จังหวัดสงขลา จัดประชุมเตรียมงานสมัชชากำลังคนสุขภาพเพื่อรองรับงานปฐมภูมิและสังคมสูงวัยสงขลา
คณะทำงานจังหวัดจังหวัดสงขลา จัดประชุมเตรียมงานสมัชชากำลังคนสุขภาพเพื่อรองรับงานปฐมภูมิและสังคมสูงวัยสงขลา ร่วมกันกำหนดเป้าหมายและร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย ณ ห้องประชุมชั้น3 ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุจังหวัดสงขลา โดยมีผู้เข้าร่วม onsite 29 คน ประกอบด้วยคณะแพทย์ศาสตร์/พยาบาลศาสตร์/แพทย์แผนไทย ม.อ. นักศึกษาคณะแพทย์ฯ สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา กองสาธารณสุขอบจ.สงขลา พมจ. สสจ. รพ.สงขลา รพ.สมเด็จฯ รพ.หาดใหญ่ สมาคมกิจกรรมบำบัด สภาการพยาบาล สภาแพทย์แผนไทย รร.หาดใหญ่เวชกรรมไทย ชีวาสุข ทน.หาดใหญ่ และonline จำนวน 10 คน ประกอบด้วย สนง.คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ หน่วยงานในจังหวัดสงขลา
ทั้งนี้สภาพปัญหา และบริบททางสังคม ช่องว่างที่สำคัญ ประกอบทิศทางและขอบเขตของประเด็นในระดับพื้นที่จังหวัดสงขลา ทีมวิชาการสรุปข้อมูลสำคัญดังนี้
1.ปี 2566 ประชากรจังหวัดสงขลามีทั้งสิ้น 1,413,130 คน เกือบ 50% อยู่ในอำเภอเมือง หาดใหญ่ และสะเดา จำแนกเป็นประชากรวัยเด็ก (0 -14 ปี) 18.59% วัยแรงงาน (15 -59 ปี) 63.98% ผู้สูงอายุ 17.43% ที่สำคัญ มีอัตราส่วนพึ่งพิง 56.29%
2.อายุขัยเฉลี่ยและอายุเฉลี่ยการมีสุขภาพดี (ปี 2561 – 2565) มีแนวโน้มลดลง 2561 อายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด 77.7 ปี และมีอายุเฉลี่ยการมีสุขภาพดี 71.1 ปี ปี 2565 อายุขัยเฉลี่ยประชากรจังหวัดสงขลา = 75.99 ปี และอายุเฉลี่ยการมีสุขภาพดีประชากรจังหวัดสงขลา = 69.59 ปี สาเหตุการตาย 5 อันดับแรกในปี 2566 คือ มะเร็ง ปวดบวม หัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง การติดเชื้อในกระแสเลือด ปี 2566 มีจำนวนคนเปราะบาง 316,453 คน เป็นคนยากจน 17,477 คน ครัวเรือนเปราะบาง 116,008 ครัว มีผู้สูงอายุ จำนวน 248,576 คน ได้รับเบี้ย ยังชีพผู้สูงอายุ 209,400 คน เป็นผู้สูงอายุติดเตียง (ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้) จำนวน 1,109 คน ผู้สูงอายุติดบ้าน 5,507 คน ผู้สูงอายุติดสังคม 169,099 คน มีเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา ร้อยละ 12.1 มีเด็กนักเรียนยากจน 10,442 คน ยากจนพิเศษ 23,353 คน ปี 2565 มีแรงงานนอกระบบ ร้อยละ 56.2 มีชุมชนมีรายได้น้อย 49 แห่ง ปี 2564มีผู้สูงอายุอยู่คนเดียวร้อยละ 7.4 มีคนเร่ร่อนไร้ที่อยู๋ 46 คน(มากที่สุดในเขต 12)
3.บุคลากรทางการแพทย์ ปี 2566 มีจำนวน 372 คน(1ต่อ 3,847 คน) ทันตแพทย์ 116 (1: 12,338) เภสัชกร 181 (1 : 7,907) พยาบาล 2060 คน (1: 694) จำนวนเตียง 2499 (1:572) จำนวนบุคลากรทางสาธารณสุขมีความกระจุกตัวในเขตเมือง ในส่วนอัตรากำลัง ปี 2565 พบว่าด้านวิชาชีพเกินอัตรากำลังขั้นต่ำ ด้านวิชาชีพอื่นได้แก่ นักกายภาพ แพทย์แผนไทย นักวิชาการทันตสาธารณสุข นักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีการแพทย์ และนักโภชนาการต่ำกว่ากรอบอัตราขั้นต่ำ
4.ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่จะมีผลต่อระบบสุขภาพระดับจังหวัด ประกอบด้วย 1)พฤติกรรมสุขภาพของประชาชน เสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ การดื่มสุรา สูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีเกลือและโซเดียมสูง ไม่ออกกำลังกาย ภาวะเครียดและใช้ยาเสพติด 2)ด้านสภาพแวดล้อม เกิดจากการขยายตัวของเมือง การเคลื่อนย้ายประชากร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3)โครงสร้างประชากร วัยเด็กลดลง ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น อัตตราส่วนวัยพึ่งพิงเพิ่มมากขึ้น
สำหรับทุนทางสังคมสำคัญในจังหวัดสงขลา ที่สามารถนำมาต่อยอดขยายผลร่วมกัน
1.งานสาธารณสุขขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ที่มีงานการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 และบุคลากรอาสาสมัครกู้ชีพ 1200 คนและรถกู้ชีพ 79 คัน งานถ่ายโอนรพ.สต.จำนวน 49 แห่งและมีคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่จังหวัดควบคุมกำกับ งานกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์(ร่วมกับสปสช.)ที่มีศูนย์สร้างสุขชุมชนกระจายอยู่ในพื้นที่ 16-19 แห่ง มีทีมผู้ช่วยนักกายภาพ มีศูนย์ซ่อมกายอุปกรณ์ มีแพทย์แผนไทย แผนงานร่วมทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะในพื้นที่(ร่วมกับสสส.) และกำลังพัฒนาระบบข้อมูลกลางเพื่อเชื่อมโยงการทำงานกับเครือข่าย 11 หน่วยงาน www.khonsongkhla.com การพัฒนา center ระบบขนส่งเพื่อรับผู้ป่วยไปพบแพทย์ center พัฒนามาตรฐานผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน(CG)
2.ศูนย์ชีวาสุข ทน.หาดใหญ่ พัฒนาไปสู่เวลเนส center เน้นสร้างเสริมสุขภาพบนฐานภมิปัญญาไทยโดยมีนักจัดการสุขภาพ และแพทย์เวชศาสตร์วิถีชีวิต นำแนวทางวิเคราะห์ 6 ปัจจัยมาปรับพฤติกรรมลดโรค กำลังพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพื่อสร้างรายได้
3.การทำแผนรองรับสังคมสูงวัยและงานปฐมภูมิ โดยใช้แบบคัดกรองรายบุคคลผ่านแอพพลิเคชั่น iMed@home ของมูลนิธิชุมชนสงขลาเพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง สร้างความรอบรู้ ร่วมจัดทำแผนสุขภาวะชุมชนและกติกาชุมชน
4.สถานชีวาภิบาลต้นแบบ บ้านเอื้อบุญอุ่นรัก รพ.หาดใหญ่และชุมชนกรุณา สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติตำบลพะตง ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ทั้งนี้เป็นไปทิศทางที่สอดคล้องกับ(ร่าง)ข้อเสนอสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่กำลังเข้าสู่การรับฟังความเห็น ประกอบด้วยกรอบทิศทางเชิงนโยบาย 4 ข้อดังนี้
1.พัฒนาศักยภาพประชาชนอย่างจริงจัง สร้างการรับรู้ใหม่ในสังคมเกี่ยวกับคุณค่าและบทบาทในการดูแลสุขภาพตนเองของประชาชน ให้เกิดความเข้าใจ เกิดความตระหนัก มีความมั่นใจและมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวในเบื้องต้นได้ ลดการพึ่งพาระบบบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้สึกมีคุณค่าต่อการดูแลสุขภาพตนเองและต่อระบบสุขภาพ ให้ความสำคัญกับกลุ่มที่อยู่ในสภาวะเปราะบางเพื่อเปลี่ยนเป็นต้นทุนและพลังของสังคม
2.พลิกโฉมการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพแนวใหม่ ให้มีความเข้าใจเรื่องสุขภาวะ มีจิตสาธารณะ มีความเป็นมืออาชีพ สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำงานเป็นทีมสุขภาพ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) เพื่อมุ่งสู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรมและยั่งยืน สามารถตอบโจทย์ระบบสขภาพปฐมภูมิ สังคมสูงวัยและตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินรวมถึงความท้าทายใหม่ได้ด้วยรูปแบบการจัดการศึกษาที่หลากหลาย การบูรณาการระบบการศึกษา การเรียนรู้และการทำงานร่วมกัน แบบสหวิชาชีพและสหกิจศึกษา
3.ส่งเสริมการจ้างงานกำลังคนด้านสุขภาพที่มีให้เต็มศักยภาพ ในรูปแบบการจ้างที่หลากหลาย เพื่อแก้ไขปัญหาการกระจายตัวของบุคลากรสุขภาพ รวมถึงการจ้างงานกำลังคนนอกภาคการสาธารณสุขที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจด้วย เช่น การจ้างดูแลผู้ป่วย ดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส
4.สร้างความสามารถแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยประชากรที่มีสุขภาพและผลิตภาพ กำลังคนด้านสุขภาพและการบริการสุขภาพ ทั้งการวิจัยพัฒนานวตกรรมและเทคโนโลยีทางสุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพ สมุนไพร วัคซีน วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ การมีศูนย์เวลเนส (Wellness Center) หรือมีหน่วยให้บริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจร (Medical hub)