สช.ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดอบรม อปท. 239 แห่ง ตั้งเป้าสร้าง “อุบลฯโมเดล” รองรับสังคมสูงวัย
10 เมษายน 2567
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ณ รร.เนวาด้า อ.เมือง จ.อุบลราชธานี นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดงาน “โครงการอบรมเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ  ประจำปี 2567” โดยมีผู้บริหารท้องถิ่น และบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครบทั้ง 239 แห่ง ในจ.อุบลราชธานีเข้าร่วม กล่าวว่าในปัจจุบันไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์แล้ว การขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุ ในส่วนของ อปท.มีมาอย่างต่อเนื่อง การอบรมในวันนี้จะเป็นการเติมเต็ม ทักษะ ประสบการณ์ ให้อปท.ที่มีหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะให้ประชาชน เกิดการขับเคลื่อนและบูรณาการแผนงานระหว่างหน่วยงาน ภารกิจงาน งบ คน ทำให้เกิดการเตรียมระบบความพร้อมรองรับสังคมสูงวัยกับให้ประชาชนทุกช่วงวัย เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน


 จากนั้น รศ.ดร.เจิมศักดิ์  ปิ่นทอง ประธานกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) บรรยายพิเศษ “สถานการณ์สังคมสูงวัยภัยที่ต้องเตรียมการ”  ว่าสังคมสูงวัยไม่ใช่ปัญหาของผู้สูงอายุ แต่เป็นปัญหาของคนทุกช่วงวัยและกำลังส่งผลกระทบอย่างเต็มรูปแบบ สถานการณ์นี้ยังต้องการความร่วมมือในเตรียมความพร้อมหลายระดับ  ซึ่งการขับเคลื่อนระบบรองรับสังคมสูงวัยประกอบด้วย 4 มิติ คือด้านเศรษฐกิจ : การออมและการส่งเสริมอาชีพ ด้านสภาพแวดล้อม : การสร้างที่อยู่อาศัยและการปรับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ด้านสุขภาพ : การเตรียมรักษาสุขภาพก่อนป่วยและการดูแลในระยะยาว และด้านสังคม : การส่งเสริมการรวมกลุ่มให้เกิดการแลกเปลี่ยนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการวางระบบและกลไก ที่จะเตรียมความพร้อมในชุมชน

 “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงาน ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเชื่อมประสานกับภาคีในระดับตำบล อำเภอและจังหวัด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานรองรับสังคมสูงวัย ด้วยหลักคิด จตุพลัง ประกอบด้วย ท้องถิ่น-ท้องที่-หน่วยงาน-ชุมชน รวมถึงการผลักดันนโยบายนี้เป็นวาระของจังหวัด“


นายจารึก ไชยรักษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าการเตรียมความพร้อมรับมือสังคมสูงวัย ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะสร้างการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคตและพึ่งพาตนเองได้ ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มีเครื่องมือที่จะสร้างกระบวนการนโยบายสาธารณะที่ทุกภาคส่วนต่อการขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสาธารณะรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ โดยจะเข้ามาสร้างกลไกและมีบทบาทในการสร้างระบบสุขภาพที่เป็นธรรม เกิดข้อตกลงร่วมในระบบสุขภาพที่หน่วยงานหรือองค์กรสามารถนำไปใช้ 


     ”ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบสุขภาพภาคประชาชนที่สำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายไปสู่การปฏิบัติได้ ซึ่งการขับเคลื่อนนโยบายรองรับสังคมสูงวัยระดับพื้นที่ตำบล ในจ.อุบลราชธานี เกิดการประกาศใช้ธรรมนูญในปี 2565 จำนวน 5 พื้นที่ มีการบันทึกข้อตกลงขับเคลื่อนมติรองรับสังคมสูงวัยร่วมกับ 17 อปท. รวมถึงมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้รองรับสังคมสูงวัยจำนวน 3 แห่ง (ต.คูเมือง ต.บุ่งหวาย ต.โนนหนุน อ.วารินชำราบ) รวมถึงจังหวัดอุบลราชธานีเป็น 1 ใน 10 จังหวัดเป้าหมายในการทำแผนรองรับสังคมสูงวัยร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและองค์กรอื่นๆ โดย สช.จะเข้ามาช่วยหนุนสริมการทำงานของท้องถิ่นในการบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายรับมือสังคมสูงวัยระดับจังหวัดที่ครอบคลุมในทุกมิติ” 


ในช่วงบ่าย นายจารึก ไชยรักษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ลงพื้นที่เยี่ยมชม “ศูนย์เรียนรู้รองรับสังคมสูงวัยตำบลคูเมือง”  โดยมีนายสกล โสมะเกษริน นายกอบต.คูเมืองให้การต้อนรับ ทั้งนี้ศูนย์ฯ แห่งนี้เกิดการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่องจากการสนับสนุนจาก อบต.คูเมือง,ท้องที่, รพสต., กลุ่มช่างชุมชน และการสนับสนุนด้านวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จากนั้น เข้าเยี่ยมชมและรับฟังการดำเนินงาน “ศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตเพื่อรองรับสังคมสูงวัย” ต.แสนสุข ซึ่งยึดหลักการพัฒนาคุณภาพชีวิต 5 มิติ ซึ่งรวมด้านเทคโนโลยีเข้ามาด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจาก เทศบาลต.แสนสุข และนักวิจัยจากม.อุบลราชธานี ดำเนินกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง