แพทย์มะเร็งชื่นชมมุมมอง 'นุ๊กซี่' เลือกใช้ชีวิตเป็นสุขระหว่างรักษา ย้ำผู้เข้าใจสัจธรรม-ไม่ต้องพึ่งรพ. พร้อมแนะวิธีคัดกรองสำหรับผู้หญิง
30 มีนาคม 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

"นพ.อิศรางค์" ร่วมให้ความเข้าใจโรคมะเร็งเต้านม พร้อมชื่นชมมุมมองของ "นุ๊กซี่" เลือกใช้ชีวิตระหว่างการรักษาอย่างมีความสุข ชี้บางครั้งการอนุญาตให้โรคดำเนินไปตามธรรมชาติ อาจช่วยผู้ป่วยพ้นทุกข์ก่อนเริ่มทรมาน


ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งและชีวาภิบาล และผู้อำนวยการเยือนเย็น วิสาหกิจเพื่อสังคม เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Issarang Nuchprayoon" เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2565 ถึงกรณีการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม ของ นุ๊กซี่ - อัญพัชญ์ วัฒนาตันติรัตน์ แฟนสาวของนักร้องชื่อดัง ปู แบล็คเฮด หรือ อานนท์ สายแสงจันทร์

ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ ระบุว่า มะเร็งเต้านม เกิดขึ้นได้ในผู้หญิงไทยอายุ 30+ ปี แต่ไม่บ่อยนัก คือมีเพียง 25 คนต่อแสนคนต่อปี เมื่ออายุมากขึ้น คือ 40+ ปีอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมจึงสูงขึ้นเป็น 65 คนต่อแสนคนต่อปี และ อายุ 50+ ปีที่ 92 คนต่อแสนคนต่อปี การตรวจคัดกรองหามะเร็งเต้านม เช่นแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์ จึงแนะนำสำหรับสตรีไทยอายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะมีโอกาสตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรกได้มากพอสมควร

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังไม่ถึงวัยที่แนะนำให้ตรวจกรอง ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุน้อยจึงมักเป็นระยะลุกลาม เช่น นุ๊กซี่ก็พบเป็นระยะที่ 3 และเป็นชนิดที่มี HER2 จึงต้องรับยาเคมีบำบัดและยามุ่งเป้า 18 ครั้งหลังผ่าตัด โดยทั่วไปการรักษาตามมาตรฐานเช่นนี้ มักมีโอกาสหายขาดสูง ถึงร้อยละ 72

ทั้งนี้ มะเร็งเต้านมในสตรีอายุน้อย อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ หรือเกิดขึ้นเองโดยบังเอิญ ในยุคนี้อาจตรวจหาสาเหตุทางกรรมพันธุ์ได้ โดยเฉพาะถ้ามีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม และหรือ มะเร็งรังไข่มากกว่า 1 คน หากมีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว ก็พึงตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุน้อยกว่า 40 ปี แต่สำหรับคนทั่วไปที่เป็นมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์ ความเป็นผู้หญิงคือความเสี่ยงมะเร็งเต้านม ควรได้รับการตรวจคัดกรองเมื่ออายุเกิน 40 ปีขึ้นไปทุกคน จนถึง 70 ปี

สำหรับมะเร็งเต้านมชนิด HER2+ นี้ กระจายไปสมองได้บ่อยถึง 1 ใน 3 ของผู้ที่ป่วย อาการของมะเร็งสมองนั้นไม่แน่นอน เมื่อมีอาการอย่างเช่นปวดหัว จึงทำการตรวจ CT scan หากไม่มีอาการก็ไม่ต้องทำ เพราะว่าถ้าทำแล้วไม่พบวันนี้ มะเร็งก็อาจปรากฏขึ้นวันหลังก็ได้ การพบก้อนในสมองเร็วก็ไม่ได้ทำให้โอกาสหายขาดเพิ่มขึ้น เมื่อรับเคมีบำบัดตามมาตรฐานแล้ว ภายหลังตรวจพบมะเร็งกระจายไปสมอง แสดงว่ามะเร็งนี้ดื้อยาและการรักษาที่ผ่านมาทั้งหมด โอกาสรักษาหายขาดจึงไม่มีแล้ว การฉายรังสีอาจยืดเวลาได้บ้าง

ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ ระบุว่า นุ๊กซี่ ดูเข้าใจสถานการณ์ดี เล่าว่าถ้ามะเร็งกระจายไปสมอง น่าจะดีกว่ากระจายไปที่อื่น จริงของเขา เพราะถ้ามะเร็งกระจายไปกระดูก ก็จะมีอาการปวดน่าทรมาน แม้ปัจจุบันจะบำบัดได้ด้วยยาแก้ปวดอย่างดี แต่มะเร็งก็จะทำให้ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ตายเสียที จนเมื่อกระจายไปปอด เมื่อเป็นมากจะมีอาการเหนื่อยง่าย จากที่เคยทำกิจกรรมได้ ก็จะเริ่มทำไม่ได้เพราะเหนื่อยง่ายขึ้นเรื่อยๆ

"เมื่อใดเป็นมะเร็งที่สมอง อาจมีอาการปวดหัวอาเจียนชั่วคราว ซึ่งบำบัดได้ด้วยยาแก้ปวด จนกระทั่งการทำงานของสมองน้อยลง ไม่รับรู้ความเจ็บปวดใดๆ อีก หลับลึกมากขึ้น และเป็นโอกาสที่จะเสียชีวิตอย่างสงบ ถ้าเจ้าของชีวิตประสงค์จะให้เป็นเช่นนั้น เวลาอาจจะสั้นกว่าสถานการณ์อื่น แต่ไปสบายไม่ทรมาน" ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ ระบุ

ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ ระบุอีกว่า นุ๊กซี่เลือกใช้ชีวิตระหว่างการรักษาอย่างมีความสุข นับว่าเป็นมุมมองที่ยอดเยี่ยม นุ๊กซี่เลือกที่จะไม่คิดว่าเธอเป็นคนป่วย และกล่าวว่าคนป่วยทุกคนจริงๆ ก็ไม่ได้อยากให้ใครมามองว่าเราเป็นคนป่วยเหมือนกัน การไปเยี่ยมผู้ป่วย จึงไม่พึงพูดชวนคุยเรื่องความเจ็บป่วย เก็บความสงสัยไว้ถามคนอื่นดีกว่า ฝ่ายผู้ป่วยก็ควรจะแต่งตั้งใครสักคนให้เป็นผู้แจ้งข่าวกับผู้คนที่อยากรู้เรื่องบ้าง จะได้ไม่ต้องชวนผู้ป่วยคุยเรื่องนี้

"คนป่วยอยากคุยเรื่องจรรโลงใจ เรื่องที่คุยกันเป็นประจำในตอนที่ยังไม่ป่วยต่างหาก และคนที่ไปเยี่ยมไม่ต้องพยายามให้กำลังใจ เว้นแต่เมื่อผู้ป่วยร้องขอ อันที่จริงคนไม่ป่วยก็ให้กำลังใจผู้ป่วยไม่ค่อยได้หรอก เพราะไม่มีประสบการณ์ตรง" ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ ระบุ

ขณะที่การฉายรังสีที่หัว อาจทำให้มะเร็งตายไปบ้าง อาการของโรคยังคงดำเนินไปช้าลง ยืดเวลาได้บ้าง แต่ในที่สุด อีกไม่กี่เดือนต่อมา มะเร็งในสมองก็จะกลับโตขึ้นมาอีก และทำให้หลับหมดสติ และเสียชีวิตอย่างสงบได้ ผู้ที่เข้าใจสัจธรรม จึงอาจเลือกไม่รับการฉายรังสีก็ได้ หากใช้ชีวิตสมบูรณ์แล้ว ไม่ต้องการยืดชีวิตอีก บางทีการอนุญาตให้โรคดำเนินไปตามธรรมชาติ ก็อาจทำให้ผู้ป่วยพ้นทุกข์ไปเสียก่อนที่จะเริ่มทรมานจากมะเร็งลามไปกระดูก ปอด หรืออวัยวะอื่น

"ผู้ป่วยที่เข้าใจสัจธรรม จึงไม่ต้องพึ่งโรงพยาบาล สามารถเลือกนอนสบายที่บ้านของตัวเอง และหลับไปอย่างสงบ อบอุ่นท่ามกลางความรักเคียงข้างผู้รู้ใจได้ตราบลมหายใจสุดท้าย ขอแสดงความอาลัย นุ๊กซี่ ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ" ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ ระบุทิ้งท้าย