สช.ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดการสุขภาวะ ผ่านกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมหาดใหญ่
5 มีนาคม 2567
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดการสุขภาวะผ่านกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ณ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข นักศึกษาปริญญาโท เครือข่ายสร้างสุขภาคใต้ และเครือข่ายขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เข้าร่วมผ่านทางออนไลน์และออนไซต์ประมาณ 100 คน

เครื่องมือพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ภายใต้ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 ประกอบด้วย สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ (Rights and Duties) ล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญในการ “จัดการสุขภาวะด้วยกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม" นพ.สุเทพ ย้ำให้เห็นถึงหลักการทำงานที่ดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการและเชื่อมโยงการทำงานกับภาคีหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ โดยเน้นการนำไปขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมที่สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมและความต้องการของคนทุกกลุ่มวัยให้เป็นปัจจุบัน

โดยมีผู้ร่วมอภิปรายและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มีความสำคัญ เช่น การปรับกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มาเป็นรูปแบบสมัชชาสร้างสุขในระดับภาค ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 การสรุปบทเรียนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของภาคีเครือข่ายภาคใต้ การจัดกลุ่มประเด็นนโยบายสาธารณะให้มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง และการนำเครื่องมือต่างๆ ลงมาให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นนำไปใช้ได้อย่างสอดคล้องกับภารกิจของแต่ละเครือข่าย

อีกทั้งผู้แทนเครือข่ายจะนะยั่งยืน ร่วมเสนอ ติดตามและประเมินผลนโยบายสาธารณะที่ได้ปฏิบัติ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างไร และตำบลชะแล้ ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งแรกของประเทศไทยที่มีการประกาศใช้ธรรมนูญสุขภาพ
ขับเคลื่อนโดยการแบ่งระบบสุขภาพชุมชนออกเป็น 14 ระบบ ที่เกิดจากการขับเคลื่อนในชุมชน และต้องการเห็นคนชะแล้มีความสุข ร่วมกำหนดความสุข ประสานภาคีมาเป็นเพื่อนร่วมเรียนรู้ อยู่บนความคาดหวังจากคำว่าแห่งแรกของประเทศไทย มีกลไกสำนักขับเคลื่อนธรรมนูญ ถอดบทเรียนปรับปรุงพัฒนา มีเพื่อนเกลอมาดูงานนำไปขยายผลไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง