เปรียบพืชพันธุ์อาหารเป็น ‘ตู้ยา’ อุดมคุณค่าไม่ต้องพึ่งอาหารเสริม นักวิชาการแนะกินผักตามฤดูกาล มี ‘ข้าว’ มากกว่า 1 ชนิดติดครัว
1 เมษายน 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ไบโอไทยจัดเสวนาความมั่นคงทางอาหาร “เรียนรู้อาหารเป็นยา” นักวิชาการย้ำพืชผักเปรียบได้กับตู้ยา อุดมธาตุอาหาร-สารต้านอนุมูลอิสระ ปรับสมดุลร่างกายโดยไม่ต้องพึ่งอาหารเสริม แนะกินผักให้หลากหลาย-กินตามฤดูกาล พร้อมมีข้าวมากกว่า 1 ชนิดไว้ในครัว


มูลนิธิชีววิถี (Biothai) จัดเวทีเสวนา “ฝ่าวิกฤติ ก้าวสู่อนาคตความมั่นคงทางอาหาร” เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2565 โดยได้มีการเสวนาในหัวข้อ “การจัดการเรียนรู้อาหารเป็นยาจากฐานความมั่นคงทางอาหาร” เพื่อแลกเปลี่ยนพร้อมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ การขับเคลื่อนงานด้านการนำวัตถุดิบอาหารท้องถิ่นใกล้ตัวมารับประทานเพื่อสุขภาพ และผลักดันให้เป็นหนึ่งในเศรษฐกิจของท้องถิ่นได้

 


รศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า พืชผักนั้นเปรียบเสมือนโรงอาหาร รวมไปถึงตู้ยาประจำบ้านได้ เนื่องด้วยใยอาหารและสารอาหารหลายอย่างที่อยู่ในผักหลากชนิด มีสารต้านอนุมูลอิสระที่จะช่วยชะลอและยับยั้งการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ให้ช้าลง และปรับสมดุลภายในร่างกาย และด้วยความโดดเด่นที่ต่างกัน เราจึงควรกินผักให้หลากหลายชนิด อย่างการทานพืชผักตามธาตุหรือทานตามฤดูกาล ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี

 

รศ.ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของข้าวนั้นมีประโยชน์สูงมาก ซึ่งได้มีการศึกษามาแล้วว่าดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มข้าวหลากสีที่มีธาตุ วิตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระ มากกว่าข้าวขาวธรรมดาทั่วไปถึง 4-5 เท่าตัว โดยธาตุที่มีอยู่ในข้าวหลากสี ได้แก่ ธาตุโพเทสเซียม ธาตุเหล็ก ธาตุทองแดง ธาตุสังกะสี ธาตุแคลเซียม และธาตุแมกนีเซียม ซึ่งสามารถพบได้ในข้าวนิลสวรรค์ ข้าวป้องแอ้ว ข้าวมะลิดำ ข้าวชมเลียงแดง ข้าวหอมนิล ข้าวกำชัย เป็นต้น

 

“ข้าวกลุ่มนี้ยังมีกลุ่มวิตามินต่างๆ ได้แก่ วิตามินบี 1 วิตามินบี 9 วิตามินอี ดังนั้นการเลือกทานข้าวที่มีประโยชน์เหล่านี้ จะทำให้คุณรับธาตุได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องซื้ออาหารเสริมที่มีราคาสูง ซึ่งในอนาคตครัวเรือนอาจจะต้องมีข้าวมากกว่า 1 ชนิด เพื่อให้ได้รับสารอาหารจากข้าวได้อย่างหลากหลาย แต่ไม่แนะนำให้นำมาผสมกัน เพราะอาจทำให้เบลอและไม่ได้รับอะไรเลย กินทีละชนิดดีกว่ารศ.ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าว

 

นายนพดล มั่นศักดิ์ เครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า นครสวรรค์เป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นเรื่องข้าว แต่ก่อนหน้านี้กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับเมล็ดพันธุ์ข้าวมากพอ ทำให้ไม่สามารถมีเมล็ดพันธุ์ที่ดีได้ จนกระทั่งเริ่มมีการก่อตั้งเครือข่าย ซึ่งได้รวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวกว่า 400 เมล็ดพันธุ์ และคัดเหลือเพียง 160 เมล็ดพันธุ์ ที่เหมาะกับดินใน จ.นครสวรรค์ มากที่สุด

 

นายนพดล กล่าวว่า ส่วนกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน คือการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ต่อเนื่อง เพื่อให้คนในพื้นที่ได้ปลูกข้าวที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น โดยมีพันธุ์ข้าวที่เปิดตัวไปแล้ว ได้แก่ ข้าวช่อราตรี ข้าวขาวเกยไชย ข้าวขาวมงคล ข้าวหอมเลื่องลือ ข้าวนิลสวรรค์ และข้าวชมเลียงแดง ซึ่งในส่วนข้าวเกยไชย ของนครสวรรค์ นับเป็นอีกหนึ่งผลผลิตที่ได้นำไปแปรรูปหลากหลายเมนูให้กับท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ซาลาเปา ขนมจีน ขนมตาล แป้งกุ๊ยช่าย เป็นต้น

 

ขณะที่ น.ส.สุภาภรณ์ นนทเภท เครือข่ายความมั่นคงทางอาหารภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ใช้สมุนไพรในการทำยารักษาโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นสมุนไพรที่หาได้ไม่ยาก เช่น กระเทียม พริกไทย บอระเพ็ด ฟ้าทะลายโจร เป็นต้น แต่โดยรวมแล้วได้ใช้สมุนไพรไปกว่า 20 ชนิด และได้ใช้ในการรักษาที่แตกต่างกันไปตามอาการ ซึ่งพบว่าสามารถใช้ได้จริง


น.ส.สุภาภรณ์ กล่าวว่า
สำหรับ จ.นครศรีธรรมราช มีพืชสมุนไพรที่สมบูรณ์และหลากหลาย สามารถนำไปเป็นได้ทั้งอาหารและยาเมื่อมีการนำมาใช้อย่างถูกวิธี ตัวอย่างเช่น แกงทั่วไปที่รับประทานกันก็มีส่วนผสมของสมุนไพร เช่น พริกชี้ฟ้า พริกไทย ขิง ข่า ซึ่งพืชเหล่านี้ก็เป็นสมุนไพร ฉะนั้นเมื่อนำมาประกอบอาหารก็เปรียบเสมือนการทานยาต้ม 1 หม้อแล้ว เพียงแต่ความเข้มข้นอาจจะน้อยกว่า

 

“ดังนั้นถ้าเราสามารถจัดสมดุลของการรับประทานอาหาร โดยใช้ความรู้ ก็สามารถทำให้การรับประทานอาหารที่บ้านช่วยสร้างสุขภาพที่ดีได้เหมือนกัน” น.ส.สุภาภรณ์ ระบุ

 

ด้าน นายชาตรี โสวรรณตระกูล เจ้าของสวนอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียน ละอองฟ้า กล่าวว่า การทำเกษตรอินทรีย์ สำหรับทุเรียนแล้วนับเป็นผลผลิตที่มาแรงมากในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ โดยผลผลิตที่ส่งออกไปแล้วจะหมั่นสังเกตผู้บริโภคอยู่เสมอว่ามีความสนใจอย่างไร เพื่อที่จะได้นำมาปรับตัวตาม

 

“อย่างเมื่อก่อนเราปลูกไปเพื่อให้ได้ผลผลิตเฉยๆ แต่ในปัจจุบันผู้บริโภคเองก็ดูออกว่าผลผลิตที่ดีต้องเป็นอย่างไร ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาอยู่เสมอ และตั้งแต่ความนิยมของทุเรียนเพิ่มขึ้น ก็ทำให้เกิดคู่แข่งมากจากต่างประเทศจำนวนมาก แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังยืนหยัดดูแลรักษาทุเรียนตามวิถีธรรมชาติเหมือนเดิม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต่างก็บอกว่าผลผลิตจากบ้านเรานั้นดีมาก ไม่เพียงเฉพาะทุเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมทั้งผลไม้อื่นๆ พืชพันธุ์ต่างๆ และข้าว” นายชาตรี กล่าว