ว่าที่ ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ ร่วมพ้องเสียง ใช้ ‘พื้นที่รกร้าง’ ของเอกชนในเมือง เป็นแหล่งสร้างอาหาร-พื้นที่สีเขียว ส่งเสริมอาชีพ-รายได้ให้คนตัวเล็ก
11 เมษายน 2565
! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.

ภาคีเครือข่ายภาคการเกษตร เชิญผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ร่วมแสดงวิสัยทัศน์นโยบายด้าน “ปากท้องของคนกรุง-พื้นที่อาหาร” ด้านผู้สมัครพ้องเสียง ตั้งเป้าหารือใช้ “พื้นที่รกร้าง” จากภาคเอกชนในเมืองมาเป็นแหล่งผลิตอาหาร-พื้นที่สีเขียวให้ประชาชน พร้อมผลักดัน-ส่งเสริมอาชีพให้คนจนเมืองผ่านสตรีทฟู้ด-หาบเร่แผงลอย


มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) สวนผักคนเมืองมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนา “ปากท้องของคนกรุงฯ: ชวน (ว่าที่) ผู้ว่าฯ กทม. ออกแบบอนาคตเมืองด้วยพื้นที่อาหาร” เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2565 เพื่อรับฟังวิสัยทัศน์จากผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อการสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงพื้นที่ผลิตอาหารที่ปลอดภัยของคนเมือง


นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า นโยบายของตนต้องการสร้างเมืองที่คนเท่ากัน และสร้างกฎกติกาที่เป็นธรรมในการอยู่ร่วมกัน เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม พร้อมกับจะทำให้เมืองอยู่ในจุดที่ถูกต้อง โดยให้คนตัวใหญ่ร่วมกันพัฒนาเมืองที่โอบรับคนตัวเล็ก

 

สำหรับตัวอย่างหนึ่ง คือพื้นที่รกร้างใจกลางเมือง กทม. ที่มีการปลูกพืชอย่างกล้วย หรือมะนาว เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในส่วนนี้หาก กทม. วางกฎกติกาแล้วพูดคุยกับนายทุนเจ้าของพื้นที่ว่าหากยังไม่ใช้พื้นที่ดังกล่าว กทม. จะขอใช้เป็นพื้นที่สาธารณะหรือตลาด เพื่อให้ประชาชนสามารถทำมาค้าขายได้ โดยที่นายทุนเองก็สามารถลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ รวมถึงสตรีทฟู้ดที่เป็นหนึ่งในเศรษกิจสำคัญด้านการท่องเที่ยว ก็จะมีการจัดหาพื้นที่รกร้างของทายทุน โดยพูดคุยกับทุกฝ่ายเพื่อให้มีสตรีทฟู้ดที่ไม่กระทบต่อทางเท้า

 

“ส่วนงบประมาณ กทม. ที่มีกว่าหมื่นล้านบาท ก็จำเป็นต้องจัดสรรให้กระจายลงไปสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ทั้ง 50 เขตได้ทันที โดยที่ไม่ต้องร้องขอ เพื่อให้ประชาชนสามารถคิดโครงการที่ต้องการได้อย่างเต็มที่ และให้ข้าราชการเข้ามาช่วยเหลือประชาชน” นายวิโรจน์ ระบุ

 

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ กล่าวว่า กทม.มีบทบาทเป็นแม่บ้านที่ต้องจัดการในสิ่งที่ประชาชนต้องการ ดังนั้นตนจะกระจายงบประมาณรวม 50 ล้านบาท ลงใน 50 เขต เพื่อให้ประชาชนในแต่ละเขตสามารถเสนอขอโครงการที่ต้องการทำ และเข้ามามีส่วนร่วมได้ทันที

 

น.ส.รสนา กล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่เกษตรกรรมในเมือง จะต้องลงสำรวจพื้นที่ว่างเปล่าในกทม. หรือคนที่มีที่ดินจำนวนมาก ให้สามารถมาลงนามกับรัฐบาลในการลดหย่อนภาษี โดยนำที่ดินมาทำพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่เกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ประชาชน คนจนเมือง มีสวนปลอดสารพิษอยู่ใกล้บ้านตนเอง อีกทั้งจะสนับสนุนการแยกขยะเปียก ให้นำไปสู่การหมักเพื่อทำก๊าซชีวภาพหรือก๊าซหุงต้ม แล้วนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนที่ต้องการเดือนละ 1 ถังต่อ ส่วนกากที่เหลือก็นำมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ในเมือง ทำให้สามารถลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน

 

“นอกจากนี้ยังจะให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดเล็ก โดยตั้งกองทุนหาบเร่แผงลอย เพื่อให้เข้าถึงเงินกู้และหลุดพ้นจากหนี้นอกระบบ หาทางให้คนตัวเล็กลุกขึ้นยืนได้ พร้อมส่งเสริมหลักสูตรในการพัฒนาความต้องการของแต่ละชุมชนในการทำมาหากิน” น.ส.รสนา ระบุ

 

ขณะที่ น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ในส่วนของตนต้องการกระจายอำนาจของ กทม. ไปยังข้าราชการชั้นผู้น้อยให้เข้าถึงประชาชนอย่างเต็มที่ โดยจะนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาบริหารจัดการ เพื่อให้ประชาชนนั้นเข้ามามีส่วนร่วมเสนอร่างและกำหนดงบประมาณได้ด้วยตัวเอง

 

น.ต.ศิธา กล่าวอีกว่า ในส่วนของพื้นที่สำหรับเพาะปลูกนั้น จะนำพื้นที่ของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนที่ว่างเปล่า มาทำสวนสาธารณะและสวนครัวตัวอย่าง พร้อมทั้งมีคนคอยดูแล เพื่อให้การเพาะปลูกเป็นไปได้อย่างปลอดภัย ถูกปาก ถูกสุขลักษณะอนามัย มั่นใจได้ว่าปลอดสารพิษ

 

“อีกหนึ่งปัญหาปากท้องของผู้มีรายได้น้อย คือหาบเร่แผงลอย เราจำเป็นต้องรักษาเอกลักษณ์ตรงนี้ไว้ พร้อมกับเปลี่ยนความคิดของเทศกิจ ว่าเราคือผู้ทำงานให้ประชาชน โดยสนับสนุนการขายของที่ไม่กีดขวางทางเท้า เพื่อให้ กทม.เป็นเมืองที่ทุกคนอยากมา” น.ต.ศิธา ระบุ

 

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ กล่าวว่า ตนอยากเสนอนโยบายสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการปลูกพืชผักปลอดสารพิษ สร้างสวนเกษตรอินทรีย์ใกล้บ้านให้ครอบคลุมทั่ว กทม. รวมถึงเปิดให้เช่าพื้นที่ว่างเปล่าในชุมชนเพื่อทำแปลงเกษตรใกล้บ้าน 15 นาที จำนวน 1 ชุมชน 1 แปลงเกษตร

 

นายชัชชาติ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังจะเปิดศูนย์ฝึกอาชีพเกษตรชุมชน พร้อมจัดหาตลาดทั้งในรูปแบบแพลตฟอร์มออนไลน์ และตลาดของเขต ให้กับคน กทม. รวมถึงเริ่มการคัดแยกขยะที่ต้นทางอย่างจริงจัง โดยต้องมีรถเก็บขยะที่ชัดเจน เพื่อนำขยะเปียกมาเป็นปุ๋ย ส่งเสริมชุมชนให้ทำปุ๋ยหรือทำปุ๋ยแล้วแจกจ่ายให้กับประชาชนในการทำการเกษตร

 

“นอกจากนี้จะมีการทำธนาคารอาหาร โดยรับอาหารจากห้างหรือโรงแรม ที่ยังสามารถบริโภคได้ นำมาแบ่งปันให้กลับกลุ่มคนเปราะบางที่เข้าไม่ถึงอาหาร ส่วนคนทั่วไปก็สามารถเลือกซื้ออาหารจากธนาคารอาหารนี้ได้เช่นกัน” นายชัชชาติ กล่าว