“เขาไม่ค่อยเชื่อมั่นคนรุ่นใหม่สักเท่าไร เข้าไปเป็นไม้ประดับ”

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.


โลกหลังจากนี้จะเป็นของคนรุ่นใหม่ และเสียงของคนรุ่นใหม่ควรค่าแก่การรับฟังมากที่สุด การเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายสาธารณะฯ ของเยาวชน-คนรุ่นใหม่ ด้วยการ ลงมือทำ ตั้งแต่เริ่มกระบวนการ จึงไม่ต่างไปจากการก่ออิฐเพื่อวางรากฐานประเทศ ไปสู่อนาคตที่มุ่งหวัง

            กองบรรณาธิการนิตยสารสานพลัง ฉบับเดือน ต.ค. ๒๕๖๔ เต็มใจที่จะพูดคุยกับหนึ่งในตัวแทนคนรุ่นใหม่ “สุรพัศ์โยธิน บูรณานนท์” หรือ “แบงค์” หนุ่มวัย ๓๐ ปี ที่มีประสบการณ์ในกระบวนการการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะที่หลากหลาย

            ขอเชิญท่านผู้อ่านทำความรู้จักกับ แบงค์ ไปพร้อมๆ กับรับฟัง เสียงแห่งอนาคต ไปพร้อมๆ กัน

 

--- เริ่มต้นจากโอกาส ต่อยอดด้วยความสามารถ ---

หากนับเส้นทางการเข้ามามีบทบาทอันหลากหลายของแบงค์ อาจต้องย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่อยู่ใน ระดับประถมจนถึงมัธยม ที่เขาได้มีโอกาสเป็นผู้นำในหลายกิจกรรม รวมถึงการรับผิดชอบงานต่างๆ ภายในโรงเรียน ซึ่งเขายอมรับว่าโอกาสเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า และฝึกฝนพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำได้

หนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญของแบงค์ในช่วงเวลานั้น คือบทบาทการทำงานภายใต้โครงการ TO BE NUMBER ONE ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งผู้นำชุมชนและผู้นำท้องถิ่นท้องที่ได้ชักชวนให้เขาเข้ามาร่วมขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน ทำหน้าที่เป็นประธานชมรม TO BE NUMBER ONE ระดับชุมชน ที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น ระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ

กิจกรรมเหล่านี้เองที่เป็นการจุดประกายให้เขาเข้ามาสู่เส้นทางของงานขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ภายหลังจากที่เขาได้มุ่งมั่นรักษามาตรฐานการทำงานระดับชุมชน ที่เป็นต้นแบบของโครงการในระดับประเทศ ช่วงเวลาเดียวกันกับการเกิดขึ้นของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่มาพร้อมกับการตั้ง “สภาเด็กและเยาวชน” ขึ้นทั่วประเทศ

ณ ช่วงเวลาราวปี ๒๕๕๖ เขาได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นอีกโอกาสการทำงานครั้งสำคัญที่เขาได้เชื่อมโยงกลุ่มเครือข่ายเด็ก เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่อยู่ภายในเขตพื้นที่ทั้งในชุมชนและสถานศึกษา มาร่วมกันดำเนินกิจกรรมการพัฒนา

ตัวอย่างผลงานเช่น การจัดกิจกรรมบวชสามเณรเฉลิมพระเกียรติฯ การออกค่ายอาสาเพื่อสร้างอาคารเรียน ที่ต้องใช้งบประมาณกว่า 7-8 แสนบาท หากแต่เครือข่ายของเขาสามารถระดมทุนได้ด้วยการบูรณาการใช้ฐานทรัพยากรในพื้นที่ โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ ด้วยการระดมเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทราบริษัท ห้างร้าน หรือโรงงานต่างๆ ที่มีอยู่จำนวนมากในพื้นที่ซึ่งเป็นเขตเมืองและอุตสาหกรรม

เมื่อทำงานอย่างขันแข็งในระดับเทศบาล จึงไม่ยากนักที่เขาจะก้าวขึ้นมาสู่ประธานสภาเด็กและเยาวชนระดับอำเภอ ระดับจังหวัด กระทั่งขึ้นไปในระดับชาติด้วยการเป็นตัวแทนเยาวชนใน คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ที่ได้เข้าไปทำหน้าที่ในการสะท้อนปัญหา รับฟังเสียงจากเยาวชนข้างล่าง เพื่อนำไปสื่อสารสู่ข้างบน

จากงานด้านเด็กและเยาวชน และได้เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชน ปัจจุบันแบงค์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในอีกสองบทบาทสำคัญ

หนึ่งคือ บอร์ดกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านการทุจริต ตาม พ.ร.บ. มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (สปท. ป.ป.ท.) รวมถึงเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานส่งเสริมประชาธิปไตยและตรวจสอบการเลือกตั้ง ตลอดจนทั้งบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ สภาองค์กรชุมชนระดับชาติ ตาม พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน ซึ่งสามารถเป็นแกนหลักในการทำหน้าที่บูรณาการทำงานร่วมกันทั้งเครือข่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ เครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน กว่า ๗,๗๐๐ ตำบลทั่วประเทศ

อีกหนึ่งคือบทบาทในกลไกของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งการเป็นคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ ๖ คณะกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ ไปจนถึงบอร์ดคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)

 

--- การ มีส่วนร่วม ที่ไม่ได้มีส่วนร่วม’ ---

เมื่อย้อนดูเส้นทางการมีส่วนร่วมของตัวแทนคนรุ่นใหม่รายนี้ แน่นอนว่านั่นแสดงถึงโอกาสของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ได้เข้าไปมีบทบาทในกลไกต่างๆ ของสังคมมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย แต่อย่างไรก็ดีเขาได้สะท้อนถึงปัญหาที่พบพานจากประสบการณ์ตลอดเส้นทางที่ผ่านมา คือ “การมีส่วนร่วมแบบไม่มีส่วนร่วม”

การสู้เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าไปมีพื้นที่ได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมาแนวคิดของคนรุ่นเก่า อาจจะไม่ค่อยเชื่อมั่นคนรุ่นใหม่สักเท่าไร เลยไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ หรือถึงเปิดให้เข้าไปมีส่วนร่วม ก็เป็นแบบที่ไม่มีส่วนร่วมจริง คือถูกบงการ หรือไปเป็นไม้ประดับ หรือทำพอเป็นพิธี ซึ่งไม่ได้ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมเลย” สุรพัศ์โยธิน ระบุ

เขายกตัวอย่างกลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่๋ผ่านมาได้มีทิศทางที่เปิดให้ตัวแทนเยาวชนหรือเครือข่ายนิสิตนักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมภายในงาน หากแต่ก็เป็นการเข้าร่วมกิจกรรมที่อยู่ปลายทาง ไม่ได้เป็นการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นทาง หรือในขั้นตอนของเวทีรับฟังความคิดเห็น ที่มีกระบวนการคิดกำหนดประเด็นขึ้นมาตั้งแต่แรก

“การให้เด็กได้มีส่วนร่วมจริง มันต้องตั้งแต่ได้ร่วมคิด ร่วมรับผิดชอบ ร่วมดำเนินการ ร่วมติดตามและร่วมประเมินผล ไม่ใช่การเข้าร่วมงานแค่ปลายทาง ที่จัดงานจนกำลังจะเคาะมติออกมาแล้วค่อยเชิญเข้ามา เพราะบางทีเขาก็ไม่ได้ชอบเท่าไร เหมือนไปร่วมแล้วความเห็นเขาก็ไม่ได้มีความหมายอะไร สุดท้ายก็เลยไม่ได้อินกับสิ่งที่เข้าไปมีส่วนร่วมนั้น” สุรพัศ์โยธิน สะท้อนมุมมองที่มาจากคนรุ่นใหม่

เขาเน้นย้ำไปถึงหลักการจากสภาเด็กและเยาวชน ที่ยึดถือในแนวคิด “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” จึงจะเป็นการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนที่ชัดเจน ภายใต้การปรึกษาหารือกับผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ฉะนั้นจึงไม่ได้หมายความว่าจะยึดเอาความคิดของเด็กเพียงอย่างเดียว เพราะอาจไม่ได้มีประสบการณ์มาก แต่อย่างน้อยก็ให้ได้มีส่วนที่เข้าไปอยู่ในระบบกลไกในการเป็นปากเป็นเสียง สะท้อนมุมมองที่เขาต้องการได้

