“สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ" ปีหน้าเตรียมเร่งกระบวนการจัดสมัชชาฯ เร็วขึ้น เพื่อเสนอ ครม. ได้ภายในปีเดียวกัน .
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 17 และครั้งที่ 18 พ.ศ. 2567-2568 ครั้งที่ 4/2567 ซึ่งมี ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้มีมติประกาศร่างระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 จำนวน 2 ประเด็น ภายใต้ชื่อมติ “การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” และ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ”
ดร.สัมพันธ์ เปิดเผยว่า มติที่ประชุมในครั้งนี้ ได้พิจารณาชื่ออย่างเป็นทางการของระเบียบวาระทั้ง 2 ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความพร้อมที่จะดำเนินการรับรองในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยขณะนี้ทั้ง 2 ระเบียบวาระกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการพัฒนา และคาดว่าจะได้ออกมาเป็นร่างมติเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาได้ภายในช่วงเดือน ต.ค. 2567
สำหรับมติ “การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” มีกรอบทิศทางนโยบาย มุ่งให้ทุกภาคส่วนในสังคมให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวใน 5 มิติ "เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสุขภาวะ" พร้อมร่วมกันเป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยดำเนินการผ่าน 1. พัฒนาศักยภาพชุมชนในการออกแบบและมีส่วนร่วม 2. เสริมสร้างสมรรถนะชุมชน พัฒนาให้การท่องเที่ยวไทยได้รับมาตรฐานความปลอดภัยสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (SHE) 3. ยกระดับการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง 4. บูรณาการการบริหารจัดการการท่องเที่ยวระดับพื้นที่ 5. ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับข้อจำกัดของกฎหมาย นโยบายและแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน
ในส่วนของมติ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ” มีกรอบทิศทางนโยบาย มุ่งให้เกิดการพัฒนากำลังคนเพื่อสุขภาพแนวใหม่ โดยใช้ระบบสุขภาพปฐมภูมิเป็นฐานเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ มีทีมสุขภาพที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ควบคู่กับการขยายการบริการด้านสุขภาพอย่างครบวงจรเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างยังยืน และ สามารถตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน สังคมสูงวัย รวมถึงความท้ายใหม่ โดยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต พัฒนา และจัดการกำลังคน ทั้งกำลังคนวิชาชีพและไม่ใช่วิชาชีพ ให้มีศักยภาพที่เพียงพอและเหมาะสม พร้อมมีการจ้างงานที่เป็นธรรม มั่นคงและมีคุณค่า
ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม คจ.สช. ยังได้พิจารณาประกาศประเด็นที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เพื่อเป็นระเบียบวาระในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 อีกจำนวน 2 ประเด็น คือ 1. การสร้างโอกาสและมูลค่าร่วมใน silver economy และ 2. การเข้าถึงและการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างมีส่วนร่วมและสร้างสรรค์ ซึ่งในระหว่างนี้ทาง สช. ยังจะเปิดรับประเด็นอย่างต่อเนื่อง โดยหากมีประเด็นที่น่าสนใจและสามารถพัฒนาต่อได้ ก็จะทำการนําเสนอต่อ คจ.สช. เพื่อประกาศเป็นประเด็นเพิ่มเติมต่อไป
ขณะที่ นพ.สมชาย พีระปกรณ์ ประธานอนุกรรมการกำกับ สนับสนุน และเชื่อมโยงกระบวนการสมัชชาสุขภาพ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่ประชุม คจ.สช. ยังได้มีมติเห็นชอบให้ปรับระยะเวลาการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ให้เร็วขึ้นเป็นช่วงเดือน ก.ค. 2568 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนนโยบายในเชิงระบบมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อได้มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเร็วขึ้น ก็จะสามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในปี พ.ศ. เดียวกัน ทำให้สามารถส่งต่อไปยังหน่วยงานได้ทันในการทำแผนงบประมาณของปีถัดไป ซึ่งจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายได้เร็วมากขึ้น
นพ.สมชาย กล่าวว่า ดังนั้นเพื่อให้คณะอนุกรรมการกํากับฯ ชุดปัจจุบันสามารถสนับสนุนการทำงานคู่ขนานพร้อมกันไป 2 ปี โดยจัดเตรียมงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 17 และ 18 ไปพร้อมๆ กัน จึงมีการเสนอให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพิ่มเติม 3 ท่าน จาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1. น.ส.เบญจวรรณ วงศ์คํา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) 2. ผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 3. น.ส.บุณยวีร์ เอื้อศิริวรรณ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
ด้าน นายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ สช. กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2567 ที่จะจัดขึ้นภายใต้ประเด็นหลัก (theme) “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” ในวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 หรืออีกประมาณ 60 วันนับจากนี้ จะประกอบด้วยกิจกรรมสองส่วนหลัก ส่วนแรกคือการพิจารณาระเบียบวาระและแสดงถ้อยแถลงร่วมขับเคลื่อนมติสมัชชาฯ กับอีกส่วนคือ “ตลาดนัดนโยบายสาธารณะ” ที่จะเป็นการนำเสนอประเด็นนโยบายทางสังคมต่างๆ รวมถึงทำให้เกิดการหารือและแลกเปลี่ยนประเด็นที่อาจพัฒนาในสมัชชาฯ ปีถัดๆ ไปได้ด้วย
นายสมเกียรติ กล่าวว่า ภายใน “ตลาดนัดนโยบายสาธารณะ” จะประกอบไปด้วย 4 ส่วนย่อย ได้แก่ 1. Policy café พื้นที่ลักษณะลานกาแฟที่ชักชวนให้คนได้เข้ามาพูดคุยถึงประเด็นทางสังคมต่างๆ 2. Creative space พื้นที่ประกอบกิจกรรมที่จะมีการนำเสนอ สร้างการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนในประเด็นนโยบายของสังคม 3. Policy Forum พื้นที่เวทีสาธารณะที่ภาคีเครือข่ายสามารถเข้ามานำเสนอหรือจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงนโยบาย 4. Policy market พื้นที่นำเสนอนโยบายหรือผลการขับเคลื่อนนโยบายที่หน่วยงาน องค์กร ภาคีต่างๆ มีการขับเคลื่อนทั้งในระดับชาติ รวมถึงระดับพื้นที่
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ภายในสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 17 ยังจะมีกิจกรรมการปาฐกถาและเวทีเสวนาในประเด็นที่สำคัญๆ อีกมากมาย เช่น เรื่องการมีส่วนร่วมทางสังคม หรือ Social Participation ซึ่งประเทศไทยได้มีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในแกนนำที่ผลักดันจนเป็นมติสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 77 โดยจะมีตัวแทนจาก 5 ประเทศที่มีส่วนในการผลักดัน เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน นำเสนอ ตลอดจนหารือถึงแนวทางในการขับเคลื่อนมติ นอกจากนี้ยังมีภาคีมาร่วมจัดประชุมและกิจกรรมต่างๆ อาทิ เครือข่าย SDG Move ที่จะมาร่วมจัดเวทีนำเสนอแลกเปลี่ยนเรื่องของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในประเทศไทย มีการจัดประชุมวิชาการสานพลังสังคมสูงวัย เป็นต้น