กขป.12 ติดตามผลลดปัจจัยเสี่ยงและร่วมสร้างสุขภาวะแม่และเด็ก9 เมษายน 2567
อังคารที่ 9 เมษายน 2567 คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเขต 12 จัดกระบวนการติดตามสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่เป็นประเด็นร่วมของเขต ได้แก่ 1) ประเด็นบุหรี่และปัจจัยเสี่ยง 2) ประเด็นสุขภาวะแม่และเด็ก โดยมี นพ.สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ ประธาน กขป. 12 คณะกรรมการ กขป. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนประเด็นในพื้นที่ เข้าร่วม ณ มูลนิธิชุมชนสงขลา
ประเด็นบุหรี่และปัจจัยเสี่ยง มีเป้าหมายได้แก่ การมุ่งสร้างพื้นที่กลาง ในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้า และฟื้นฟูกลุ่มติดยาเสพติดด้วยกลไกการมีส่วนร่วมของสังคม
มีผลการขับเคลื่อนที่สำคัญ ได้แก่ การ Priority กลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำไปสู่การทำงาน หรือเชิญกลุ่มเป้าหมาย มาเป็นทีมทำงาน เริ่มจากกลุ่มนักเรียนในสถานศึกษา ร่วมกันวางพื้นที่ต้นแบบเชิงนโยบาย ที่เป็นจุด click ขยายผลได้ เช่น มัสยิด โรงเรียนตาดีกา โรงเรียนเอกชน เทคนิคฯ พาณิชย์ฯลฯ
โดย กขป. 12 จะไปช่วยยกระดับการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายต่างที่ขับเคลื่อนอยู่ เช่น ประชาคมงดเหล้า บุหรี่ ยาสูบ เช่น การทำคู่มือตาดิกา ในอำเภอตากใบ อำเภอรามัน จังหวัดนราธิวาส ร่วมกับหน่วยจัดการสร้างเสริมสุขภาวะและกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ จัดกิจกรรม Hackathorn “ท้าเด็กสงขลา เป็นเยาวชนนำการเปลี่ยนแปลง” ร่วมทำคู่มือ แนวทาง แบบคัดกรองกลุ่มติดยาเสพติด รพ.ธัญรักษ์
แนวทางการทำงานต่อ เช่น ร่วมประสานกับกลไก เช่น แผนงานร่วมทุน สสส. (ปัตตานี พัทลุง สงขลา สตูล) ผลักดันโครงการต่อต้านบุหรี่ เสนอนโยบายผ่านทางกลไกสภา คณะกรรมาธิการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำงานขับเคลื่อนร่วมกับกองทุนสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) เน้นในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี รวมถึงขอร่วมในกระบวนการพัฒนาสมัชชาเฉพาะประเด็น ว่าด้วยการปกป้องเด็กเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า
ประเด็นสุขภาวะแม่และเด็ก มีเป้าหมายร่วมได้แก่ 1) ยกระดับคุณภาพชีวิตในแม่และเด็ก ดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงสามารถเข้าถึงบริการ วางแผนครอบครัว ชะลอการตั้งครรภ์ไม่พร้อม 2) พัฒนาระบบบริการ ลดการเสียชีวิตของแม่และเด็ก ลดภาวะซีดในหญิงมีครรภ์ เพิ่มการเข้าถึงระบบสุขภาพแบบเชิงรุก/พัฒนาเด็กด้านพัฒนาการโภชนาการ วัคซีนและการดูแลสุขภาพช่องปาก
มีผลการขับเคลื่อนที่สำคัญ อาทิ การลดอัตราการเสียชีวิตของมารดาและทารก เพื่อส่งเสริมการคลอดอย่างมีคุณภาพในเขตสุขภาพที่ 12 การขับเคลื่อนร่วมกับแผนงานร่วมทุนจังหวัดปัตตานี มีพื้นที่ดำเนินการจำนวน 10 ชุมชน เน้นหนักการเข้าถึงวัคซีนในเด็กแรกเกิด วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสงขลา ร่วมสร้างเสริมสุขภาพภาวะโภชนาการกลุ่มแม่และเด็ก สร้างกำลังคนที่เกี่ยวข้องกับงานโภชนาการ (อปท.) มี MOU. แก้ไขปัญหาแม่และเด็ก พัฒนาหลักสูตรส่งเสริมการดูแลแม่และเด็กของ อสม. จัดทำข้อมูลตัดสินใจในนโยบายแก้ปัญหาแม่และเด็ก
ขณะที่ศูนย์บริหารการแพทย์ชายแดนใต้ (ศบ.ชต.) ได้มีการจัดทำหลักสูตรการดูแลแม่และเด็กหลังคลอด เด็กปฐมวัย การเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ ทั้งนี้ทีมเลขานุการร่วม ได้จัดทำฐานข้อมูลโครงการที่เกี่ยวข้องด้านแม่และเด็ก จำนวน 869 โครงการ รวม 34,159,680 บาท ซึ่งได้เตรียมประสานหน่วยงานเจ้าของโครงการสนับสนุนภารกิจและเป้าหมายร่วมกันต่อไป