สานพลังภาคีล้อมรั้วสถานศึกษาเมืองนนทบุรี 34 แห่งพ้นนรกบุหรี่ไฟฟ้าชู 6 มาตรการล้อมคอก

! Font Awesome Pro 6.0.0 by @fontawesome - https://fontawesome.com License - https://fontawesome.com/license (Commercial License) Copyright 2022 Fonticons, Inc.


นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย ปี 2566 ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ ยท. สำรวจเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี จำนวน 61,688 คนจากทั่วประเทศ พบเยาวชนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า 25 % คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 (ปี 2562-2563) ในกลุ่มอายุ 10-19 ปี จำนวน 4,237 คน พบวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ากว่าครึ่งหรือ 53 % มีภาวะเสี่ยงโรคซึมเศร้า ซึ่งวัยรุ่นที่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงเกิดโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 1.66 เท่า ทั้งนี้ หากเยาวชนยังติดกับในวงวนของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคตินมีฤทธิ์ทำลายพัฒนาการของสมอง ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนลดลง ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ ความจำ ความสามารถในการตัดสินใจ รวมไปถึงปัญหาในการเรียน มีผลการเรียนที่ต่ำลง และอาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม “สสส.ขอใช้โอกาสเนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ 20 ก.ย. นี้ แสดงพลังความร่วมมือปกป้องเด็ก เยาวชนจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งทิศทางการควบคุมยาสูบของ สสส. ยังคงมุ่งเน้นการลดจำนวนคนสูบ โดยจะเชื่อม สาน และเสริมพลังหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการ 1.ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษา 2.ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ของผู้สูบเดิม 3.พัฒนาสภาพแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ ทั้งนี้ บุหรี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่สิ่งเสพติดอื่นๆ และหากผู้สูบอายุยิ่งน้อย ยิ่งมีโอกาสเลิกสูบสำเร็จได้ยาก ดังนั้นการป้องกันตั้งแต่วัยเด็ก เยาวชนจึงมีส่วนสำคัญช่วยสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้แก่เยาวชน”



พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (อบจ.นนทบุรี) กล่าวว่า อบจ.นนทบุรี มีสถานศึกษาในสังกัดรวม 34 แห่ง จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล-ระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 มีนักเรียนรวม 18,264 คน ที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนเรื่องการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าทั้งในสถานศึกษาและรอบสถานศึกษาจากผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง อบจ.นนทบุรี ร่วมกับ ยท. สำรวจข้อมูลเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ากลุ่มนักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น ในโรงเรียนสังกัด อบจ.นนทบุรี รวม 2,377 คน เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2567 พบเด็กนักเรียน สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูง 6.3 % กลุ่มเป้าหมายพบเห็นการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ 60.2 % ร้านค้าแบบมีหน้าร้านถาวร 48.7 % ตลาดนัดกลางคืน 18.5 % คนรอบตัวนำมาจำหน่าย 9.4 % และร้านค้าใกล้โรงเรียน 4.2 % ซึ่งน่ากังวลเพราะบุหรี่ไฟฟ้ายังมีปริมาณนิโคตินสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อต่อการเจริญเติบโตด้านร่างกายและสมองของเด็กและเยาวชน 

อบจ.นนทบุรี จึงขอประกาศนโยบายและมาตรการควบคุมและป้องกันบุหรี่ไฟฟ้า 1.สถานศึกษาทุกแห่งต้องเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมแสดงสัญลักษณ์ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณทางเข้าออกของสถานศึกษา 2.ตรวจค้นกระเป๋านักเรียน และอาคารเรียน ป้องกันการนำอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในสถานศึกษา 3.บุคลากรทางการศึกษา ชุมชน ต้องเฝ้าระวังร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ารอบสถานศึกษา พร้อมส่งข้อมูลให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย 4.จัดทำกล่องใส่อุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า (Dropbox) ที่ได้จากการตรวจยึด พร้อมส่งทำลายเป็นขยะอันตราย 5.ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา พร้อมจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้แก่นักเรียน รวมถึงส่งนักเรียนที่ติดบุหรี่ไฟฟ้าไปบำบัดในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 6.บุคลากรทางการศึกษาทุกคนเป็นแบบอย่าง ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือพกพาบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในสถานศึกษา ทั้งนี้ หากสถานศึกษาไม่ปฏิบัติตาม จะดำเนินการทางวินัยกับผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าอย่างสูงสุด


ด้านนายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า การลงนาม MOU ร่วมกับ อบจ.นนทบุรี ในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่สามารถนำความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้าสื่อสารไปยังบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครองได้ทันทีกว่า 60,000 คน ภายในเวลา 2 ปี โดยจะร่วมกันตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษาทุกแห่ง ชุมชน และสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ มีหน้าที่รับผิดชอบงานทุกมิติ ได้แก่ การพัฒนาเนื้อหาการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา การติดตามประเมินผลการดำเนินงาน การเฝ้าระวังร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า และลงพื้นที่ให้ความรู้กับนักเรียนอย่างต่อเนื่องตลอด ​“อบจ.นนทบุรี จะเป็นตัวอย่างสำหรับการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กนักเรียนแบบครบวงจรในระดับท้องถิ่น ตั้งแต่ผู้บริหารระดับนโยบายที่เห็นความสำคัญ จนนำมาสู่การกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันและทำงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง มีเป้าหมายตรงกันที่จะลดอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดเขตเมือง เนื่องจากจังหวัดนนทบุรีเป็นพื้นที่ติดกับกรุงเทพฯ ซึ่งพบการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าเช่นเดียวกัน”

 20 กันยายน 2567