สมัชชาสุขภาพขอนแก่น ผนึกกำลังท้องถิ่น หน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU)22 สิงหาคม 2567
การเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ในเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น ประเด็นนโยบายการเตรียมรองรับสังคมสูงวัย วันที่ 22 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลหนองแก อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น
จากข้อเสนอเชิงนโยบายในประเด็นการรองรับสังคมสูงวัย ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ ได้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ผ่านเครื่องมือธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ โดยเน้นการสร้างกลไกโรงเรียนผู้สูงอายุผ่านกิจกรรมที่เหมาะสมกับทุกกลุ่มวัย การพัฒนาความเข้าใจและจัดทำแผนงานเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในพื้นที่เทศบาลตำบลหนองแก เทศบาลตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ และเทศบาลตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
ประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนงานในปี 2568 ได้แก่
1. การจัดการขยะชุมชน: การแก้ไขปัญหาขยะในชุมชนโดยการคัดแยกขยะในครัวเรือนและทำความสะอาดครัวเรือนและชุมชน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพการจัดการขยะ โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางกายให้กับผู้สูงอายุ และกระตุ้นกิจกรรมร่วมกันของคนในครัวเรือนและชุมชน โดยมีเป้าหมายในการจัดการกองทุนขยะในมิติเศรษฐกิจสามารถสร้างประโยชน์หลากหลายด้านให้กับทุกกลุ่มวัย และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. กิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ: ใช้โรงเรียนผู้สูงอายุเป็นเครื่องมือในการจัดกิจกรรมร่วมกับคนทุกช่วงวัย ซึ่งจะรวมถึงการถอดบทเรียนและพัฒนาศักยภาพในการลดค่าใช้จ่ายและภาระในครอบครัว เช่น การทำจักสานและปลูกผัก รวมถึงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย และวางเป้าหมายยกระดับโรงเรียนผู้สูงอายุให้เป็นศูนย์เรียนรู้ทุกช่วงวัยต่อไป
ทั้งนี้ สช. โดย น.ส.ชญาดา เธียรวิบูล ได้นำเสนอบทเรียนการขับเคลื่อนประเด็นรองรับสังคมสูงวัย และร่วมแลกเปลี่ยนทิศทางการดำเนินงานของ สช. ในปี 2568 ซึ่งการขับเคลื่อนในระดับนโยบายจะเน้นการขยายผลจากฐานการทำงานเดิมที่ทำร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ สร้างกลไกประสานงานท้องถิ่นเพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับบริบทและความต้องการเฉพาะของแต่ละพื้นที่ เปิดพื้นที่ทำงานในระดับพื้นที่โดยใช้กลไกที่มีอยู่: เช่น กขป และสมัชชาสุขภาพ เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการทำงาน รวมถึงการขยายหุ้นส่วนการทำงานสร้างเครือข่ายพันธมิตรใหม่กับองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ร่วมถึงพัฒนากลยุทธ์การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ: ใช้ช่องทางต่าง ๆ เช่น สื่อดิจิทัล, สื่อสิ่งพิมพ์, และกิจกรรมประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมตัวรองรับสังคมสูงวัย