนมาแต่ตัว ประชุมเสร็จก็ไป เพราะคนใหม่ที่เข้ามาเกินครึ่ง เราต้องทำความเข้าใจกับกรรมการให้ชัดเจนก่อน ให้เขารับรู้และเข้าใจว่าจะเกิดประโยชน์อย่างไร อย่างน้อยเมื่อเขารู้และมีความตั้งใจแล้ว ก็จะกลับไปเล่าและดึงเอาหน่วยงานของเขาให้เข้ามาร่วมงานมากขึ้นได้ ทำให้เขาเห็นว่าการทำงานแนวราบ หรือ 4PW นี้ปฏิบัติอย่างไร” นพ.สำเริง ระบุ

หลักการถัดมาของหมอสำเริง คือจะต้องไม่คิดงานมากในเชิงปริมาณ แต่จะคิดงานเพียงไม่กี่อย่าง โดยจับเอาประเด็นที่เห็นเด่นชัดมาเป็นตัวดำเนินเรื่อง นำมาทำความเข้าใจภายในคณะกรรมการเพื่อให้เห็นภาพร่วมกัน โดยตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดมากที่สุดขณะนี้ อย่างเรื่องของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งมิติเชิงสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนา และทุกส่วนเห็นปัญหาร่วมกันทั้งหมด

นอกจากนี้ยังจะเป็นการเน้นย้ำไปที่ความสำคัญของภาคประชาชน ที่จะให้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบสาธารณสุขมูลฐาน เรื่องของนโยบาย ๓ หมอ รวมไปถึงการต่อยอดงานของเก่าที่ดำเนินมาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานด้านพระสงฆ์ ประเด็นเรื่องขยะ อาหาร ผู้สูงวัย กัญชา เหล่านี้เป็นต้น ตลอดจนการสานต่องานนวัตกรรม อย่างการให้ร้านขายยาเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งในระบบปฐมภูมิ ซึ่งหากปล่อยไว้เองเฉยๆ อาจไม่เกิดขึ้นต่อ ดังนั้นจึงอาจเริ่มต้นทำในบางจังหวัดที่มีความสนใจก่อนเป็นการนำร่อง

หมอสำเริงได้สรุปว่าหลักการพื้นฐานในการทำงานของ กขป.ชุดที่ ๒ นี้ จึงประกอบด้วย ๑. คณะกรรมการเองจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ ๒. เน้นงานที่เป็นปัญหาร่วมของทุกคน ๓. ไม่ต้องคิดงานเยอะ แต่เน้นที่เด่นชัด หรือต่อยอดของเดิม ๔. เลือกทำงานที่อยู่ในความสนใจของคณะกรรมการ และมีความสอดคล้องกับพื้นที่ ซึ่งบางอย่างอาจเป็นเรื่องเฉพาะบางจังหวัด ไม่ต้องทำแบบเดียวกันทั้งเขต

“สุดท้ายเราต้องเลือกงานที่จะทำให้เกิดรูปธรรมชัดๆ และสามารถวัดผลได้เอาไว้ด้วย อย่างของเขตสุขภาพที่ ๙ อันหนึ่งที่มีการคิดกันคืองาน ตจบ. หรือตำบลจัดการสุขภาพตนเองที่เกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งงานนี้อาจเฉพาะเรื่องของสาธารณสุข แต่เราอาจทำให้เป็นในลักษณะตำบลสีฟ้า หรือตำบลในฝัน ที่จะเป็นงานร่วมกันของทุกหน่วยงานได้ ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปสู่การดูแลผู้สูงอายุ ดูแลโควิด-19 หรือดูแลงานอื่นๆ ได้อีก” ประธาน กขป.เขต ๙ ให้ภาพ

 

--- ใช้ตำบลเป็นฐาน เดินหน้าด้วยโครงสร้างที่มี ---

ในแง่ของพื้นที่ยุทธศาสตร์การทำงาน แม้เป้าหมายคือการลงไปถึงในระดับตำบล แต่จากเขตจะลงไปทำในตำบลเลยไม่ได้ ดังนั้นหมอสำเริงจึงเน้นย้ำถึงหลักคิดการทำงานของ กขป. ที่จะต้องผ่านโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ โดยเฉพาะระบบการปกครองส่วนภูมิภาคที่จะต้องถูกสั่งผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.)

