สช.ร่วมสานพลังสร้างสุขภาพพระสงฆ์ผ่านกลไกร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ภายใต้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ
3 กรกฎาคม 2567
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เข้ารับเกียรติบัตร องค์กรที่สนับสนุนการขับเคลื่อนงานวัดส่งเสริมสุขภาพ และพระคิลานุปัฏฐาก ในงาน“สัมมนาวิชาการสานพลังผู้นำทางศาสนากับการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ครั้งที่1” โดยมี
สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธิ์ เขมงฺกโร) กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์  และพลเรือโท นายแพทย์นิกร เพชรวีระกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ฝ่ายคฤหัสถ์ พร้อมด้วย แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข

 

ความสำคัญตอนหนึ่งในสัมโมทนียกถาของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ องค์ประธาน  กล่าวถึง การขับเคลื่อนงานวัดส่งเสริมสุขภาพ และพระคิลานุปัฏฐาก เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของงานธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2566 โดยมีหลักการสำคัญ คือ การใช้ทางธรรม นำทางโลก

พลเรือโท นายแพทย์นิกร เพชรวีระกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าปี 2567 ถือเป็นปีแห่งมหามงคลยิ่งของพสกนิกรชาวไทยทุกคนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงได้จัดทำโครงการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ สามเณร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ได้แก่ 1) วัดส่งเสริมสุขภาพและพระนักเทศน์ 2) การตรวจสุขภาพและส่งเสริมการปรับพฤติกรรมสุขภาพ


ที่พึงประสงค์ของพระภิกษุ 3) การอบรมพระคิลานุปัฏฐาก 4) การจัดระบบการรักษาพระภิกษุสงฆ์ที่ถูกต้อง
ตามพระธรรมวินัยและช่องทางเฉพาะ 5) กุฏิชีวาภิบาลและสถานชีวาภิบาล 6) การเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพพระสงฆ์7) การจัดทำฐานข้อมูลสุขภาพ 8) การดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ ณ ดินแดนพุทธภูมิ โดยคาดหวังว่าจะช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ให้มีคุณภาพ สอดคล้องตามหลักพระธรรมวินัย ส่งเสริมให้พระสงฆ์สามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ สามารถเป็นผู้นำด้านสุขภาวะชุมชนและสังคมต่อไป


ด้าน แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้ขับเคลื่อน
การดำเนินงานดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์แบบบูรณาการภายใต้กรอบแนวทางธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ผ่านโครงการวัดส่งเสริมสุขภาพ และพระคิลานุปัฏฐาก มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ซึ่งขณะนี้มีวัดส่งเสริมสุขภาพมากกว่า 20,727 วัด และพระคิลานุปัฏฐาก มากกว่า 14,754 รูป ในปี 2567 นี้ กรมอนามัยได้จัดทำโครงการอโรคยสถาน หรือ
Health Station at Temple เพื่อเป็นการยกระดับวัดส่งเสริมสุขภาพ ให้มีสถานีสุขภาพสำหรับพระสงฆ์และคนในชุมชน และต่อยอดศักยภาพพระคิลานุปัฏฐาก ให้สามารถเป็นผู้คัดกรองแลให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ในวัดและชุมชนเพื่อให้มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ด้วยหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิต ขยายผลก่อเกิดเป็นผู้นำด้านสุขภาวะของชุมชนและสังคมต่อไป
“สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติวัดส่งเสริมสุขภาพ พระสงฆ์ต้นแบบในการขับเคลื่อนงานวัดส่งเสริมสุขภาพและพระคิลานุปัฏฐาก และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดนวัตกรรมแก่ภาคีเครือข่าย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ พระเถรานุเถระ พระคิลานุปัฏฐากผู้บริหาร ผู้รับผิดชอบงานผู้นำทางศาสนากับการส่งเสริมสุขภาพจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผู้รับโล่เกียรติคุณประเภทต่าง ๆ ตลอดจนภาคีเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนงานธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แบบบูรณาการ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวถึงคุณค่าของการมีธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2566 ซึ่งเป็นฉบับที่ 2 แล้ว และยังคงให้ความสำคัญต่อพระธรรมวินัย ในการเป็นหัวใจ และสิ่งเชื่อมโยงการอุปัฏฐากดูแลสุขภาพพระสงฆ์ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ.2566 จะเร่งชวนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จัดทำแผนขับเคลื่อน และการให้ความสำคัญกลไกปกครองคณะสงฆ์เพื่อสานพลังในทุกระดับ เพื่อถวายการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ และสร้างเสริมบทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับชุมชนและสังคมต่อไป