"แพทย์ มข." ชูความสำเร็จก้าวหน้าการวิจัยฯสร้างนักวิจัยใน และนอกต่างประเทศ

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แถลงความสำเร็จก้าวเป็นผู้นำในเรื่องการวิจัยเชิงสังเคราะห์และการนำข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้มารักษาผู้ป่วย และสร้างนักวิจัยในไทย และต่างประเทศ 

   เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่  21 มีนาคม 67 ณ ห้องประชุมหนองแวง ชั้น 6 สำนักงานคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  รศ.นพ.อภิชาติ  จิระวุฒิพงศ์  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มข. พร้อมด้วย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์  และ รศ.วิมลรัตน์ ศรีราช รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับความสำเร็จก้าวเป็นผู้นำในเรื่องการวิจัยเชิงสังเคราะห์และการนำข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้มารักษาผู้ป่วยและสร้างนักวิจัยในไทยและต่างประเทศ โดยมี ผศ.นพ.เกียรติศักดิ์  คงวัฒนกุล อาจารย์สาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ผู้ดำเนินรายการ และอาจารย์ทีมนักวิจัย ตลอดจนสื่อมวลชน ร่วมงานแถลงข่าวดังกล่าว

   รศ.นพ.อภิชาติ  จิระวุฒิพงศ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวต้อนรับสื่อมวลชนและแถลงถึงความสำเร็จก้าวเป็นผู้นำในเรื่องการวิจัยเชิงสังเคราะห์ และการผลิต และนำข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้มารักษาผู้ป่วย และสร้างนักวิจัยในไทยและต่างประเทศ โดยคณะแพทยศาสตร์ได้ให้ความสำคัญกับ“เวชศาสตร์เชิงประจักษ์” (Evidence Based Medicine – EBM) ที่ว่าด้วยการเลือกวิธีการรักษาโดยใช้ “หลักฐาน”จากงานวิจัย เป็นศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพมากและมีความเกี่ยวพันกันหลายด้าน โดยเน้นให้มีการเรียนการสอนในหลักสูตรของคณะแพทยศาสตร์ โดยที่ผ่านมามีความร่วมมือกว่า 20 ปีกับองค์กรระดับนานาชาติในการทำวิจัยเชิงสังเคราะห์ในประเทศและเอเชีย 

   ด้าน ศ.นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์  กล่าวถึงความสำคัญของการนำหลักการของเวชศาสตร์เชิงประจักษ์มาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน การรักษาพยาบาล และการวิจัย เพิ่มขีดความสามารถของการรักษา โดยประเทศไทยได้มีการก่อตั้ง Thai Cochrane Network ในปี พ.ศ. 2545  โดย ศ.นพ. ภิเศก ลุมพิกานนท์ และทีมงาน ก่อนที่จะพัฒนามาเป็น Cochrane Thailand ในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งตั้งอยู่ที่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความมุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ในการผลิตและเผยแพร่หลักฐานการวิจัยเชิงประจักษ์เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจด้านการดูแลสุขภาพ โดยไม่เพียงมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบในระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลกระทบระดับโลกด้วย การที่เราได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกเพื่อการสังเคราะห์งานวิจัยด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ ในปี 2557 และเป็น WHO HRP Alliance  HUB 

   เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัยสำหรับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO/SEARO) ในปี 2560 ตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก โดยได้มีส่วนร่วมในการสังเคราะห์งานวิจัยมากกว่า 50 เรื่อง เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาแนวปฏิบัติด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยขององค์การอนามัยโลก (WHO recommendation) 

   "จุดแข็งของ Cochrane อยู่ที่มีการทำงานร่วมกันจากผู้คนทั่วโลกที่เป็นตัวแทนของ Cochrane ในประเทศต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการใช้หลักฐานการวิจัยจาก Cochrane เป็นแนวทางกำหนดโยบายและแนวปฏิบัติด้านสุขภาพ นอกจากนี้ยังได้มีการแปลบทคัดย่อ และบทสรุปของ Cochrane Review มากกว่า 1,000 เรื่อง เนื่องจากเราเชื่อว่าภาษาไม่ควรเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลด้านการดูแลสุขภาพ" 

   มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการทำ Cochrane Review และการใช้ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องให้แก่นักวิจัยที่สนใจทั้งในประเทศ และต่างประเทศ (ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า ศรีลังกา) การดำเนินการตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา Cochrane Thailand ได้รับทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และองค์การอนามัยโลก 

   ส่วน รศ.วิมลรัตน์ ศรีราช รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ได้กล่าวว่าฝ่ายวิจัยให้การสนับสนุนการวิจัยเวชศาสตร์เชิงประจักษ์ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์ โดยมุ่งให้แพทย์ได้เลือกวิธีการรักษาที่ดีและเหมาะสมต่อผู้ป่วยที่สุด โดยใช้หลักฐานที่เชื่อถือได้มากที่สุดเป็นสิ่งสำคัญ แต่หากจะนำไปสู่นโยบายสุขภาพที่คนไทยสามารถเข้าถึงได้ทั่วประเทศจะให้เป็นประโยชน์ต่อคนไทยทุกคน  เวชศาสตร์เชิงประจักษ์ เป็นแนวปฏิบัติเพื่อค้นหาการรักษาที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดทั้งมุมแพทย์และผู้ป่วยจากหลักฐาน.

 21 มีนาคม 2567