สช. สานพลัง ภาคีเครือข่ายนักสื่อสาร และสถาบันการศึกษา ในภาคตะวันออก ร่วมเดินหน้าสร้างนักสื่อสารสุขภาวะรุ่นใหม่5 มิถุนายน 2567
สช. เดินหน้าสร้างนักสื่อสารรุ่นใหม่ ร่วมกับ มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารสุขภาวะชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เข้าใจเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ โดยเน้นประเด็นสุขภาวะที่ดี การเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ รวมถึงประเด็นสังคมที่มีผลกระทบต่อชุมชนและสังคมโดยรวม ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวทั้งเชิงพานิชย์และท่องเที่ยวเชิงระบบนิเวศ (Eco-Tourism) ที่มีประชากรและท่องเที่ยวจำนวนมาก
สุกัญญา ติณสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนแผนงานและพัฒนางานประชาสัมพันธ์ สำนักประชาสัมพันธ์ เขต 7 กล่าวถึง ประโยชน์ของการทำแผนงานสื่อสารสังคมว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีสื่อสุขภาวะ รวมถึงอาจารย์และนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยภาคตะวันออก ร่วมกันคิด และเริ่มการปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมต่อรูปแบบการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนรับรู้ เข้าถึง และเข้าใจนโยบายทางด้านสุขภาวะที่ก่อให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่ยังไม่ให้ความสำคัญกับภัยหรือโรคร้ายที่ซ่อนตัวอยู่ ซึ่งทางสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 7 พร้อมสนับสนุนงานด้านการสื่อสารในทุกรูปแบบ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม
วิชดา นฤวรพัฒน์ รองประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 6 เปิดเผยว่า การพัฒนาสื่อสุขภาวะในปัจจุบันว่า นอกเหนือจากการผลิตสื่อในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำไปเผยแพร่ผ่านช่องทางที่ง่ายต่อการเข้าถึง เช่น Social Media เพจต่างๆ ทางออนไลน์ ซึ่งประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย แต่ถ้าเป็นเด็กและเยาวชน อาจจะต้องมีเทคนิคในการให้ความรู้มากกว่านั้น เพราะปัจจุบันเยาวชนจะมีสื่อในรูปแบบที่เค้าสนใจเฉพาะ เราจึงต้องเข้าหาเขาในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น การจัดค่ายเยาวชน เพิ่มเติมเนื้อหาชุดความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้รู้ลึก รู้จริง และสามารถนำไปบอกต่อกับน้องๆ เยาวชนในระดับโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย จนเกิดการบอกต่อกับชุดความรู้ โดยมีรุ่นพี่ที่เป็นต้นแบบ และเกิดการรณรงค์ในหมู่เยาวชน เช่น การให้ความรู้ภัยและพิษร้ายของบุหรี่ไฟฟ้า หรือโรค NCDs ที่กำลังคุกคามสุขภาวะของประชาชน เป็นต้น
ฐาณิษา สุขเกษม ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสร้างสรรค์ภาคตะวันออก กล่าวว่า การพัฒนาสื่ออย่างสร้างสรรค์ว่า ปัจจุบันการสื่อสารมีความรวดเร็วทันสมัย และต้องมีการอัพเดทข้อมูลอยู่ตลอดเวลา เรามีหลายหน่วยงานองค์กรภาคี เช่น สช. สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ฯลฯ ที่มีข้อมูลเชิงวิชาการหรือสถิติที่เชื่อถือได้ นำมาแปลงเป็นข้อมูลที่ง่ายต่อการรับรู้ เข้าใจและเข้าถึง ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับภาค ในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยเรามีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และแกนนำนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเข้ารับการอบรมและทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ หรือประเด็นทางสังคม และสามารถนำสื่อหรือชุดความรู้มาเผยแพร่และบอกต่อในรูปแบบดาวกระจาย โดยสามารถประเมินได้จากการเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ภาคีเครือข่ายและชุมชน หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ เกิดการตื่นตัวในการป้องกัน หรือการเรียกร้องถึงความต้องการมีสุขภาวะที่ดี
ยุวลักษณ์ เหมะวิบูลย์ หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พูดถึงบทสรุปของความร่วมมือกับภาคีสื่อและมหาวิทยาลัยทางภาคตะวันออกว่า สช.มีหน้าที่ประสานกับหน่วยงานภาคีด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ดำเนินงานเกี่ยวกับสุขภาวะของประเทศ ให้บรรลุผลตามมติของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) โดยมีเครื่องมือนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ในเรื่องของ ธรรมนูญสุขภาพ สมัชชาสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และสิทธิหน้าที่ด้านสุขภาพ โดยมี 1 ในยุทธศาสตร์หลักก็คือ การสื่อสารสังคม เพื่อให้ภาคีเครือข่ายรวมถึงประชาชนได้รับรู้ เข้าใจ และเข้าถึงได้ง่ายต่อนโยบายด้านสุขภาวะ และสามารถตอบสนองต่อสุขภาวะที่ดีโดยรวมของประชาชนผ่านข้อมูลหรือสื่อในช่องทางต่างๆ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีสื่อสุขภาวะ และมหาวิทยาลัยนำร่องในภาคตะวันออก อาทิ มหาวิทยาลัยศรีปทุม (วิทยาเขตชลบุรี) มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เป็นต้น โดยจะมีการจัดตั้งกลุ่มแกนนำนิสิตนักศึกษา เพื่อเป็นตัวแทนเยาวชนในคิดข้อมูลหรือผลิตสื่อ เพื่อการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทั้งด้านนโยบายสาธารณะ และประเด็นสังคมที่มีผลกระทบต่อสุขภาวะในปัจจุบัน ไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชนโดยตรง โดยมี สช.และภาคีเครือข่ายส่งต่อข้อมูลด้านวิชาการที่ถูกต้องให้ จนทำให้เด็กและเยาวชนเกิด health literacy หรือ ความรอบรู้ด้านสุขภาพ และสามารถรณรงค์ไปสู่กลุ่มเป้าหมายอื่นต่อไป