สช.ลงพื้นที่ขยายผล มาตรา12 ตายดีวิถีพุทธ จับมือศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ดันโครงการพัฒนาต้นแบบ ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต
1 กุมภาพันธ์ 2567
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

วันพฤหัสบดี ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ รองฯสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล ร่วมประชุมเสวนาขับเคลื่อนงานวิจัย โครงการพัฒนาต้นแบบการขับเคลื่อนสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต และการตายดีเชิงบูรณาการวิถีทางพระพุทธศาสนา การแพทย์ และหลักกฎหมาย ในผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด(ธ) จังหวัดนครราชสีมา ต.ท่าเยี่ยม อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา  โดย ท่านพระอาจารย์แสนปราชญ์ ปัญญาคโม เป็นประธาน



ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด (ธ) จังหวัดนครราชสีมา เป็นโครงการพัฒนาต้นแบบการขับเคลื่อนสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตและการตายดีเชิงบูรณาการวิถีทางพระพุทธศาสนา การแพทย์ และหลักกฎหมาย ในผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นศูนย์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต โดยองค์ประกอบที่สำคัญของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันคือ ศาสตร์ด้านการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) การวางแผนการดูแลล่วงหน้า (Advance care plan)  และการแสดงเจตนาในระยะสุดท้ายของชีวิต (Living will)  ตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐



อีกทั้งศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด (ธ) ยังเน้นในเรื่องของการรับรู้และทัศนคติ ของประชาชนในเรื่องการวางแผนและเตรียมความพร้อมของชีวิตไว้ล่วงหน้า หรือการตายดีในสังคมไทยปัจจุบัน ยังมีความท้าทายในหลายด้าน  ที่มาจากค่านิยมและวัฒนธรรมของสังคมไทยต่อความตาย และความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายลงไปในระดับชุมชน วัด ภาคประชาสังคม และเครือข่ายพระสงฆ์  ตลอดจนสถาบันการศึกษา ดังนั้นเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติเพื่อการตายดี ที่บูรณาการวิถีทางพระพุทธศาสนา การแพทย์ และหลักกฎหมาย ไปสู่ประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้สามารถเข้าถึงระบบการดูแลในระยะสุดท้ายของชีวิต และผลักดันนโยบายการส่งเสริมสิทธิด้านการตายดี (Good Death) ให้แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับในสังคม



ทั้งนี้โครงการพัฒนาต้นแบบการขับเคลื่อนสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต และการตายดีเชิงบูรณาการวิถีทางพระพุทธศาสนา การแพทย์ และหลักกฎหมาย ในผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มีกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
1. กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ที่พักอาศัยอยู่ประจำใน ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย วัดป่าโนนสะอาด และ ทำหนังสือแสดงเจตนาฯ  “อาจารย์ใหญ่ทางจิตวิญญาณ”  และผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์  ที่ไม่ได้พักอาศัยอยู่ใน ศูนย์พุทธวิธี  

2. กลุ่มอาสาสมัคร  “พุทธจิตอาสา” ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ฯ

3.กลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ที่สนใจเป็นอาสาสมัคร “พุทธจิตอาสา” เพื่อสื่อสารให้ครอบครัวมีการใช้หนังสือแสดงเจตนาฯ  

4. หน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตและการตายดี ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น หน่วยบริการสุขภาพ  อปท.  พมจ.  และภาคเอกชน วัด มูลนิธิ  หน่วยงานวิชาการ