ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไทยเริ่มลดลง จำนวนวันเกินมาตรฐานหายกว่าครึ่ง ศกพ.แจงผลลัพธ์หลังเป็นวาระชาติ พร้อมเตรียมปรับใช้เกณฑ์ค่าฝุ่นใหม่
25 มีนาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ศกพ.แจงความมุ่งมั่นรัฐบาล แก้ไข-หยุดยั้งปัญหา "ฝุ่นละออง PM2.5" ชี้นับตั้งแต่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ สถานการณ์ดีขึ้นโดยลำดับ จำนวนวันเกินค่ามาตรฐานลดลงทั่วประเทศ พร้อมเตรียมปรับใช้เกณฑ์ใหม่


ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานกลางภายใต้รัฐบาล ในการบูรณาการดำเนินงานการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ชี้แจงถึงการดำเนินงานของทุกภาคส่วนที่ผ่านมา ที่ได้ส่งผลให้สถานการณ์หมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองดีขึ้นเป็นลำดับ

ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตปี 2565 พบว่าพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ตั้งแต่ 1 พ.ย. 2564 - 15 มี.ค. 2565 มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน 26 วัน ลดลง 61% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 67 วัน และหากพิจารณาเฉพาะวันที่มีปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) พบว่ามีจำนวน 1 วัน ลดลง 86% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 7 วัน

ในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 15 มี.ค. 2565 มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน 38 วัน ลดลง 45% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 69 วัน และหากพิจารณาเฉพาะวันที่มีปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) พบว่ามีจำนวน 8 วัน ลดลง 60% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 20 วัน

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบว่า จำนวนจุดความร้อนในภาพรวมของประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 15 มี.ค. 2565 มีจำนวน 31,082 จุด ลดลง 61% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มี 79,441 จุด ซึ่งจะเห็นว่ามาตรการต่างๆ ประสบความสำเร็จในการลดจำนวนจุดความร้อนในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ศกพ. ระบุว่า ยังคงต้องมีการต่อยอดขยายผลการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งการลดการเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม และหมอกควันข้ามแดน ซึ่งยังคงเป็นข้อท้าทายที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง รัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และสั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จัดทำขึ้น โดยในปี 2564 ได้ต่อยอดการดำเนินงานผ่านการจัดทำและขับเคลื่อนแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 ข้อ และจัดตั้ง "ศกพ." ขึ้น

ขณะที่ในปี 2565 ได้จัดทำแผนเฉพาะกิจฯ 9 ข้อ ประกอบด้วย “1 สื่อสาร 5 ป้องกัน 3 เผชิญเหตุ” โดยยกระดับการสื่อสารประชาสัมพันธ์และการพยากรณ์ฝุ่นละอองให้มีความแม่นยำมากขึ้น มุ่งเน้นเน้นการเพิ่มบทบาทของท้องถิ่น และเพิ่มความเข้มงวดมลพิษจากแหล่งกำเนิด ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดสถานการณ์ การดำเนินงานในช่วงสถานการณ์ และการถอดบทเรียนหลังสิ้นสุดสถานการณ

ในส่วนของการดำเนินงานที่ผ่านมา อาทิ การตรวจวัดควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2564 - 23 มี.ค. 2565 ตรวจแล้ว 165,308 คัน พ่นห้ามใช้ 893 คัน เป็นในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 63,997 คัน พ่นห้ามใช้ 190 คัน พร้อมกันนี้ได้ปรับปรุงค่ามาตรฐานควันดำเพื่อเพิ่มความเข้มงวด โดยกำหนดค่าความทึบแสงไม่เกิน 30% จากเดิมไม่เกิน 45% และค่ากระดาษกรองไม่เกิน 40% จากเดิมไม่เกิน 50% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 13 เม.ย.นี้

สำหรับการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ยผลการดำเนินงานในปีการผลิต 2564/2565 ณ วันที่ 9 มี.ค. 2565 มีปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบคิดเป็น 25% ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน และมีเป้าหมายจะลดให้เหลือ 0% ภายในฤดูกาลผลิต 2566/2567 

 การดำเนินโครงการ "ชิงเก็บ ลดเผา" ในปี 2564 สามารถดำเนินการเก็บขนเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่ามาใช้ประโยชน์ได้ 2,800 ตัน จากเป้าหมาย 1,000 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ 400,000 ไร่ ส่งผลให้จำนวนจุดความร้อนในพื้นที่ชิงเก็บลดลง 60% และในปี 2565 มีการดำเนินงานต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลปัจจุบัน สามารถเก็บขนเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่ามาใช้ประโยชน์ได้ 1,310 ตัน จากเป้าหมาย 3,000 ตัน และคาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ตามเป้าหมาย

ด้านการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ได้มีการประสานผ่านสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งได้มีการเสนอให้พิจารณาขยายแผนการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการเชียงราย 2017 (เพิ่มขึ้นอีก 5 ปี) และการกำหนดตัวชี้วัดร่วม ASEAN Joint KPI เพื่อลดจุดความร้อนในภูมิภาคอาเซียน 20% ภายในปี 2565

"นอกจากการลดและควบคุมการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศอีกด้วย" คำชี้แจงจาก ศกพ. ระบุ