สช. ร่วมกับบพท. และหน่วยงานภาคี ร่วมวางกรอบแนวคิด ทิศทาง บทบาทใหม่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพท้องถิ่นในระยะ 3 ปี10 กรกฎาคม 2567
วันที่ 10 กรกฎาคม2567 ณ โรงแรมแมนดารินกรุงเทพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ประชุมหารือบทบาทใหม่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กับการพัฒนาและขับเคลื่อนการจัดการระบบสุขภาพท้องถิ่น เพื่อนำเสนอแลกเปลี่ยนกรอบแนวคิดการพัฒนาและขับเคลื่อนการจัดการระบบสุขภาพท้องถิ่น 3 ปี บทบาทหน้าที่ตามภารกิจของแต่ละองค์กรในสนับสนุน และออกแบบ วางแผนการทำงานรวมกันการพัฒนาและขับเคลื่อนการจัดการระบบสุขภาพท้องถิ่น 3 ปี (2568 - 2570)
ที่ประชุมมี นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง และยกระดับขีดความสามารถในการจัดการภาครัฐและท้องถิ่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นพ.บัญชา ค้าของ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ นายเลอพงษ์ ลิ้มรัตน์ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา นพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี นายกรังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ นายกแหลม ศรีนุ้ย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนมะนาว นายกบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกสมาคมเทศบาลและเมือง นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนหน่วยงาน เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้กว่า 30 คน
นพ.สุเทพ เพชรมาก กล่าวว่า สช. เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีหน้าที่ประสานกับหน่วยงานด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ และหน่วยงานอื่นๆ ดำเนินงานด้านสุขภาพ และดำเนินการเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในระดับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานด้านสุขภาพ เพื่อนำไปสู่การวางระบบเพื่อดูแลแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนให้มีความรู้เท่าทัน กรอบแนวคิดการพัฒนาและขับเคลื่อนการจัดระบบสุขภาพท้องถิ่น 3 ปี สช. ได้ร่วมมือกับ บพท. ได้พัฒนาขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระดมสมองและนำเสนอตามบทบาทหน้าทีตามภารกิจของแต่ละองค์กรที่จะร่วมมือ สนับสนุนและประสานในการพัฒนาขับเคลื่อนการจัดการระบบสุขภาพท้องถิ่นตามกรอบแนวทางที่ได้ออกแบบร่วมกัน
ศ. ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ประธานคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สช.ประธานเปิดการประชุมได้กล่าวถึงองค์กรท้องถิ่น อปท.ว่าเป็นทิศทางอนาคตที่ชัดเจนที่จะทำหน้าที่และมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ด้วยภารกิจใหม่ของอปท.ในด้านมิติต่างๆ ในพื้นที่ ชุมชน ท้องถิ่น รวมทั้งมิติด้านสุขภาพที่มีเรื่องการกระจายอำนาจ การถ่ายโอนรพ. สต.ในพื้นที่ ซึ่งสิ่งสำคัญต่อจากนี้ขององค์กรท้องถิ่นคือการเตรียมการบุคลากรท้องถิ่นด้านสุขภาพ และการจัดระบบบริหารจัดการ กลไก เครื่องมือ platform สุขภาพให้พร้อมรองรับภารกิจใหม่เป็นเรื่องที่ทุกส่วน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมองร่วมกัน สนับสนุนกัน และจะมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ตามภารกิจของแต่ละองค์กรที่มีความสำคัญและมีทำงานที่เชื่อมโยงประสานกัน ช่วยเหลือกัน
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ กล่าวถึงกรอบแนวคิดระบบบริการสุขภาพในแง่มุม การมองเรื่องสุขภาพ ที่มีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย ปัจจัยที่มีผลกระทบมากถ้าหากมองแนวคิดหลักการทฤษฎี ระเบียบ หลักเกณฑ์ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมารองรับ จะเห็นว่ามีเรื่องปฐมภูมิ การกระจายอำนาจ มีแนวนโยบายการจัดการขององค์การอนามัยโลก เรื่องการอภิบาล ธรรมนูญสุขภาพ เน้นเรื่องการดูแลคนทุกกลุ่มวัย ดูแลกลุ่มเปราะบาง ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ การเข้าไปอยู่ในบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆมากขึ้น ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลเรื่องสุขภาพมาตรฐาน ปัจจัยสังคมที่กำหนดสุขภาพ ถ้ามองการบริการปฐมภูมิบทบาทของ อปท.เองจะเน้นไปที่การบริการแบบองค์รวม สร้างนำซ่อม การมีส่วนร่วม ส่วนนี้จะมาในบริบทสุดท้ายคือกรอบที่เป็นประเด็นที่นำไปสู่การปรึกษาหารือกัน ในส่วนเหล่านี้ถ้าจะมองเรื่องเป้าหมายสุขภาพ กลไกมาตรการต่างๆ จะนำไปสู่การแลกปลี่ยนต่อไปเพื่อสร้างความชัดเจน เป็นระบบส่งต่อความรู้ เทคโนโลยี โครงสร้างภารกิจด้านสุขภาพที่เข้มแข็ง
รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ กล่าวถึงบทบาทสำคัญของหน่วย บพท.ในการพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นมุ่งยกระดับขีดความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่กลไกการพัฒนาพื้นที่ สร้างความเจริญลดความเหลื่อมล้ำ เป้าหมายและวิธีการทำงานของหน่วย บพท. ในด้านสุขภาพปฐมภูมิ มุ่งยกระดับความสามารถของ อปท. ให้เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง และพึ่งพาได้สำหรับประชาชนในการจัดการด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิ ใช้กระบวนการจัดการเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมด้านสุขภาพปฐมภูมิ ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสของประชาชน ในการเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สร้างหรือพัฒนากระบวนการ/กลไกจัดการใหม่ในเชิงพื้นที่โดยใช้ข้อมูล การมีส่วนร่วม และความเป็นเจ้าของให้แก่อปท.และภาคชุมชน/ประชาสังคม ส่งมอบผลผลิต ผลลัพธ์ หรือผลกระทบด้านสุขภาพให้เกิดกับประชาชน ผ่านกลไกการจัดการใหม่ของอปท. ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนให้การบริการมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประชาชนสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ผลงานเชิงประจักษ์ที่เป็นรูปธรรม ในปี 2556-2567 การให้บริการด้านสุขภาพปฐมภูมิ การดูแลสุขภาพของประชาชนและกลุ่มเปราะบาง ระบบสนับสนุนด้านสุขภาพ
ดร.ชูพงศ์ คำจวง นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ในส่วนของ สมาคมพยายามสนับสนุน ประชุมกับเครือข่าย เพื่อมีการพบปะพูดคุยกัน เทศบาลเมืองกับเทศบาลนคร เป็นชุมชนใหญ่ หากชุมชนเมืองกระจายเรื่องเทคโนโลยี จะสามารถกระจายไปพื้นที่อื่นได้ มีการให้อสม. รพ.สต.ภาคประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมประชุมด้วยในการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ กลุ่มภาคีเครือข่ายในพื้นที่คือผู้รับบริการอย่างแท้จริง พื้นที่ อบต. เทศบาลมีความใกล้ชิดประชาชน อบจ.ร่วมสนับสนุน มีกองทุนต่างๆเข้ามาเสริม คนที่ได้รับประโยชน์คือคนพื้นที่ให้บริการถ้ามีคู่มือในการจัดทำระบบ แบบแผนเดียวกัน จะทำให้การขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน
ที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันต่อกรอบการพัฒนาและขับเคลื่อนการจัดการระบบสุขภาพท้องถิ่นระยะ 3 ปี ดังนี้
1) ทุกหน่วยงานมีฉันทมติร่วมกันฉากทัศน์ระบบสุขภาพท้องถิ่นที่พึงประสงค์ คือ “ระบบสุขภาพท้องถิ่น เป็นระบบที่ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชน ประชาชนในพื้นที่มีสุขภาพที่ดีทั้งสี่มิติ คือ กาย ใจ สังคม และปัญญา อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีหลักประกันและความมั่นคงทางสุขภาพ สามารถเข้าถึงสิทธิและบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานดีได้อย่างทั่วถึงเป็นธรรม ประชาชนมีส่วนร่วมในระบบสุขภาพในระดับต่างๆ ทั้งการร่วมคิดร่วมออกแบบระบบหรือมาตรการ ร่วมจัดบริการสุขภาพทั้งด้านส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาลขั้นต้น การฟื้นฟูสภาพ ได้ตามศักยภาพที่มี” ซึ่งจะต้องมีการจัดบริการสุขภาพของท้องถิ่น คือ นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ บริการสุขภาพที่ได้มาตรฐาน ประชาชนรอบรู้ด้านสุขภาพ
2) เห็นชอบ สช. เป็นหน่วยกลางเชื่อมประสานให้บรรลุตามภาพฝันของระบบการสนับสนุนระบบสุขภาพท้องถิ่น
3) เห็นชอบการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพท้องถิ่น 2 ประเด็นสำคัญ (1) การพัฒนาศักยภาพ อปท. ได้แก่ การยกระดับ กสพ. และบุคลากรกองสาธารณสุขของ อบจ. การพัฒนากลไก ระบบบริหารสัญญาจ้างเกี่ยวกับบริการด้านการแพทย์ (ทั้งเอกชนและภาคชุมชน) การพัฒนามาตรฐานบริการการแพทย์ปฐมภูมิจากชุมชนหรือของท้องถิ่น การศึกษาความเป็นไปได้ เตรียมพร้อมรับการถ่ายโอน จัดตั้งโรงพยาบาลชุมชนหรือ secondary service โดย อบจ. (2) ระบบโครงสร้างค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ ค่าหัว อัตราค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสม รวมถึงแหล่งงบประมาณด้านสุขภาพสำหรับอนาคต การขจัดประเด็นกฎหมาย อุปสรรคของการถ่ายโอนและ/หรือการจัดการด้านสุขภาพของท้องถิ่น การศึกษาระบบนิเวศน์ใหม่ของระบบสุขภาพท้องถิ่นและกลไกการบริหารจัดการสำหรับ อปท.
4) มอบ สช. ประสานนัดหมายการประชุมอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือนครั้ง เพื่อให้เกิดการวางแผนงานระยะสั้น กลาง ยาวต่อไป