การประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA FORUM) ประจำปี 2567 "เมืองสุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วย HIA"15 สิงหาคม 2567
เริ่มแล้ว! เวที HIA Forum ประจำปี 2567
พื้นที่กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้เครื่องมือประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สู่กระบวนการการมีส่วนร่วมในการพัฒนา-แก้ไขปัญหาชุมชน
“นพ.ชูชัย” ชี้ 3 เทรนด์การพัฒนาโลก พร้อมผลักดัน HIA สู่การพัฒนานโยบายของ
อปท. ขณะที่ “เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” เดินหน้าสานพลังทำงานร่วมกับท้องถิ่น หวังเป็นเครื่องมือสนับสนุนพื้นที่
เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมจัดการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA FORUM) ประจำปี 2567 “เมืองสุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วย HIA” ระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือเพื่อประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA
Commission) เป็นประธานเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ ตอนหนึ่งว่า พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ
พ.ศ. 2550 ให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนทุกคนให้ได้รับการคุ้มครองดูแลเพื่อให้เกิดสุขภาพดี
มีสิทธิในการดำรงอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ครอบคลุมถึงความเป็นธรรมทางสังคม
การเข้าถึงโอกาสด้านต่างๆ และยังให้ความสำคัญกับการพัฒนานโยบายสาธารณะโดยใช้ข้อมูล
องค์ความรู้ และกระบวนการมีส่วนร่วม ผ่านเครื่องมือสำคัญคือ “การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ” หรือ HIA ที่จะชวนปกป้องคุ้มครองสุขภาพคนในชุมชนจากการดำเนินกิจกรรม หรือโครงการ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพ
นพ.ชูชัย
กล่าวว่า การพัฒนาที่ขาดดุลยภาพ ไม่ว่าในเชิงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม
จิตใจ รวมไปถึงทรัพยากร นำมาสู่เทรนด์หรือแนวโน้มการพัฒนาของโลกในปัจจุบัน 3
ประเด็นสำคัญ คือ 1.
ธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม คือการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของภาคเอกชน
ที่นอกจากจะคำนึงถึงการเติบโตและผลกำไรแล้ว
ยังต้องมีส่วนในการดูแลธรรมาภิบาลด้านต่างๆ 2.
การกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน 3.
การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในสังคม
นพ.ชูชัย
กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยุทธศาสตร์สำคัญในการผลักดันให้ HIA เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ชุมชนสามารถเข้าถึงสิทธิตาม
พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้ คือการมุ่งไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(อปท.) โดยทาง สช. และเครือข่ายวิชาการ ได้ร่วมกันเข้าไปพัฒนาและสนับสนุนการทำงานร่วมกับทางองค์การบริหารจังหวัด
(อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้นำ HIA
ไปใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายสาธารณะ ที่สอดคล้องกับความแตกต่างหลากหลายตามบริบทของพื้นที่
ซึ่งมีทั้งประเด็นด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย สังคมและคุณภาพชีวิต
รวมถึงประเด็นด้านการจัดระบบบริการสุขภาพ
“เรามีตัวอย่างที่น่าสนใจจากการใช้เครื่องมือ
HIA หลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกับการจัดการขยะ น้ำเสีย อาหาร
โรคภัย การดูแลผู้สูงอายุ การท่องเที่ยว
ไปจนถึงการจัดระบบบริการสุขภาพภายใต้การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
(รพ.สต.) ไปสังกัด อบจ. เกิดให้เห็นรูปธรรมของบางพื้นที่ ที่นำ HIA ไปใช้สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน ช่วยให้ท้องถิ่นสามารถขับเคลื่อนงานตามบทบาทภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และสอดคล้องกับทิศทางของแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (HiAP) การพัฒนาเมืองสุขภาพดี
ทั้งยังส่งเสริมบทบาทของท้องถิ่นในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิแบบเชิงรุกได้เป็นอย่างดี” นพ.ชูชัย กล่าว
ด้าน
นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 17 ปี ของการขับเคลื่อนตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ
พ.ศ. 2550 สิ่งสำคัญคือการใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ
ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายการทำงาน ซึ่ง HIA ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ได้มีการพัฒนาและเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง
โดยที่มีเป้าหมายเพื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม
ในการประเมินหรือคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากทั้งนโยบาย โครงการ หรือกิจกรรม
รวมทั้งสร้างทางเลือกในการลดผลกระทบทางลบ เพิ่มผลกระทบทางบวก
อันจะนำไปสู่การตัดสินใจที่เป็นผลดีต่อสุขภาวะของผู้คนและสังคมในระยะยาว
นพ.สุเทพ
กล่าวว่า ต่อไปในอนาคตข้างหน้า อปท. จะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกๆ เรื่อง
จากเดิมที่อาจไปเน้นในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน
แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าต้องเข้ามาดูแลในมิติอื่นๆ ทั้งการศึกษา สุขภาพ
สิ่งแวดล้อม ฯลฯ มากขึ้น ตัวอย่างเช่นทิศทางการกระจายอำนาจ การถ่ายโอนภารกิจ
รพ.สต. ที่กำลังดำเนินการกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่ง HIA ก็จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้การดำเนินงานต่างๆ
เกิดความยั่งยืนได้
“ทิศทางของการขับเคลื่อน
HIA ในปัจจุบัน เราจึงมุ่งเข้าไปทำงานร่วมกับท้องถิ่นมากขึ้น
เพราะนี่เป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมให้คนได้เข้ามาพูดคุยกัน ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานหรือนโยบายต่างๆ
ของท้องถิ่นเกิดความยั่งยืนได้ เพราะถ้าหากขาดการมีส่วนร่วม
เมื่อดำเนินไปแล้วมีผู้ได้รับผลกระทบ เกิดเสียงคัดค้าน ก็จะกลายเป็นปัญหาที่ตามมา
แต่หากท้องถิ่นใช้คุณค่าและวิธีการของ HIA ในการให้คนเข้ามามีส่วนร่วม
ก็จะช่วยให้เกิดการมองที่รอบด้านและพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน” นพ.สุเทพ กล่าว
สำหรับการประชุม HIA FORUM
ประจำปี 2567 มีผู้เข้าร่วมกว่า 400 ราย
โดยภายในงานมีเวทีเสวนาวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือ HIA
และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพระดับชุมชน (CHIA) ตลอดจนบทเรียนแนวทางการเฝ้าระวัง รวมถึงแก้ไขปัญหาผลกระทบทางสุขภาพหลากหลายประเด็น
อาทิ การทำ HIA ประเด็นนโยบายสาธารณะระดับต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข การปกครอง ธรรมนูญชุมชน, การทำ HIA ในประเด็นสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ ขยะอุตสาหกรรม,
การทำ HIA ในประเด็นการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ
การพัฒนาชุมชน และการประยุกต์ใช้ HIA การพัฒนาเครื่องมือ
และยังมีบูธนิทรรศการจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมากมาย