สช. จับมือภาคีเครือข่ายร่วมเดินหน้ากระบวนการขับเคลื่อน “ธรรมนูญสุขภาพระดับเขต” เพิ่มเติมในอีก 28 เขตของ กทม. เพื่อให้ครบ 50 เขตตามแผนภายในปี 2569
20 มิถุนายน 2567
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดเวที Kick Off ธรรมนูญสุขภาพระดับเขต 28 เขตกรุงเทพมหานคร” เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ผ่านเครื่องมือธรรมนูญสุขภาพระดับเขต ให้เกิดขึ้นเพิ่มเติมในอีก 28 เขตของ กทม. ต่อเนื่องจาก 22 เขตเดิมที่ได้มีการประกาศใช้ไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยภายในงานยังได้มีเวที “Open Talk การขับเคลื่อนกลไกภาคียุทธศาสตร์เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งพื้นที่กรุงเทพมหานคร”

นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เปิดเผยว่า หนึ่งในนโยบายด้านสุขภาพที่สำคัญของ กทม. ในขณะนี้ คือการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านการใช้งบประมาณจาก กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปดำเนินโครงการสร้างเสริมสุขภาพในมิติต่างๆ โดยเป้าหมายในปี 2567 นี้ มุ่งที่จะผลักดันให้มีแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมที่ได้รับการอนุมัติเงินจากกองทุนฯ ให้ได้ 80% ของกรอบวงเงินที่ได้รับการจัดสรรในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งข้อมูลล่าสุดถึงเดือน มิ.ย. จากกรอบวงเงิน 372 ล้านบาท มีการอนุมัติไปแล้ว 199 ล้านบาท หรือราว 58%

นพ.สุนทร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในการอนุมัติเงินเพื่อใช้ดำเนินแผนงาน โครงการ หรือกิจกรรมเหล่านี้ ก็จำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ หลักการ ไม่ใช่พิจารณาจากความเห็นของคณะกรรมการเป็นครั้งๆ ไป ซึ่งหลักการแรกที่ต้องใช้คือ ข้อมูล และถัดมาคือ ธรรมนูญสุขภาพ ซึ่งจะเป็นกฎกติกาของแต่ละเขต ว่าพื้นที่เขตนั้นมีสภาพปัญหาอะไร อยากแก้ไขอย่างไร หรือควรพัฒนาไปในทิศทางใด บนพื้นฐานที่ทุกฝ่ายจะต้องเขามาร่วมมือกัน โดยสามารถทำได้ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหายาเสพติด สิ่งแวดล้อม หรือกิจกรรมส่งเสริมป้องกันโรค ฯลฯ

“การมีธรรมนูญสุขภาพฯ จึงเหมือนกับการมีแผนสุขภาพเขต ให้เรารู้ว่าจะขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน เพื่อใช้เป็นกรอบทิศทางในการใช้เงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ เข้ามาพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ซึ่งการคิกออฟในวันนี้ก็เพื่อที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายการมีธรรมนูญสุขภาพฯ ให้ได้ครบ 50 เขตของ กทม. ภายในปี 2569” ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. ระบุ

ดร.ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กทม. กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 มีเป้าหมายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนทั่วประเทศ ในการดำเนินโครงการเพื่อร่วมกันดูแลสุขภาพตนเอง ผ่านการสมทบงบประมาณระหว่าง สปสช. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยในส่วนของกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ ได้เริ่มมีการขับเคลื่อนในปี 2561 ก่อนที่จะมีการเดินหน้าธรรมนูญสุขภาพฯ ในปี 2563

ดร.ทพญ.น้ำเพชร กล่าวว่า ที่ผ่านมากองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ จะมีเงินสมทบเข้ามาเฉลี่ยในแต่ละปีราว 550 ล้านบาท แต่ด้วยการขับเคลื่อนที่ผ่านมาที่อาจยังไม่ลื่นไหล และมีส่วนที่ยังติดขัดจากความเข้าใจถึงการใช้งบประมาณ รวมถึงความเข้มแข็งของภาคประชาชนเอง จึงทำให้กองทุนฯ มีงบประมาณสะสมเหลือค้างอยู่ถึง 1,615 ล้านบาท ที่ภาคประชาชนและภาคส่วนต่างๆ สามารถเข้ามาร่วมกันนำเงินตรงนี้ไปใช้เพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้กับประชากรในพื้นที่ได้

“การอนุมัติเบิกจ่ายเงินในกองทุนฯ จะมีอยู่ด้วยกัน 5 ประเภท โดยผู้ที่สามารถเข้ามาขอใช้เงินได้นอกจากภาคประชาชนแล้ว ยังรวมถึงหน่วยบริการด้านสุขภาพ หรือหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาพบว่าส่วนที่ยังเป็นช่องว่างของ กทม. คือกลุ่มของศูนย์เด็กเล็ก หรือศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนพิการ นี่จึงถือเป็น Big Project ของ สปสช. เขต 13 ในปี 2567 ที่จะพยายามส่งเสริมให้กลุ่มเหล่านี้เข้ามาร่วมกันขอโครงการมากขึ้น” ดร.ทพญ.น้ำเพชร กล่าว

ขณะที่ นายวิริยะ แต้มแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) กล่าวว่า บทบาทของ พอช. มีความมุ่งมันในการพัฒนาตัวองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และลุกขึ้นมาจัดการปัญหา สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พร้อมประสานการทำงานร่วมกับภาคีหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหานั้นๆ ขณะเดียวกันก็หนุนเสริมให้เกิด กองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 5,935 กองทุนทั่วประเทศ ที่ชุมชนใช้เงินตัวเองในการดูแลคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของตนเองตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต

นายวิริยะ กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ กทม. ทาง พอช. ก็ได้มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่เป็นตัวตั้งต้นให้หน่วยงานต่างๆ สามารถนำเอาไปใช้งาน ในการชี้เป้าครัวเรือนหรือเครือข่ายองค์กรชุมชนที่จะเข้าไปสร้างความร่วมมือด้วยได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำร่องดำเนินการเสริมสร้างชุมชนเข็มแข็ง ให้สามารถแก้ไขปัญหาและพึ่งพาตนเองได้ไปแล้ว ในพื้นที่คลองลาดพร้าว 35 ชุมชน และคลองเปรมประชากร 17 ชุมชน

ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เราต่างเชื่อเหมือนกันคือการกระจายอำนาจให้บทบาทการดูแลประชาชนนั้นอยู่กับท้องถิ่น ที่มีความใกล้ชิดกับปัญหา และสามารถตอบสนองได้ฉับไวมากกว่าส่วนกลาง รวมทั้งการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ซึ่งธรรมนูญสุขภาพระดับเขต ก็ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ช่วยหนุนเสริมบทบาทการมีส่วนร่วม ที่ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถจัดการแก้ไขปัญหาของตนเองได้

นพ.สุเทพ กล่าวว่า ในส่วนของ สช. เองก็จะมีบทบาทในการเป็นพื้นที่กลาง ที่ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาบูรณาการ นำต้นทุนต่างๆ มาแบ่งปันและวางแผนการทำงานไปด้วยกัน บนหลักการของสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ที่มีทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน เข้ามาขับเคลื่อนร่วมกัน โดยในส่วนบทบาทของภาควิชาการนั้น ได้มีมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์ ที่ประกอบด้วย มรภ.สวนสุนันทา มรภ.จันทรเกษม มรภ.พระนคร มรภ.ธนบุรี และ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา มาร่วมผลักดันการจัดทำธรรมนูญสุขภาพระดับเขต ใน กทม. ด้วย