จากภาพที่ปรากฏดังกล่าว เมื่อตัวเขาเองได้รับโอกาสเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละกลไก เขาจึงไม่พลาดที่จะใช้โอกาสนั้นในการผลักดันและทะลวงแนวคิดเหล่านี้ เพื่อให้เกิดการยอมรับบทบาทของเด็กและเยาวชน คนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะการอุดช่องว่างระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งเขามักจะเข้าไปเป็นตัวเชื่อมตรงกลางเพื่อให้กระบวนการทำงานนั้นราบรื่นมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมาสู่ยุคของ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่มุ่งมั่นในการหนุนเสริมบทบาทเด็กและเยาวชน คนรุ่นใหม่ เขาจึงมองว่าเมื่อไรที่ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปแล้วเครือข่ายต่างๆ ได้มีการพบปะกันเพิ่มขึ้น คิดว่าการทำงานร่วมกันระหว่างคนรุ่นใหม่และเครือข่ายองค์กรต่างๆ จะไปได้ดีกว่านี้ เนื่องด้วยทัศนคติและความเข้าใจในบทบาทที่ดีต่อกันมากขึ้น

“เชื่อว่าหลายหน่วยงานเริ่มมาถูกทาง ที่ได้เริ่มมีการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งกลไกของ สช. รวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปตามบริบท ผู้ใหญ่หลายคนเริ่มเข้ามารับฟังและช่วยหนุนเสริมองค์ความรู้ ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็จะมีทักษะในเรื่องของเทคโนโลยี หรือสื่อ ที่จะมีส่วนช่วยเติมเต็มการทำงานได้อีกมาก” แบงค์เผยมุมมอง

 

--- มุ่งเป้าผลักดันบทบาท เด็กและเยาวชน’ ---

ในทางหนึ่งคือเมื่อช่วงหลังมีกระแสที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นแล้ว แต่ในอีกด้านเครือข่ายเยาวชนเองก็ต้องร่วมกันทำความเข้าใจ ถึงหน้าที่ในการช่วยกันคัดกรองเพื่อให้ได้ผู้ที่สนใจทำงานจริงเข้ามามีส่วนร่วมในกลไก เพราะในแง่หนึ่งก็อาจมีเยาวชนบางส่วนที่สนใจเพียงการได้ผลงานไปประกอบประวัติส่วนตัว แต่ไม่ใช่ผู้ที่สนใจทำงานจริง

สุรพัศ์โยธิน ยืนยันว่าเครือข่ายคนรุ่นใหม่จากกลไกของสภาเด็กและเยาวชน เมื่อมีโอกาสได้เข้ามามีส่วนร่วมในกลไกการทำงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาองค์กรชุมชน หรือกระบวนการธรรมนูญสุขภาพ เหล่านี้ก็ได้เสริมให้พวกเขามีความคิดที่แหลมคมมากขึ้น ได้เกาะติดในประเด็นสถานการณ์ปัญหา รู้จักการวิเคราะห์เชื่อมโยงที่จะสามารถนำไปสู่การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้จริง

ขณะเดียวกันเมื่อตัวของเขาเองได้รับโอกาสมามากมาย แบงค์จึงเน้นย้ำความสำคัญในเรื่องของการ “มอบโอกาส” เปิดพื้นที่เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาทักษะอยู่ต่อเนื่อง ดังนั้นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญเมื่อเขาก้าวเข้ามามีบทบาทใน คสช. คือการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ และที่สำคัญคือการผลักดันให้เกิด “สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเด็กและเยาวชน”

“ช่วงเวลาราว ๒ ปีกว่าในวาระที่เหลือ ผมจะพยายามผลักดัน คสช. จัดให้มีกลไกสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเด็กและเยาวชน ที่เป็นบทบาทให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นสุขภาวะ ผนึกกับกลไกสภาเด็กและเยาวชนที่มีตั้งแต่ในระดับตำบลไปจนถึงระดับชาติ มีเครือข่ายผู้นำเยาวชนซึ่งเป็นคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนทุกระดับหลายแสนคนทั่วประเทศ ซึ่งเชื่อว่าผู้ใหญ่จะสนับสนุนแนวคิดในการผลักดันเรื่องนี้” สุรพัศ์โยธิน อธิบายความมุ่งมั่น

นอกจากบทบาทการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ แบงค์เองยังหมายรวมถึง “คนหน้าใหม่” ด้วย เพราะในบางครั้ง บางเวที ที่เขาพบเห็นเครือข่ายเด็กและเยาวชนก็อาจเป็นตัวแทนรายเดิมๆ ที่อยู่มานาน ซึ่งอาจไม่ได้เปิดโอกาสให้เยาวชนรายใหม่ๆ เข้ามามีส่วนร่วม เพราะเขาเชื่อว่าการมีตัวแทนที่หลากหลาย ก็จะได้มุมมองแนวคิดที่หลากหลายมาช่วยเติมเต็มด้วยเช่นกัน

 

--- เป้าหมายสำคัญต้องเปลี่ยนทั้งโครงสร้าง’ ---

เมื่อพูดถึงหนทางที่จะพัฒนาการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนต่อไปในอนาคต สุรพัศ์โยธิน มองไปถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้าง ที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ในกลไกต่างๆ ให้ “มากที่สุด” เท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการคิดนโยบายหรือกฎหมายใดๆ นั่นก็เพราะเด็กและเยาวชนมีความเกี่ยวข้องในเกือบทุกด้าน และต้องเรียนรู้ตั้งแต่ปัจจุบัน เพื่อให้เขามีส่วนร่วมในการออกแบบ เสนอแนะ และร่วมกำหนดอนาคตของเขาเอง เพราะเด็กและเยาวชนเป็นทั้งปัจจุบันและอนาคตของชาติ

หนึ่งในไอเดียที่เขาได้ร่วมพูดคุยและถึงขั้นที่จะผลักดันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย คือการเปิดพื้นที่ให้มี “ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน” ที่เป็นเยาวชนขึ้นมา เพื่อให้ได้ร่วมเรียนรู้และมีหน้าที่ในการช่วยผู้ใหญ่บ้านดูแลงานตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ ซึ่งอย่างน้อยจะเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นให้เยาวชนได้เรียนรู้การทำงานตั้งแต่ต้นในพื้นที่ระดับฐานราก

“สิ่งที่เราพยายามผลักดันคือการเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้าง โดยเปิดพื้นที่ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งทุกกลไกควรจะต้องมีผู้แทนเด็กและเยาวชนอยู่ อย่างน้อยคือไม่ใช่ให้ผู้ใหญ่เข้าไปพูดแทนเด็ก ไปอ่านเอาจากข้อมูลวิจัยอะไรมาก็ไม่รู้ ฟังเด็กไปเลยดีกว่า ให้เขาได้เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งรวมในกลไกไปเลย โดยเฉพาะอันไหนที่เปลี่ยนได้ง่ายๆ ที่เราทำได้โดยไม่ต้องรอกฎหมาย ก็เปิดให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมได้เลย” สุรพัศ์โยธิน ฉายภาพแนวคิด

ในอีกแง่หนึ่ง เขายอมรับปัญหาในปัจจุบันที่มีรอยร้าวหรือช่องว่างที่เกิดขึ้น ระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นก่อน โดยเฉพาะกับหน่วยงานภาครัฐ ที่เด็กสมัยนี้อาจไม่ได้เกรงกลัวต่ออำนาจเหมือนสมัยก่อน ฉะนั้นการยิ่งใช้อำนาจเข้าไปข่ม ก็จะยิ่งเกิดการต่อต้านที่มากยิ่งขึ้น

คำแนะนำของแบงค์ในการดึงเอาคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม คือการดึงตัว “Elite” หรือผู้นำโดยธรรมชาติของเขาเหล่านั้นให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทำงาน ซึ่งพวกเขาเหล่านี้เองที่จะสามารถมีวิธีในการเชื่อมโยงกับรายอื่นๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมได้ สร้างบรรยากาศให้รู้สึกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเขา และจะช่วยลดการตั้งคำถามหรือตั้งแง่ลงไปได้

 3 ธันวาคม 2564