สช.จับมือภาคีผนึกภารกิจหลายองค์กร สร้างขบวนเสริมแกร่งความมั่นคงอาหาร หลังพบ 'ตัวชี้วัด-SDGs' ไทยถดถอย
20 มิถุนายน 2567
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

สช. จัดเวทีบูรณาการขับเคลื่อนนโยบาย “อาหารปลอดภัย-ความมั่นคงทางอาหาร” ระดมความเห็น แนวทางการเดินหน้าสู่ระบบเกษตร-อาหารที่ยั่งยืน เร่งพัฒนาความก้าวหน้าของ “ประเทศไทย” หลังหลายตัวชี้วัดตามเป้าหมาย SDGs เริ่มถดถอย ย้ำต้องมองกว้างกว่าเรื่องของอาหาร แต่ยังคาบเกี่ยวกับอีกหลายมิติ ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ

เมื่อวันที่
19 มิ.ย. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีระดมความเห็นการขับเคลื่อนนโยบายอาหารปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร โดยเชิญภาคีเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม มาร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ วิเคราะห์ช่องว่าง รวมทั้งระดมความเห็นและข้อเสนอแนะในการบูรณาการ การขับเคลื่อนนโยบายอาหารปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย


นพ.สุเทพ
เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า เรื่องของอาหารเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ แม้เราจะมองว่าไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำ แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันเรากลับยังพบปัญหาที่มีผู้คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงอาหาร หรือเผชิญกับภาวะการขาดสารอาหาร ซึ่งหากไปดูสาเหตุการเสียชีวิตอย่างละเอียดในหลายๆ โรค ก็จะพบว่ามีรากที่มาจากภาวะการขาดสารอาหารด้วย อาหารจึงนับเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่เราต้องร่วมกันดำเนินการอีกมาก


นพ.สุเทพ กล่าวว่า ประเทศไทยเองมีนโยบายที่สนับสนุนเรื่องอาหารปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารจากหลายกลไกและหน่วยงาน เช่น คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ โดยในส่วนของ สช. เองได้มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ภาคีทุกภาคส่วนมีฉันทมติและขับเคลื่อนร่วมกันจนเกิดผลสำเร็จไปหลายประการ ทั้งมติ “ความปลอดภัยทางอาหาร: การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” ในปี
2555 และมติ “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤติ” ในปี 2563

“ในระดับโลกเองเราก็มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ
SDGs เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย ที่แต่ละประเทศมุ่งขับเคลื่อนให้บรรลุตามตัวชี้วัด ส่วนในไทยเราท่ามกลางสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะเจริญขึ้น มีอาหารมากขึ้น มีกินมากขึ้น แต่กลับพบว่าได้คะแนนตกต่ำลงในหลายดัชนี ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความหิวโหย ความมั่นคงทางอาหาร คุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร ฯลฯ จึงเป็นโจทย์สำคัญที่เราจะมาร่วมกันทำอย่างไร เพื่อบูรณาการภารกิจ หน่วยงาน แผนปฏิบัติการต่างๆ ผนวกกับนวัตกรรม เทคโนโลยีที่มีมากขึ้น มาช่วยกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้” นพ.สุเทพ กล่าว

ขณะที่ ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (
SDG Move) ได้ร่วมกล่าวในการเสวนา “นโยบายอาหารปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารของไทย: ทิศทางและความท้าทาย” โดยระบุว่า เมื่อเราพูดถึงเป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย หรือ Zero Hunger ของ SDGs ความจริงแล้วยังมีประเด็นที่ครอบคลุมในหลายมิติมากกว่าเพียงแค่เรื่องของอาหาร ขณะที่ความเข้าใจของผู้คนที่มักคิดว่าไทยเราเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหาร จึงน่าจะมีสถานะในเรื่องนี้ที่ดี หากแต่ในความเป็นจริงแล้วจากการประเมินโดยหลายแหล่งกลับชี้ให้เห็นตรงกันว่า เรื่องของระบบอาหาร กลับเป็นประเด็นความท้าทายที่สำคัญในเป้าหมาย SDGs ของประเทศไทย


“อันที่จริงนอกจากตัวชี้วัดตามเป้าหมายที่
2 ของ SDGs เราจะไม่พัฒนาขึ้นแล้ว ยังมีแนวโน้มถดถอยลงด้วย ซึ่งสะท้อนว่าเรายังมีระบบอาหารที่ยังไม่ยั่งยืน แต่เวลาพูดถึงเรื่องนี้เราอาจต้องมองภาพที่กว้างกว่าแค่เรื่องของอาหาร เพราะยังมีความเกี่ยวข้องกับมิติอื่นๆ ดังนั้นในการพิจารณาระบบอาหารที่ยั่งยืน จึงอาจต้องเชื่อมโยงภาคีทุกภาคส่วนเพื่อมาร่วมขับเคลื่อนในเรื่องนี้ เพราะเรื่องของระบบอาหารและการเกษตรนั้น ยังมีส่วนไปสร้างผลกระทบทางลบให้กับเป้าหมายอื่นๆ ของ SDGs ได้อีกจำนวนมาก ฉะนั้นหากเราทำให้ระบบอาหารยั่งยืนได้ ปัญหาหลายๆ อย่างก็มีส่วนที่จะคลี่คลายลงไปได้ด้วย” ผศ.ชล ระบุ

ดร.กนกวรรณ มนูญผล
นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการพิเศษ กองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาหากมองตลอดห่วงโซ่ของระบบอาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่หลายฉบับ และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของหลายหน่วยงานที่มีลักษณะการปฏิบัติงานในมิติที่แตกต่างกัน แต่ขาดการบูรณาการและความเป็นเอกภาพ จึงนำมาสู่การออก พ.ร.บ.คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ขึ้น เพื่อให้เกิดองค์กรหลักที่จะบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหาร มาร่วมกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ให้เท่าทันกับสถานการณ์

สำหรับคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ จะมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายฯ เป็นประธาน และ อย. ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ โดยปัจจุบันมีแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 - 2570) ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 เป็นหนึ่งในเครื่องมือการทำงาน ที่กำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายความสำเร็จต่างๆ แต่ขณะเดียวกันในการดำเนินงานตามตัวชี้วัดต่างๆ ปัจจุบันก็ต้องเผชิญกับปัจจัยความท้าทายที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในแต่ละปี ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสภาพแวดล้อม สภาวะสงคราม สภาพเศรษฐกิจและการเมืองโลก ฯลฯ


ด้าน นางศศิวิมล ทับแย้ม ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานสุขอนามัยพืช สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า มกอช. เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทในการกำหนด ตรวจสอบ และรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อให้ความมั่นใจกับผู้บริโภค และเป็นส่วนในการสนับสนุนระบบอาหารที่มีความปลอดภัยและยั่งยืน ขณะเดียวกันอีกบทบาทหนึ่งของ มกอช. ก็ยังเป็นเลขานุการร่วมกับ อย. ในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติด้วย

นางศศิวิมล กล่าวว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานที่จะต้องบูรณาการภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันต่อจากนี้ จะต้องมาอัพเดทสถานการณ์ร่วมกันว่าหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบอยู่ ปัจจุบันมีสถานการณ์ แผนงาน งบประมาณ ข้อจำกัด ฯลฯ อย่างไร ตลอดจนเสียงสะท้อนและข้อเสนอที่รวบรวมจากภาคส่วนต่างๆ อย่างเวทีที่ สช. จัดขึ้นในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยในการเป็นข้อมูลนำเข้าสู่กลไกกลาง เพื่อพัฒนาไปเป็นโยบายในภาพใหญ่ของประเทศต่อไปได้