สช. ถกร่วม กมธ.งบประมาณฯ เสนอกลไกทลายอุปสรรค"‘จัดสรรเงิน" อภิบาลระบบขับเคลื่อน "ถ่ายโอน รพ.สต."7 พฤษภาคม 2567
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 นพ.ปรีดา
แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)
เข้าร่วมเวทีการสัมมนาในหัวข้อ “การบริหารงบประมาณ รพ.สต. ในมือท้องถิ่น
ความท้าทายในการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ” ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ
สภาผู้แทนราษฎร ณ อาคารรัฐสภา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
นพ.ปรีดา เปิดเผยว่า
การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปอยู่ในมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(อปท.) ที่ดำเนินการมานับกว่า 20 ปี จากที่มีแผนการกระจายอำนาจฯ
เมื่อปี 2543 แต่เรากลับสามารถถ่ายโอนไปได้เพียง 85 แห่ง จาก รพ.สต. ทั้งหมดที่มีอยู่ 9,872 แห่ง ซึ่งคำนวณแล้วอาจต้องใช้เวลาถึง
300 ปี หากไม่เกิดการถ่ายโอนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้
ที่ทำให้เราสามารถถ่ายโอนไปได้แล้วถึง 4,276 แห่ง
หรือคิดเป็น 43%
นพ.ปรีดา กล่าวว่า
อย่างไรก็ตามหลังจากที่ รพ.สต.
จำนวนหนึ่งถูกถ่ายโอนไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แล้วกลับยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐเข้ามาตามที่ควรจะเป็น
ทั้งที่งบประมาณภายในประเทศไม่ได้ลดน้อยลง
แสดงให้เห็นว่าปัญหาขณะนี้น่าจะอยู่ที่การจัดสรรทรัพยากร
ซึ่งไม่ต่างกับความเหลื่อมล้ำของงบที่ใช้ในการดูแลสุขภาพประชาชน สะท้อนจากค่าใช้จ่ายต่อหัวที่แต่ละกองทุนหลักประกันสุขภาพใช้ในปี
2566 ได้แก่ บัตรทอง 3,385 บาท
ประกันสังคม 3,800 บาท ขณะที่ข้าราชการ 14,000 บาท
รองเลขาธิการ คสช.
กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีกลไกสำคัญที่เกิดขึ้นจากการถ่ายโอน คือการจัดตั้งกองสาธารณสุข
อบจ. และคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ซึ่งเป็นกลไกที่ดีมาก โดยเฉพาะ กสพ.
ที่ถือเป็นจุดศูนย์กลางของการทำงานสุขภาพร่วมกันในระดับจังหวัด แต่เมื่อมีการตั้งขึ้นมาแล้วกลับไม่ได้รับการสนับสนุนหรือพัฒนาศักยภาพ
รวมถึงประเด็นข้อติดขัดอื่นๆ
อีกมากอันเนื่องมาจากมุมมองที่แตกต่างกันอยู่ในแต่ละสังกัด ทำให้เห็นว่าประเด็นปัญหาสำคัญขณะนี้คือการเข้ามาพูดคุยร่วมกัน
ทั้งนี้
ที่ผ่านมาทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
ได้มีบทบาทในการเข้าไปสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับการดำเนินงานระบบสุขภาพท้องถิ่น
ไม่ว่าจะเป็นโครงการสู้ภัยโควิด-19 การพัฒนาศักยภาพกองสาธารณสุข
อบจ. การลงนามความร่วมมือกับ 15 หน่วยงานเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพของ
อปท. การพัฒนากลไกความร่วมมือเพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น
ตลอดจนการปรับใช้ระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) สู่สถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ
เป็นต้น
“ในช่วงโควิดถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ดี
ถึงแม้ตอนนั้นเราจะยังไม่มีการถ่ายโอน รพ.สต. แต่เมื่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
เป็นเจ้าภาพหลักแล้วชวนท้องถิ่นเข้ามาให้ความร่วมมือ
เราก็สามารถช่วยกันจัดการโรคได้เป็นอย่างดี กลับกันในตอนนี้ที่ รพ.สต.
