สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติร่วมประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอและผลักดันข้อเสนอจากรายงาน HIA เข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ เรื่อง “นโยบายเตรียมความพร้อมการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการอำนวยการการแพทย์ฉุกเฉิน ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี”
19 มีนาคม 2567
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

19 มีนาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นำทีมโดย ดร.นาตยา พรหมทอง หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาและขับเคลื่อนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ พร้อมคณะทำงาน ร่วมประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอผลการทำ #HIA และผลักดันข้อเสนอจากรายงาน HIA เข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ เรื่อง “นโยบายเตรียมความพร้อมการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการอำนวยการการแพทย์ฉุกเฉิน (ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ) ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี” ที่นำเสนอข้อมูลโดย รศ.ดร.พัชนา  ใจดี  ที่ปรึกษาคณะทำงาน HIA , ดร.พิจิตรา  ปฏิพัตร ที่ปรึกษาคณะทำงาน HIA และ ดร.สุนิศา  แสงจันทร์ นักวิจัยคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.บูรพา ณ ห้องประชุมพระยาสัจจา องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี  การประชุมครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากนายวิทยา คุณปลื้ม นายกอบจ.ชลบุรี เข้าร่วมประชุมรับฟังข้อมูลในครั้งนี้ด้วย

โครงการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานใน #การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ กรณีศึกษา นโยบายการเตรียมความพร้อมการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการอำนวยการ (ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ) ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี

 


ผลจากการวิเคราะห์ประเด็นนโยบายสาธารณะที่เป็นไปตามแนวคิดของ Kingdon(1995) ที่เสนอว่า “ #หน้าต่างแห่งโอกาสของนโยบาย (Policy windows of opportunity)” ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการนโยบายสาธารณะเนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อของกระแสที่สนับสนุนในมุมมองสาธารณะและเกิดพลังในการขับเคลื่อนอย่างมีส่วนร่วม ดังนั้นเมื่อพิจารณามุมมองของกระแสทั้ง 3 ด้านในสถานการณ์ของจังหวัดชลบุรี พบว่า 1. กระแสของปัญหา (Problem stream) สะท้อนได้จากการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในจังหวัดชลบุรี 2. กระแสของนโยบาย (Policy stream) เป็นการสร้างทางเลือกของนโยบายเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีมติว่า การแพทย์ฉุกเฉินเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพยาบาลที่ดูแลตั้งแต่จุดเกิดเหตุจนถึงโรงพยาบาลเพื่อมิให้ผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างทาง ถือเป็นอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามมาตรา 16 และ 17 แห่ง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542  3. กระแสของการเมือง (Politics stream)


สำหรับแนวทางการดำเนินการขับเคลื่อนข้อเสนอฯ มีดังนี้

1. ข้อเสนอแนะที่มีต่อหน่วยปฏิบัติการอำนวยการฯ (ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการฯ จังหวัดชลบุรี)

1.1 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีและหน่วยปฏิบัติการอำนวยการฯ พิจารณาความเป็นไปได้ของแนวทางการบริหารหน่วยปฏิบัติการอำนวยการ (ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ) ทั้งในระดับพื้นฐานและระดับสูงร่วมกันให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 พ.ร.บ. การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 และประกาศของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินเรื่อง หลักเกณฑ์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่น พ.ศ. 2560 เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข (ฉบับปรับปรุง)

1.2 หน่วยปฏิบัติการอำนวยการฯ ร่วมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันทั้งในด้านภาระงานของบุคลากรและความเหมาะสมของโครงสร้างองค์กร เพื่อประเมินสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น และเสนอแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาหน่วยปฏิบัติการอำนวยการฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงาน

1.3 หน่วยปฏิบัติการอำนวยการฯ ควรจัดทาแผนอัตรากำลังและแผนการพัฒนาบุคลากรของทีมสหสาขาวิชาชีพให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่ และพัฒนาเสริมสมรรถนะด้านการสั่งการโดยพัฒนาและใช้ประโยชน์จากระบบสารสนเทศเพื่อจัดทำขอบเขตการปฏิบัติการและแนวทางในการตัดสินใจสั่งการที่คำนึงถึงประโยชน์ของผู้รับบริการเป็นสำคัญ

1.4 หน่วยปฏิบัติการอำนวยการฯ ควรจัดหา จัดสรร และบำรุงรักษาทรัพยากรที่ทันสมัยให้พร้อมใช้ในการดำเนินงานตามแนวทางการจัดการสินทรัพย์ (Asset management) ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

1.5 หน่วยปฏิบัติการอำนวยการฯ ประสานงานกับตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีเกี่ยวกับช่องทางการติดต่อและแนวทางในการอำนวยความสะดวกเรื่องเส้นทางการจราจรให้แก่หน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงควรเป็นหน่วยงานหลักในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชลบุรีให้ความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกเรื่องเส้นทางการจราจรให้แก่หน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน


2. ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดชลบุรี

2.1 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี หน่วยปฏิบัติการอำนวยการฯ และหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ ร่วมกันจัดการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการในการเคลื่อนย้ายและนำส่งผู้ป่วยด้วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ หรือเข้าร่วมฝึกซ้อมปฏิบัติการฉุกเฉินกับหน่วยงานอื่น ตามความจำเป็นในการจัดการปฏิบัติการฉุกเฉินตามมาตร 15(3) แห่งพรบ. การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมของทีมให้มีทักษะและอุปกรณ์ให้มีความเพียงพอและเหมาะสมพร้อมปฏิบัติการ โดยเฉพาะเครือข่ายบริการในปฏิบัติการฉุกเฉินทางน้ำ จังหวัดชลบุรีควร จัดทำต้นแบบหรือแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ที่ปฏิบัติการฉุกเฉินทางน้ำและทะเล โดย เอกสารประกอบการพิจารณาสำหรับการผลักดันเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ HIA EMS อบจ.ชลบุรี  การสังเคราะห์องค์ประกอบและกลไกของหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ เพื่อเตรียมความพร้อมของหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินของจังหวัดชลบุรีและพื้นที่อื่น

2.2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ร่วมกับหน่วยปฏิบัติการอานวยการฯ พัฒนาและปรับปรุงตัวชี้วัดและเกณฑ์ความสำเร็จด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องระยะเวลาของการปฏิบัติการฉุกเฉินตั้งแต่การรับแจ้งเหตุจนถึงจุดเกิดเหตุให้เป็นไปตามมาตรฐานของระบบการแพทย์ฉุกเฉินและสอดคล้องกับบริบทพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยเสนอและผ่านความเห็นชอบของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

2.3 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี หน่วยปฏิบัติการอำนวยการฯ และหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ร่วมกันในรูปแบบของคณะกรรมการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดชลบุรี ร่วมวางแผนและบรรจุกิจกรรมที่ครอบคลุมกิจกรรมการปฏิบัติการก่อนถึงโรงพยาบาล (Pre-hospital care) ไว้ในแผนปฏิบัติการฯ โดยทำกิจกรรมในการสนับสนุน ติดตาม และประเมินความเพียงและพร้อมใช้งานของวัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะ และศักยภาพของบุคลากรให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่และการกำกับดูแลหน่วยปฏิบัติการแพทย์ พ.ศ. 2564 โดยเฉพาะกิจกรรมการพัฒนาทัศนคติและสมรรถนะของบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดชลบุรีที่ต้องบรรจุไว้ในแผนการพัฒนาระบบฯในทุกๆปีอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เช่น กิจกรรม EMS rally กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นากรณีศึกษาที่มีปัญหามาทำ RCA ร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของการสื่อสารภายหลังจากการใช้ระบบการสื่อสารแบบ Telemedicine ที่เฉพาะเจาะจงในระบบการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดชลบุรี พิจารณาเพิ่มช่องทางการสื่อสารและพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารให้กับบุคลากรในหน่วยปฏิบัติการทุกระดับ โดยพิจารณาฟื้นฟูระบบ Ambu-link หรือพัฒนาระบบอื่นในระบบ Telemedicine เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติเป็นการเฉพาะเพื่อสื่อสารระหว่างหน่วยปฏิบัติการอำนวยการและหน่วยปฏิบัติการที่ปฏิบัติการ ณ จุดเกิดเหตุหรืออยู่ในระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่ใช้ระบบเดียวกันทั้งระบบ และเพิ่มช่องทางสื่อสารสารองระหว่างหน่วยปฏิบัติการอำนวยการและหน่วยปฏิบัติการแพทย์

2.4 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี หน่วยปฏิบัติการอำนวยการฯ และหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ร่วมกันในรูปแบบของคณะกรรมการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดชลบุรี จัดทำกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางการแจ้งเหตุในระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั้งระดับชาติและระดับจังหวัด เพื่อเพิ่มความตระหนักและสามารถให้ข้อมูลที่จำเป็นได้อย่างเหมาะสมในการแจ้งเหตุของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ประชาสัมพันธ์แบบเป็นรูปธรรม เพื่อการแจ้งเหตุอย่างถูกต้อง

2.5 จากข้อจำกัดด้านการเบิกจ่ายงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับกิจกรรมที่จำเป็นในระบบการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดชลบุรี ดังนั้นสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และหน่วยปฏิบัติการอำนวยการฯ จึงควรได้มีการปรึกษาหารือถึงแนวทางการบริหารงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการอำนวยการฯ และหน่วยปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินภายในระบบการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยควรมีสื่อกลางในการติดตามค่าชดเชยแบบเป็นรูปธรรม