ฉะนั้นในกลไก กขป. ที่สามารถตั้งคณะทำงานหรือคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด จึงจะต้องมีการเชิญ ผวจ.เข้ามาร่วมนั่งเป็นที่ปรึกษา ร่วมกับเจ้าคณะจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) รวมไปถึงประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัด เพื่อให้สามารถนำงานเหล่านี้ลงไปขับเคลื่อนในแต่ละจังหวัดนั้นได้ และผ่านลงไปสู่อำเภอ โดยกลไกของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) แล้วจึงทำให้ไปเกิดงานอยู่ที่ตำบล

“กลไกทุกอย่างมันมีโครงสร้างไว้ให้อยู่แล้ว มีกฎหมายรองรับ มีงบประมาณให้ส่วนหนึ่ง เหมือนมนุษย์ที่มีโครงกระดูก แต่การจะใส่จิตวิญญาณลงไปได้อย่างไร นั่นคือหน้าที่หรือพันธกิจของ กขป. และจิตวิญญาณที่ว่านี้ก็คือการแปลง 4PW ให้เป็นรูปธรรม” ประธาน กขป.เขต ๙ เปรียบเปรย

สำหรับ กขป.เขต ๙ ของหมอสำเริงชุดนี้ ก็ได้นำเอาประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั้ง ๔ จังหวัดเข้ามาเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้ภาพจากที่ประชุม กขป. สามารถนำไปสู่การคิดนโยบายของจังหวัด เช่นเดียวกับการเสริมมุมมองนโยบายสาธารณะจากสมัชชาสุขภาพ ที่จะเอามาใช้ในการดำเนินงานของ กขป.ได้ พร้อมกันนี้เขายังระบุถึงพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ คือบทบาทของหน่วยงานทั้ง ๔ ส. ที่จะต้องนำเข้ามามีส่วนร่วมให้ครบ เพราะในช่วงแรกนั้นบาง ส. ก็อาจไม่ได้เข้ามาร่วมมากนัก

ทั้งนี้ มุมมองส่วนตัวในการทำงาน กขป. ของหมอสำเริงหลังจากนี้ เขาสรุปว่าอันดับแรกนั้น กขป. จะต้องเป็นศูนย์รวมที่ขายความคิดการทำงานให้กับคณะกรรมการได้ เพื่อให้ได้มีส่วนร่วมและรู้สึกว่าเกิดประโยชน์ เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของงานที่จะต้องเข้ามาช่วยกัน ขณะเดียวกันก็จะไม่ใช่การนำความคิดไปใส่ให้ทั้งหมด แต่ก็จะต้องเปิดรับความคิดให้เข้ามาเจอกัน เพราะหาก กขป.เองยังรวมกันไม่ติด ส่วนอื่นก็ก็จะไปต่อไม่ได้

ถัดมาคือการใช้โครงสร้างเดิมที่มีอยู่ อย่างกลไกของ ๔ ส. ในระดับเขตเองไม่ว่าจะเป็น กขป. หรือคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) มาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันให้ได้ เพราะนี่คือกลไกแนวราบที่ใกล้ชิดกันมากที่สุด พร้อมให้ความสำคัญกับกลไกจังหวัด โดยตั้งอนุกรรมการเพื่อประสานงานในระดับจังหวัด แล้วดึงอำนาจของ ผวจ. เข้ามามีส่วนร่วม พร้อมกันกับเจ้าคณะจังหวัด นพ.สสจ. รวมถึงประธานสมัชชาฯ เพื่อเคลื่อนงานในจังหวัด

เมื่อแนวคิดจากจังหวัดเป็นนโยบายที่ลงไปตามคำสั่งของ ผวจ. กลไกของอำเภอก็จะเป็นไปโดยอัตโนมัติ ผ่าน พชอ. คำสั่งนายอำเภอ และไปเกิดเป็นผลงานขึ้นในระดับตำบล ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในทุกตำบล แต่ให้มีบางตำบลที่เป็นโมเดลตัวอย่างนำร่อง เป็นแหล่งดูงาน ซึ่งในแต่ละตำบลก็อาจมีจุดเด่นอะไรที่แตกต่างกัน

“ให้ฐานของเจดีย์อยู่ที่ตำบล นี่คือแนวทางการทำงานของผมในชุดนี้ อะไรเดิมที่ดีก็ต่อยอด อะไรที่เยอะไปก็ลดลง ส่วนอะไรที่ยังไม่ดีเราก็ปรับใหม่ โดยใช้โครงสร้างและกลไกที่มีอยู่นี้มาทำให้เกิดบูรณาการ เกิดการเคลื่อนงานและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ท้ายที่สุดแล้วก็จะเกิดประชาชนที่ตระหนักรู้ถึงปัญหา และเป็นฐานที่จะนำไปสู่การรวมพลังของประชาชนในระดับชาติได้ต่อไปในอนาคต” หมอสำเริง ทิ้งท้าย

 3 ธันวาคม 2564