เกือบครึ่งไปอยู่กับท้องถิ่นแล้ว หากมีนโยบายจากรัฐหรือ สธ. ออกมา เชื่อว่าคงไม่มีท้องถิ่นไหนที่ไม่ให้ความร่วมมือ
มีแต่จะเสนอความช่วยเหลือ จึงคิดว่าหลังจากนี้แม้เปลี่ยนสังกัด
ก็แค่เปลี่ยนหน่วยรับงบประมาณเท่านั้น แต่เราจะทำงานร่วมกันต่ออย่างไร” นพ.ปรีดา
ระบุ
นพ.ปรีดา
ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการต่างๆ
อาทิ การสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยยกระดับ รพ.สต. จากที่เน้นบริการรักษาพยาบาลเบื้องต้น
(Well care) ให้ไปสู่การดูแลสุขภาวะ (Wellness)
หรือกลายไปเป็น Well-being Center เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ
สร้างความรู้ด้านสุขภาพ สร้างกลไกความร่วมมือ
ปรับปรุงกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรคไม่ว่าจะเป็นในด้านงบประมาณ ที่ดิน ฯลฯ
ขณะที่ รศ.วสันต์ เหลืองประภัสร์
หัวหน้าสาขาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า
จากจุดเริ่มต้นนับตั้งแต่ที่มี
พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 เคยมีการพูดถึงการเพิ่มงบประมาณของท้องถิ่นให้ขึ้นไปถึง 35% แต่ปัจจุบันยังไม่ถึง โดยยังอยู่ที่ประมาณ 28% เนื่องด้วยยังมี
2 อย่างที่ถ่ายโอนไม่สำเร็จ นั่นคือสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(สพฐ.) กับสถานีอนามัย หรือ รพ.สต.
รศ.วสันต์ กล่าวว่า
หนึ่งในปัญหาตลอดมาของการกระจายอำนาจในประเทศไทย คือมีแผนว่าควรจะถ่ายโอนอะไร แต่กลับไม่เคยมีแผนเตรียมการเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการถ่ายโอนอย่างเป็นระบบ
ว่าจะทำอย่างไร ส่วนปัญหาใหญ่ของการถ่ายโอน รพ.สต. ที่ดำเนินการไปแล้วเกือบครึ่งหนึ่งในขณะนี้
คือเรื่องของงบประมาณที่เคยมีการตกลงกันไว้ว่าจะจัดสรรใหม่ เพื่อให้ รพ.สต.
สามารถดำเนินงานได้ปกติเหมือนก่อนการถ่ายโอน โดยจะจ่ายให้ตามขนาด S, M และ L ที่จำนวน 1, 1.5 และ 2
ล้านบาทตามลำดับ
แต่เมื่อถึงเวลาจริงแล้วรัฐบาลกลับจ่ายไม่ครบตามที่ตกลงกันไว้ สุดท้ายจึงเข้าเนื้อท้องถิ่น
“อย่างหนึ่งที่ชัดเจนในสากลโลก
คือระบบสุขภาพปฐมภูมิเขาจะกระจายอำนาจไปที่ท้องถิ่น แต่การถ่ายโอนนี้ก็ต้องไม่ใช่การแบ่งเค้กอย่างเด็ดขาด
ไม่ใช่ว่าพอแบ่งมรดกกันแล้วก็ไม่ต้องมาเกี่ยวกันอีก โดยเฉพาะระบบสาธารณสุขที่เป็นบริการสาธารณะ
จะต้องมีการส่งต่อเชื่อมร้อยกันอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะในแง่ของบุคลากร ความรู้ หรือคนไข้ก็ตาม
ซึ่งงานด้านนี้จะทำคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องจับมือกันจึงจะทำให้การถ่ายโอนสำเร็จ” รศ.วสันต์
ระบุ
ด้าน นางสมคิด ปานบุญ ผู้อำนวยการ รพ.สต.บางขะแยง
กล่าวว่า ทีมของ รพ.สต.บางขะแยง ได้ตัดสินใจถ่ายโอนไปอยู่กับ อบจ.ปทุมธานี
ทุกคนตั้งแต่การถ่ายโอนในรอบแรกเมื่อปี 2566
หลังจากพูดคุยหารือและมองเห็นร่วมกันว่าการถ่ายโอนจะช่วยต่อยอดการดูแลประชาชนได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามภายหลังถ่ายโอนมาแล้วกลับพบปัญหาด้านงบประมาณ เนื่องจากโรงพยาบาลแม่ข่ายเริ่มหันมาคิดค่าใช้จ่ายหลังมองว่าไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดเดียวกัน
รวมถึงปัญหาภาระงาน ที่ได้รับการสนับสนุนบุคลากรการแพทย์น้อยลงไปด้วย
“เนื่องจากตอนนี้ยังมี
รพ.สต. ถ่ายโอนมา อบจ.ปทุมธานี ไม่มาก เลยคิดว่ายังได้รับการดูแลที่ดีอยู่ โดยทาง
อบจ. เองก็มีส่วนช่วยสนับสนุนเรื่องของวัสดุ อุปกรณ์ งบประมาณต่างๆ รวมถึงล่าสุดเรายังมีโอกาสได้เป็นพื้นที่นำร่องในโครงการพัฒนากลไกความร่วมมือเพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น
ของ สช. ที่มุ่งสร้างให้เกิดการเชื่อมต่อกับชุมชน ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาตามบริบทของพื้นที่จริงๆ
อย่าง ต.บางขะแยง ที่เราหยิบเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงขึ้นมาดำเนินงานและได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก
จึงมองว่าแม้การถ่ายโอนจะเจอความท้าทาย และมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่เราก็มีความสุขในการทำงาน”
นางสมคิด ระบุ